รีเซต

Fed คงดอกเบี้ย 4.25-4.50% ชี้เศรษฐกิจสหรัฐยังแกร่ง พาวเวลส่งสัญญาณมีโอกาสลดในอนาคต

Fed คงดอกเบี้ย 4.25-4.50%  ชี้เศรษฐกิจสหรัฐยังแกร่ง  พาวเวลส่งสัญญาณมีโอกาสลดในอนาคต
TNN ช่อง16
8 พฤษภาคม 2568 ( 09:58 )
8
ธนาคารกลางสหรัฐคงดอกเบี้ยที่ 4.25–4.50% เจอโรม พาวเวล แถลงเศรษฐกิจยังแกร่ง แต่ยังมีความเป็นไปได้ที่จะลดดอกเบี้ย

เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมนโยบายการเงินในวันพุธ (7 พฤษภาคม 2568 ) โดยกล่าวว่า ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจ แต่เขายังมองว่าเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่ง พร้อมกับกล่าวว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยยังคงมีเป็นไปได้หากมีข้อมูลเศรษฐกิจสนับสนุน แต่เฟดไม่สามารถตัดสินใจล่วงหน้าเกี่ยวกับนโยบายการเงินได้ จนกว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจะมีความชัดเจนมากขึ้น


ส่วนผลกระทบของมาตรการภาษีศุลกากรนั้น พาวเวลกล่าวว่า


"เรายังไม่เห็นข้อมูลที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง"


"เมื่อเรามองดูสภาพแวดล้อม ก็พบว่ามีความวิตกกังวลว่าภาวะเงินเฟ้อสูงอาจจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ ดังนั้นประชาชนจึงมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อในขณะนี้ พวกเขามีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากมาตรการภาษีศุลกากร แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผลกระทบนั้นยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง"



พาวเวลกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า นโยบายชุดใหม่ทั้งหมดของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ยังคงมีการพัฒนา และผลกระทบต่อเศรษฐกิจยังคงไม่แน่นอนอย่างมาก หากการปรับขึ้นภาษีศุลกากรในอัตราสูงที่ได้ประกาศไว้นั้น ยังคงมีผลบังคับใช้ ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง และทำให้การว่างงานปรับตัวสูงขึ้นด้วย  ขณะที่ผลกระทบต่อเงินเฟ้อที่อาจเกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ นั้น เป็นการสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาที่เกิดขึ้นในครั้งเดียว แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเป็นไปได้ว่าผลกระทบต่อเงินเฟ้ออาจจะเกิดขึ้นเป็นเวลาที่ยาวนานขึ้น 


ทั้งนี้ พาวเวลเชื่อว่าเฟดอยู่ใน "สถานะที่ดี" ที่จะรอดูว่าความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เกิดจากมาตรการภาษีศุลกากรของรัฐบาลทรัมป์จะเป็นไปเช่นไร


นอกจากนี้ พาวเวลกล่าวว่าเขาไม่เคยถูกเชิญให้เข้าพบประธานาธิบดีทรัมป์หรือประธานาธิบดีคนอื่น ๆ ของสหรัฐ และตัวเขาเองก็ไม่มีเหตุผลที่จะเข้าพบผู้นำประเทศเช่นกัน พร้อมกับกล่าวว่าการที่ประธานาธิบดีทรัมป์เรียกร้องให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่องานหรือแนวทางของคณะกรรมการเฟดแต่อย่างใด


ส่วนในเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยนั้น พาวเวลปฏิเสธแนวคิดเรื่องการวางแผนไว้ล่วงหน้าเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมาย โดยเขาคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้นอีกในระยะเวลาอันใกล้นี้

แถลงการณ์ประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ เดือนพฤษภาคม 2568 คงดอกเบี้ย 4.25-4.50%


ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ซึ่งเสร็จสิ้นลงในวันพุธที่ 7 พ.ค. ตามเวลาสหรัฐฯ โดยระบุว่า ข้อมูลที่เฟดได้รับเมื่อไม่นานมานี้บ่งชี้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงขยายตัวในอัตราที่แข็งแกร่ง แม้ว่าความผันผวนของยอดส่งออกสุทธิได้ส่งผลกระทบต่อข้อมูลก็ตาม ขณะที่อัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และภาวะตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง


คณะกรรมการ FOMC พยายามหาแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ในระยะยาว ส่วนความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคณะกรรมการยังคงให้ความสนใจกับความเสี่ยงที่จะมีต่อ Dual Mandate ของเฟด คือการจ้างงานที่ขยายตัวอย่างเต็มศักยภาพและอัตราเงินเฟ้อที่เคลื่อนตัวสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% โดยคณะกรรมการประเมินว่ามีความเสี่ยงมากขึ้นที่อัตราว่างงานและเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้น


ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว คณะกรรมการฯ ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระดับ 4.25-4.50% ส่วนในการพิจารณาเรื่องการปรับช่วงเป้าหมายของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเพิ่มเติมนั้น คณะกรรมการจะใช้ความระมัดระวังในการประเมินข้อมูลเศรษฐกิจที่จะได้รับในวันข้างหน้า รวมทั้งแนวโน้มของพัฒนาการทางเศรษฐกิจ และสมดุลของความเสี่ยง นอกจากนี้ คณะกรรมการจะยังคงปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS)



ส่วนในการประเมินแนวทางที่เหมาะสมของนโยบายการเงินนั้น คณะกรรมการฯ จะยังคงจับตาข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะได้รับในวันข้างหน้า ขณะเดียวกันคณะกรรมการฯ จะเตรียมความพร้อมเพื่อปรับแนวทางนโยบายการเงินตามความเหมาะสม หากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เฟดไม่สามารถบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ของคณะกรรมการฯ โดยคณะกรรมการฯ จะประเมินข้อมูลในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับภาวะตลาดแรงงาน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการคาดการณ์เงินเฟ้อ รวมถึงการพิจารณาสถานการณ์ทางการเงิน และสถานการณ์ในต่างประเทศ


สำหรับกรรมการเฟดผู้ที่ออกเสียงสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินของ FOMC ในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ เจอโรม เอช พาวเวล ประธานเฟด, จอห์น ซี วิลเลียมส์ รองประธานเฟด,ไมเคิล เอส บาร์, มิเชล ดับเบิลยู โบว์แมน, ซูซาน เอ็ม คอลลินส์, ลิซา ดี คุก, ออสติน ดี กูลส์บี, ฟิลิป เอ็น เจฟเฟอร์สัน, เอเดรียนา ดี คุกเลอร์, อัลเบอร์โต จี มูซาเลม และคริสโตเฟอร์ เจ วอลเลอร์ ส่วนนีล แคชคารีได้ร่วมลงคะแนนเสียงในฐานะสมาชิกสำรองในการประชุมครั้งนี้

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง