รีเซต

ยานสำรวจหุ่นยนต์ใต้น้ำ ศึกษาผลกระทบท่อแก๊ส Nord Stream รั่วไหล

ยานสำรวจหุ่นยนต์ใต้น้ำ ศึกษาผลกระทบท่อแก๊ส Nord Stream รั่วไหล
TNN ช่อง16
18 ตุลาคม 2565 ( 18:00 )
70

มีการปล่อยหุ่นยนต์ใต้น้ำลงบริเวณรอยรั่วของท่อก๊าซ นอร์ด สตรีม (Nord Stream) ในทะเลบอลติก เพื่อศึกษาว่า สภาวะทางเคมี และสัตว์ต่าง ๆ ในทะเลมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร หลังจากเกิดเหตุรอยรั่วจนมีก๊าซมีเทนจำนวนมากรั่วไหล โดยมีการคำนวณคร่าว ๆ ว่า มีก๊าซมีเทนประมาน 56,000-155,000 ตันถูกปล่อยออกมาในบรรยากาศจากเหตุการณ์รั่วไหลครั้งนี้ นับว่าเป็นการปลดปล่อยก๊าซมีเทนในจุดเดียวเป็นปริมาณมากที่สุดในโลก 


มูลนิธิวอยซ์ออฟดิโอเชียน (Voice of the Ocean) เป็นผู้สร้างยานซึ่งถูกบังคับโดยรีโมตคอนโทรลเหล่านี้  และจะส่งภาพไปยังเรือสำรวจ Skagerak เรือที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์บัญชาการ จากนั้นก็จะเคลื่อนที่ไปสำรวจทะเลรอบ ๆ และจดบันทึกข้อมูลสภาพน้ำอย่างต่อเนื่องไปอีกเป็นเวลาเกือบ 4 เดือน

บาสเตียน เควสต์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล จากมหาวิทยาลัย โกเธนเบิร์ก (Gothenburg) เผยว่า หุ่นยนต์ยานสำรวจเหล่านี้มีชื่อว่า ไกลเดอรส์ (Gliders) และมีมูลนิธิวอยซ์ออฟดิโอเชียน เป็นผู้ควบคุมโครงการ หุ่นยนต์นี้จะช่วยวัดสภาวะทางเคมี และคุณภาพน้ำทะเลรอบ ๆ ว่าได้รับผลกระทบจากก๊าซรั่วอย่างไรบ้าง 

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หุ่นยนต์ได้ส่งข้อมูลสำคัญและถ่ายภาพสถานการณ์ปัจจุบันของทะเลในทันทีหลังจากเกิดเหตุรั่วไหล และทำหน้าที่รายงานมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน


ทั้งนี้ ยานสำรวจหุ่นยนต์ 2 ตัว ถูกส่งไปน่านน้ำอื่น ๆ มาก่อนหน้านี้ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2021 เพื่อวัดคุณภาพน้ำ โดยมันจะลงไปยังพื้นทะเล แล้วกลับขึ้นมาบนผิว เพื่อส่งข้อมูลไปยังนักวิจัยผ่านดาวเทียม อย่างไรก็ตาม ยานสำรวจหุ่นยนต์ 1 ตัวพึ่งถูกสร้าง และส่งลงไปในทะเลเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีการติดตั้งเซนเซอร์พิเศษเพื่อวัดความเปลี่ยนแปลงของก๊าซมีเทน และเครื่องวัดค่าสารละลายของมีเทน และตัววัดอุณหภูมิ การกักเก็บออกซิเจน และจำนวนคลอโรฟิลล์ ในหุ่นตัวนี้ด้วย 


“เป้าหมายคือ การลงไปวัดข้อมูลในน้ำเป็นช่วงเวลานาน ในพื้นที่ขนาดใหญ่ เราจะเห็นได้ว่าต้องใช้เวลาเท่าไรเพื่อให้ก๊าซมีเทนหายไป และพบว่าระบบนิเวศเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงอย่างไรในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ” เควสต์บรรยาย

จากนั้นข้อมูลเหล่านี้ก็จะทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์เห็นภาพว่า พื้นที่ทะเลบอลติกบริเวณนั้น ๆ เปลี่ยนแปลงอย่างไรจากเหตุแก๊สรัว 


“ด้วยยานสำรวจหุ่นยนต์ตัวใหม่ และการลงไปเก็บข้อมูล นักวิจัยจะมีเอกสารข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ว่า กรณีก๊าซรั่วจะส่งผลอย่างไรบ้าง เมื่อนำเอาทุกอย่างมาประมวล เราก็จะเห็นผลกระทบฉับพลัน และเห็นผลกระทบในระยะยาวอีกด้วย ด้วยยานไกลเดอร์ที่ลงไปชี้วัดอย่างต่อเนื่องนี้ เราก็จะเข้าใจกระบวนการและผลกระทบได้มากขึ้น” เควสต์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล กล่าวสรุป


สัปดาห์ก่อนหน้านี้ กองทัพเรือสหรัฐฯ เผยว่า จะใช้สัญญาณคลื่นโซนาร์จากกองทัพสวีเดนและเดนมาร์ค เพื่อตรวจสอบว่ามีอะไรเกิดขึ้นในการโจมตีท่อนอร์ด สตรีม กระบวนการนี้จะทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่ามีอะไรเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ท่อก๊าซเสียหาย และเหตุการณ์ท่อก๊าซรั่วเกิดจากอะไรต่อไป 


ที่มาของข้อมูล interestingengineering.com

ที่มาของรูปภาพ Gothenburg University

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง