รีเซต

เก่งเกิ้น ! AI เปลี่ยนคลื่นสมองให้เป็นบทเพลง

เก่งเกิ้น ! AI เปลี่ยนคลื่นสมองให้เป็นบทเพลง
TNN ช่อง16
16 สิงหาคม 2566 ( 23:40 )
84
เก่งเกิ้น ! AI เปลี่ยนคลื่นสมองให้เป็นบทเพลง

โชว์ความเก่งออกมาไม่รู้จบ สำหรับเทคโนโลยีอัจฉริยะอย่างปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) โดยเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กูเกิล (Google) ได้เปิดตัวเอไอสำหรับสร้างเสียงดนตรีจากข้อความที่ชื่อว่ามิวสิคแอลเอ็ม (MusicLM) แต่ดูเหมือนว่าเอไอตัวนี้จะสามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น


การทดลองหาค่าคลื่นสมองของอาสาสมัครขณะฟังเพลง 

โดยกูเกิลได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโอซาก้า (Osaka University) ประเทศญี่ปุ่น ทดลองให้อาสาสมัคร 5 คน ฟัง 500 แทร็กจาก 10 สไตล์ดนตรีที่แตกต่างกัน แล้วทำการสแกนคลื่นสมองของพวกเขาขณะฟังเพลงด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (fMRI) ที่วัดอัตราการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย ซึ่งมีความสัมผัสกับการทำงานของสมอง หลังจากนั้นจึงนำอัตราการไหลเวียนของเลือดมาแปลงเป็นค่าของคลื่นสมอง แล้วป้อนค่าของคลื่นสมองที่ได้ให้กับเอไอมิวสิคแอลเอ็ม เพื่อให้เอไอแปลงค่าของคลื่นสมองออกมาอยู่ในรูปแบบของบทเพลง


ความน่าสนใจคือ บทเพลงที่ได้จากเอไอมิวสิคแอลเอ็ม คล้ายคลึงกับเพลงที่เปิดให้อาสาสมัครทั้ง 5 คน ในตอนนั้น ทั้งแนวเพลง, การบรรเลงและอารมณ์


นี่อาจเป็นเพราะความจริงที่ว่า บริเวณสมองที่รับผิดชอบในการประมวลผลข้อมูลที่ได้รับจากข้อความและเพลงนั้นซ้อนทับกัน คลื่นสมองที่ออกมา แล้วเอไอมิวสิคแอลเอ็มนำไปประมวลเป็นบทเพลงจึงมีความคล้ายคลึงกัน

ความซับซ้อนของสมองยังต้องการเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมากกว่านี้ 

นักวิจัยระบุว่าการใส่คลื่นสมองที่ได้จากการสแกนเข้าไปในโปรแกรม ส่งผลให้พวกเขาสามารถทำนายและสร้างประเภทของดนตรีที่คล้ายกับบทเพลงที่มนุษย์ฟังในขณะนั้นได้ หากในอนาคตมีเทคโนโลยีที่สามารถตรวจจับการทำงานอันซับซ้อนของสมองมนุษย์ได้แม่นยำมากกว่านี้ เอไอก็อาจสามารถทำนายและสร้างประเภทของดนตรีที่มนุษย์ฟังได้แม่นยำขึ้น


ข้อจำกัดของการหาค่าคลื่นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าก็คือระยะเวลา เนื่องจากอาสาสมัครจะต้องอยู่ในเครื่องสแกนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นเวลาหลายชั่วโมง และการศึกษาจะต้องได้รับการยินยอมจากบุคคลที่เป็นอาสาสมัครก่อน


อย่างไรก็ตาม เอไอ ไม่สามารถสร้างบทเพลงที่มนุษย์คิดขึ้นในหัวออกมาได้ เนื่องจากการทำงานของคลื่นสมองแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน แต่ก็ถือเป็นความท้าทายที่ทีมนักวิจัยจะดำเนินการศึกษาต่อไปในอนาคต


ข้อมูลจาก Github

ภาพจาก MIT

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง