รีเซต

วิหารน้ำแข็งแห่งขั้วโลกเหนือ เก็บหลักฐานโลกร้อนข้ามเวลา

วิหารน้ำแข็งแห่งขั้วโลกเหนือ เก็บหลักฐานโลกร้อนข้ามเวลา
TNN ช่อง16
16 เมษายน 2566 ( 14:17 )
115
วิหารน้ำแข็งแห่งขั้วโลกเหนือ เก็บหลักฐานโลกร้อนข้ามเวลา

มูลนิธิไอซ์เมมโมรี่ (Ice Memory Foundation) พร้อมทีมนักวิจัยและสำรวจจากสถาบันเฟรนช์โพลาร์ (French Polar Insitute) ประเทศฝรั่งเศส กำลังดำเนินโครงการขุดเจาะแท่งตัวอย่างน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือพร้อมกับสร้างโดมน้ำแข็งที่เรียกว่าไอซ์เมมโมรี่ แซงก์จูรี่ (Ice Memory Sancutry) หรือวิหารแห่งธารน้ำแข็งขึ้นมาเก็บรักษาแท่งน้ำแข็งดังกล่าวโดยไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า เพื่อรักษาชั้นน้ำแข็งที่เป็นหลักฐานการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเอาไว้ก่อนที่จะละลายหายไปจนหมดจากภาวะโลกร้อน


โครงการนี้จะขุดเจาะลึกลงไป 125 เมตร เพื่อดึงแท่งน้ำแข็งตัวอย่างที่ขุดเจาะไว้กลับขึ้นมาจำนวน 2 แท่ง บริเวณหมู่เกาะสฟาลบาร์ (Svalbard Archipelago) ส่วนหนึ่งของประเทศนอร์เวย์ที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอาร์กติก โดยจะขุดเจาะ ณ จุดที่มีความสูง 1,100 เมตร (ละติจูดที่ 79.15 องศาเหนือ) จากระดับน้ำทะเลปานกลาง 


การขุดเจาะในครั้งนี้จะขุดผ่านธารน้ำแข็งที่มีอายุเก่าแก่ในชั้นล่างซึ่งโดนทับอยู่ใต้ชั้นบนที่มีอายุใหม่กว่า โครงสร้างในลักษณะนี้สามารถย้อนไปถึง 300 ปี จากร่องรอยการทับถมของธารน้ำแข็งในแต่ละชั้น โดยจะเก็บรักษาในบริเวณโดมน้ำแข็งที่สร้างขึ้นมาใหม่ใกล้กับบริเวณขุดเจาะ ซึ่งเริ่มขุดเจาะไปเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา และคาดว่าจะใช้เวลาขุดเจาะไม่เกิน 3 สัปดาห์ 


การขุดเจาะในครั้งนี้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะว่าสภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นนั้นเพิ่มโอกาสในการละลายของธารน้ำแข็ง ซึ่งทำให้ร่องรอยของสภาพภูมิอากาศในอดีตที่อยู่ในน้ำแข็งนั้นถูกหลอมรวมไปกับทะเลอาร์กติก (Arctic Ocean) โดยรอบได้ และหลังจากที่เก็บรักษาในโดมน้ำแข็งแล้ว ทางมูลนิธิก็จะส่งมอบแท่งน้ำแข็ง 2 แท่ง ที่ได้มาให้กับสถานีคอนคอร์เดีย (Concordia station) สถานีวิจัยร่วมระหว่างประเทศฝรั่งเศสและอิตาลีภายในปี 2025 เพื่อการศึกษาวิจัยต่อไป


ที่มาข้อมูล Interesting Engineering

ที่มารูปภาพ Ice Memory Foundation 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง