รีเซต

เจาะขอบสนาม ! มหกรรมกีฬาฟุตบอลโลก 2022 การแข่งขันที่อัดแน่นด้วยเทคโนโลยี

เจาะขอบสนาม ! มหกรรมกีฬาฟุตบอลโลก 2022 การแข่งขันที่อัดแน่นด้วยเทคโนโลยี
TNN ช่อง16
30 พฤศจิกายน 2565 ( 16:04 )
113
เจาะขอบสนาม ! มหกรรมกีฬาฟุตบอลโลก 2022 การแข่งขันที่อัดแน่นด้วยเทคโนโลยี

ในที่สุด ฟุตบอลโลก มหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติแห่งปี 2022  ก็เริ่มปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผู้คนนับล้านเฝ้าติดตามผลการแข่งขันแทบจะวินาทีต่อวินาที ขณะที่ความเข้มข้นของเกมกีฬาฟุตบอลโลก เบื้องหลังคือการทุ่มเททรัพยากรอย่างหนักของประเทศเจ้าภาพ เช่น กาตาร์ ทั้งด้านงบประมาณ และทรัพยากรบุคคลในประเทศ อีกทั้งมหกรรมกีฬาครั้งนี้ ยังประกอบไปด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ขนมาเต็มสรรพกำลัง เพื่อให้เกมกีฬาครั้งนี้เป็นไปด้วยความสมบูรณ์แบบ 


TNN Tech จึงขอแนะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่นำมาบรรจุไว้ในฟุตบอลโลกครั้งนี้ เพื่อเผยให้เห็นถึงอีกแง่มุมเบื้องหลังของกีฬาฟุตบอลโลก ที่ไม่ใช่เพียงแค่กีฬา แต่แทบทุกครั้งที่ผ่านมา ยังเป็นเหมือนงานอีเวนต์แสดงความรุ่มรวยในด้านเทคโนโลยีของมนุษยชาติอีกด้วย 


เทคโนโลยีช่วยตัดสินในเกมฟุตบอล


ก่อนนี้ หลังจากประสบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยี VAR ในฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย FIFA ได้ประกาศว่าเทคโนโลยีการจับล้ำหน้าแบบกึ่งอัตโนมัติจะถูกนำมาใช้ที่ FIFA World Cup 2022 ในกาตาร์ โดยประธานฟีฟ่า จานนี อินฟานติโน (Gianni Infantino) ได้ประกาศใน The Vision 2020-23 ว่า FIFA จะพยายามใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีในฟุตบอลอย่างเต็มที่และปรับปรุง VAR ให้ดียิ่งขึ้น 


สำหรับเทคโนโลยีช่วยตัดสิน ประกอบไปด้วย 


  • - ระบบแจ้งเตือนการล้ำหน้าอัตโนมัติแก่ทีมเจ้าหน้าที่ควบคุมการแข่งขันในห้องวิดีโอ VAR
  • - ระบบแอนิเมชัน 3D ช่วยปรับปรุงการสื่อสารไปยังแฟน ๆ ในสนามกีฬาและผู้ชมโทรทัศน์ 
  • - ลูกฟุตบอล อัล ริห์ลา (Al Rihla)


สำหรับหนึ่งในเทคโนโลยีใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในฟุตบอลโลกครั้งนี้ ก็คือ ลูกฟุตบอล อัล ริห์ลา (Al Rihla)  ที่ผลิตโดยอดิดาส (Adidas) ความโดดเด่นของลูกบอลดังกล่าวอยู่ที่ความสามารถจากเทคโนโลยีเซนเซอร์วัดแรงเฉื่อย (IMU) ที่อยู่ตรงกลางภายในลูกฟุตบอล ซึ่งวัดแรงที่มากระทบได้ในอัตราความถี่ 500 ครั้งต่อวินาที (500 IMU) ด้วยความเร็วนี้ ทำให้ลูกบอลสามารถวัดจังหวะล้ำหน้า และเป็นตัวช่วยให้ห้องควบคุม VAR ตรวจสอบจังหวะฟาวล์ หรือแม้แต่ตรวจสอบได้ว่าใครเป็นผู้ทำประตู


โดยล่าสุด อัล ริห์ลา สร้างชื่อโดยการวัดจังหวะก้ำกึ่งที่ บรูโน แฟร์นันด์ส (Bruno Fernandes) ห้องเครื่องกองกลางตัวเก๋าจากโปรตุเกส เตะลูกบอลกระทบพื้นแล้วพุ่งเข้าประตู แต่ระหว่างนั้น ‘CR7’ คริสเตียโน โรนัลโด (Cristiano Ronaldo) อดีตเพื่อนร่วมทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และรุ่นพี่จากทีมชาติโปรตุเกส กระโดดใช้หัวโหม่งลูกบอล ซึ่งมองในมุมกล้องคลับคล้ายว่า โรนัลโด เป็นผู้โขกส่งฟุตบอลเข้าไปตุงตาข่าย แต่หลังจากห้อง VAR ตรวจสอบเซนเซอร์ของ อัลห์ ริห์ลา พบว่าจังหวะที่โรนัลโด กระโดดนั้น ไม่ได้มีแรงกระทำต่อลูกบอลแต่อย่างใด หมายความว่าจังหวะทำประตูลูกนี้เป็นเครดิตของบรูโน แฟร์นันดส์นั่นเอง 


ขณะที่กล้องที่ติดตั้งบริเวณใต้หลังคาในทุก ๆ สนามยังช่วยจับการเคลื่อนไหวของนักฟุตบอล โดยมีระบบโมชันเซนเซอร์ จับจุดเคลื่อนไหว 29 จุดในร่างกายของนักฟุตบอลทุกคนด้วยความถี่ 50 ครั้งต่อวินาที ทำให้การตัดสินใจในห้อง VAR เพื่อตรวจจับล้ำหน้าและจุดโทษง่ายขึ้น โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาถ่ายทอดเป็นภาพเคลื่อนไหว 3 มิติ ที่จะทำให้เห็นส่วนประกอบเสมือนจริงของแขนขาที่ผู้เล่นถูกตรวจจับได้ กระบวนการทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในไม่กี่วินาที และหมายความว่าการตัดสินใจล้ำหน้าจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมีความแม่นยำสูง


ระบบทำความเย็นในสนามแข่ง 


การแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน – 18 ธันวาคม เป็นครั้งแรกที่ตารางปฏิทินการแข่งขันฟุตบอลโลกถูกเลื่อนมาอยู่ช่วงปลายปี เพื่อหลีกเลี่ยงสภาพภูมิอากาศที่มีความร้อนค่อนข้างสูงของประเทศกาตาร์ ถึงแม้ช่วงเวลาดังกล่าวจะมีอุณหภูมิความร้อนน้อยที่สุดของปีก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอ จึงมีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่นสนามฟุตบอลติดแอร์ขึ้นมา


ระบบนี้ถูกออกแบบโดย ซาอูด อับดุลลาซิส อับดุล กาห์นี (Saud Albdullaziz Abdul Ghani) นักวิจัยจากกาตาร์ ผู้มีฉายาว่า 'Dr. Cool' โดยเขาออกแบบให้มีการดูดอากาศผ่านท่อไปปรับความเย็น กรองแล้วดูดกลับเข้าไปในสนามใหม่ ทำให้สนามฟุตบอลแต่ละที่กลายเป็นเหมือนโอเอซิส พร้อมกับมีระบบเซนเซอร์ตรวจจับความร้อน ทำให้อุณหภูมิแต่ละพื้นที่เย็นทั่วถึงกันที่ประมาณ 17 - 23 องศาเซลเซียส ซึ่งทางผู้สร้างยังเคลมว่า ระบบนี้ประหยัดพลังงานกว่า 40 % เมื่อเทียบกับเทคนิคการทำความเย็นทั่วไปอีกด้วย


ระบบติดตามเฝ้าระวังความปลอดภัย 


ระบบ Aspire Control and Command Centre ของกาตาร์ ทำหน้าที่เป็นศูนย์ควบคุมและสั่งการ เพื่อคอยเฝ้าตรวจสอบสนามกีฬาทั้งหมดพร้อมกัน เพื่อจับตาดูผู้เข้าชมที่คาดว่าจะมีมากกว่าหนึ่งล้านคนตั้งแต่วินาทีที่ลงจากเครื่องบินจนถึงเดินทางกลับบ้าน ทั้งทำให้มั่นใจในความปลอดภัยด้วยกล้องทั้งหมด 15,000 ตัว เพื่อส่งข้อมูลไปยังศูนย์ Aspire เพื่อป้องกันการโจมตีของผู้ก่อการร้าย


นอกจากว่า ศูนย์ควบคุม  จะได้รับข้อมูลฟีดภาพจากกล้องนับหมื่นตัวแล้ว กาตาร์ยังใช้เทคโนโลยีกล้องจดจำใบหน้า (Face Recognition) เข้ามาช่วยตรวจสอบผู้คนที่เข้ามาชมการแข่งขัน เพื่อเสริมมาตรการความปลอดภัยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีนี้ยังมีข้อกังขาไม่น้อยถึงความเป็นส่วนตัวของผู้เข้าชมที่มาจากหลากหลายประเทศ


นอกเหนือจากนั้น ระบบอัลกอริทึมจะถูกใช้เพื่อป้องกันการเบียดเสียดจนเกิดเหตุโศกนาฏกรรม เหมือนดังเช่นในสนามฟุตบอลที่อินโดนีเซีย ที่เกิดเหตุเหยียบกันตายกว่า 130 ศพ โดย Aspire Control and Command Centre จะทำหน้าที่คำนวณผู้คนในแต่ละจุดของสนาม โดยกระจายผู้คนไปตามจุดต่าง ๆ นับตั้งแต่จุดจำหน่ายตั๋วเข้าชมการแข่งขัน และประตูทางเข้าสนาม เพื่อหลีกเลี่ยงการซ้ำรอยอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นหลายครั้งในสนามฟุตบอลที่จุผู้คนได้หลายหมื่นคนเช่นนี้


ระบบ FIFA PLAYER APP 


แอปพลิเคชันนี้ถูกพัฒนาโดยสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ร่วมกับสหภาพนักฟุตบอลอาชีพนานาชาติ หรือ FIFPRO (Federation Internationale des Associations de Footballeurs Professional) ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลนักฟุตบอลทั่วโลก ร่วมกันสร้างแอปนี้ขึ้นมา โดยแอปนี้จะเผยข้อมูลสถิติ และวิเคราะห์ข้อมูลให้กับผู้เล่นรายบุคคล เช่น ความเร็วในการเคลื่อนที่ของนักเตะที่มากเกินกว่า 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่วยให้แต่ละทีมสามารถจัดการจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเองได้ง่ายดายมากขึ้นด้วยอุปกรณ์พกพาต่าง ๆ 


ระบบช่วยเหลือผู้พิการ 


ฟีฟ่าได้สั่งซื้ออุปกรณ์ที่ชื่อว่า โบโนเคิล (Bonocle) และ ฟีลิกซ์ (Feelix) มาใช้งาน โดยบริษัท โบโนเคิล ซึ่งถูกก่อตั้งในกาตาร์ ด้วยจุดประสงค์เพื่อเป็นแพลตฟอร์มความบันเทิงอักษรเบรลล์แห่งแรกของโลก ด้วยการใช้แอปพลิเคชันที่พัฒนาและปรับให้เหมาะสมเพื่อให้สามารถทำงาน เรียนรู้ หรือเล่น ผ่านเสียงตอบรับที่สัมผัสได้ เช่น อักษรเบรลล์ ระบบสัมผัส และตัวอ่านเสียงแบบ Screen Reader/Voice Over และโต้ตอบกับแอปพลิเคชันผ่านปุ่ม การเคลื่อนไหว และเสียงพูด ด้วยการแปลงรหัสและเทคโนโลยีบลูทูธ ทำให้บุคคลที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นสามารถสัมผัสกับความตื่นเต้นของการแข่งขันฟุตบอลโลกได้เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ


ขณะที่ Feelix Palm เป็นอุปกรณ์สื่อสารด้วยฝ่ามือที่มีคุณสมบัติด้วยการใช้แรงกระตุ้นไฟฟ้า (Tactile Features) ซึ่ง Feelix Palm นำเสนอข้อความคล้ายอักษรเบรลล์ให้กับผู้พิการทางสายตาโดยไม่จำกัดการเคลื่อนไหวร่างกายหรือการได้ยิน เทคโนโลยีนี้ช่วยให้ผู้คนสามารถรับข้อมูลโดยไม่จำเป็นต้องเห็นหรือได้ยินข้อมูลไปพร้อม ๆ กันผ่านการสื่อสารข้อมูลด้วยลวดลายสัมผัสด้วยไฟฟ้าไปยังฝ่ามือ จึงเป็นครั้งแรกที่ผู้ที่มีความบกพร่องทางสายตาได้ดื่มด่ำไปกับบรรยากาศการแข่งขันของฟุตบอลโลก โดยมีเทคโนโลยีช่วยลดช่องว่างที่เกิดขึ้น


และสุดท้าย ระบบคำนวณผู้ชนะ 


โดยระบบคำนวณผู้ชนะ เกิดจากการคำนวณโดยอัลกอริทึม ของสถาบันอลัน ทูริง (Alan Turing Institute) จากสหราชอาณาจักร โดยผู้วิจัยจะป้อนเอาข้อมูลสถิติต่าง ๆ จากเว็บไซต์ กิตฮับ (GitHub) ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมสถิติและโค้ดโปรแกรมต่าง ๆ ที่โปรแกรมเมอร์ทั่วโลกนิยมใช้ โดยข้อมูลประกอบไปด้วยสถิติของตัวนักเตะ สถิติการแข่งขันฟุตบอลทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 1872 เป็นต้นมา และความน่าจะเป็นต่าง ๆ เข้ามาคำนวณ ในที่สุดหลังจากการคำนวณกว่า 100,000 ครั้ง ผลสุดท้ายปรากฏว่า ทีมที่มีความน่าจะเป็นว่าจะได้คว้าชัยไปครองก็คือบราซิล ซึ่งมีโอกาสคว้าชัยอยู่ที่ราว 25% ขณะที่เบลเยียมได้อันดับที่ 2 จากการคำนวณที่ 18% และสุดท้ายตามมาที่อันดับ 3 คืออาร์เจนตินา ซึ่งมีโอกาสคว้าชัยราว 15%


สำหรับเทคโนโลยีทั้งหมดทั้งมวลนี้ ถูกนำมาใช้เพื่อความสะดวกสบายของผู้คน อีกทั้งยังทำหน้าที่ช่วยเหลือด้านความยุติธรรม เช่นการจับล้ำหน้าได้อย่างยอดเยี่ยม หรือแม้แต่ช่วยเรียกจุดโทษให้กับทีมชาติอาร์เจนตินาจากจังหวะฟาวล์ที่ไม่มีใครสังเกต ทำให้ทีมชาติฟ้าขาวจากอเมริกาใต้ไม่ต้องเสียประโยชน์ จึงเห็นได้ว่า “ลูกตุกติก และลูกคาใจ” ที่เคยเป็นดราม่าในฟุตบอลโลกหลาย ๆ  ครั้งที่ผ่านมา ไม่ได้แผลงฤทธิ์ในฟุตบอลโลกครั้งนี้ ด้วยประสิทธิภาพของเทคโนโลยีต่าง ๆ นั่นเอง 


แม้ฟุตบอลโลกครั้งนี้ จะผ่านเสียงครหา และคำวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ นานามากมาย แต่กีฬาย่อมเป็นกีฬา หากชาติไหนฝ่าฟันไปถึงตำแหน่งแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งนี้ ที่ได้ชื่อว่ามีเทคโนโลยีในการช่วยตัดสินที่ค่อนข้างโดดเด่นมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ก็จะถูกจารึกไว้ว่าเป็นทีมที่ชนะไปได้อย่างใสสะอาด คู่ควรกับตำแหน่งแชมป์ฟุตบอลโลก 2022 สุดยอดมหกรรมกีฬาที่ทั่วโลกรอคอยโดยแน่แท้


ที่มาของข้อมูล

washingtonpost.com,

yourstory.com

sporttechie.com


ที่มาของรูปภาพ Reuters

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง