“จุลพันธ์”ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดน 2 เท่าภายใน 3 ปี
“จุลพันธ์”ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดน 2 เท่าภายใน 3 ปี ผ่านการเปิดศูนย์บริการค้าชายแดนเบ็ดเสร็จจุดเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้แก่ภาคเอกชน ล่าสุดศุลกากรเปิดศูนย์บริการค้าชายแดนเบ็ดเสร็จจุดเดียวจุดแรกแล้วที่จ.หนองคาย
#ทันหุ้น นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังระบุ ภายใน 3 ปีนับจากนี้ กระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากรจะเร่งพัฒนาการอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างประเทศผ่านพรมแดนให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของปริมาณการค้าระหว่างประเทศผ่ายพรมแดนในปัจจุบันทึ่มีมูลค่าราว 1.8 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ เขากล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดศูนย์บริการค้าชายแดนเบ็ดเสร็จจุดเดียว
(One Stop Service : OSS)ที่จังหวัดหนองคายช่วงบ่ายวันนี้(25 ต.ค.)
เขากล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า หรือ Ease of doing business ซึ่งกรมศุลกากรซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการตรวจปล่อยสินค้าที่จะเพิ่มความสะดวกต่อการตรวจปล่อยสินค้าในจุดเดียว ซึ่งความร่วมมือนี้ จะทำให้ปริมาณการค้าชายแดนเพิ่มสูงขึ้น
“เราตั้งเป้าภายใน 3 ปี จะทำให้ปริมาณการค้าชายแดนเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว ผ่านการอำนวยความสะดวกทางการค้า ขณะเดียวกัน เรายังมีแผนที่จะทำข้อตกลงการค้าหรือ FTA กับกลุ่มประเทศในอียู ซึ่งจะเป็นตลาดใหม่ของการส่งออกสินค้าไทย แน่นอนว่า การทำ FTA จะกระทบเป้าจัดเก็บของกรมศุลกากร แต่ปริมาณการค้าระหว่างประเทศจะเพิ่มมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจและการจัดเก็บภาษีในภาพรวมดีขึ้น”
เขาย้ำว่า แผนของรัฐบาล คือ การเป็นพาร์ทเนอร์กับประชาชนและภาคเอกชน เพราะประชาชนและภาคเอกชนคือผู้เสียภาษีให้กับภาครัฐ เมื่อปริมาณการค้าเพิ่ม ก็ทำให้ภาครัฐเก็บภาษีได้มากขึ้น
ด้านนายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากรกล่าวว่า สำหรับศูนย์บริการค้าชายแดนเบ็ดเสร็จจุดเดียว(One Stop Service : OSS) จังหวัดหนองคายนั้น จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 พฤษภาคม2567 ที่ประชุมเห็นชอบให้กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรมกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งวางแผนและดำเนินการเร่งรัดกำกับติดตามการดำเนินการต่าง ๆ ในภาพรวม เพื่อให้การจัดตั้งศูนย์บริการค้าชายแดนเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) ณ สำนักงานศุลกากรหนองคายแล้วเสร็จโดยเร็วเป็นแห่งแรก
กรมศุลกากรในฐานะที่เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังและเป็นหน่วยงานหลักซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าในพื้นที่ด่านชายแดน ได้เร่งดำเนินการเพื่อก่อตั้งศูนย์บริการค้าชายแดนเบ็ดเสร็จจุดเดียว จังหวัดหนองคาย (Nong Khai Border Trade One Stop Service : NKBTOSS) แห่งนี้จนสำเร็จโดยบูรณาการร่วมกับ 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานศุลกากรหนองคาย สำนักงานพาณิชย์จังหวัดหนองคาย สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดหนองคาย สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่หนองคาย ด่านตรวจพืชหนองคาย ด่านกักสัตว์หนองคาย ศูนย์บริหารจัดการด่านตรวจประมงเขต 2 และด่านอาหารและยาหนองคาย
สำหรับการปรับปรุงแพลตฟอร์มกลางการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (Thailand National Single Window : Thai NSW) กรมศุลกากรดำเนินการนำร่องในกลุ่มสินค้าพืชเกษตรจำนวน 673 พิกัดรายการสินค้า โดยเปิดให้บริการยื่นคำขอเพื่อขอรับใบอนุญาต ใบรับรองประกอบการนำเข้าสินค้าพืชเกษตร ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2567 ซึ่งรองรับการขอรับใบอนุญาต ใบรับรองสินค้าเกษตร ที่มีการควบคุมร่วมกันระหว่างกรมวิชาการเกษตร และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจำนวน 415 รายการพิกัดสินค้า
โดยผู้นำเข้าสินค้าสามารถยื่นคำขอและส่งข้อมูลเพียงครั้งเดียว และเพื่อสนับสนุนการทำงานของศูนย์OSS กรมศุลกากรจึงได้พัฒนาระบบ Thailand Trade Journey ขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจด้านการนำเข้า - ส่งออก โดยอำนวยความสะดวกในด้านข้อมูลที่สำคัญรวมถึงช่องทางการติดต่อกับระบบสารสนเทศ ของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถขอใบอนุญาตหรือใบรับรองผ่านระบบได้โดยตรง พร้อมเข้าถึงข้อมูล ขั้นตอน กฎหมาย และสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรอย่างครบถ้วนซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการที่เริ่มทำธุรกิจใหม่ ๆ ได้ทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน ทั้งระเบียบ กฎหมาย
การขออนุญาตการนำเข้า - ส่งออก ต่าง ๆ ซึ่งในการส่งออกได้นำร่องสินค้าประเภทผลไม้ จำนวน 22 ชนิด ของหน่วยงาน กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และกรมการค้าต่างประเทศ และการนำเข้าได้นำร่องสินค้าประเภท ผัก ผลไม้ วัตถุอันตราย ปุ๋ย เครื่องสำอางเครื่องมือแพทย์ จำนวน 20 รายการ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
นอกจากนี้เพื่อลดภาระการบันทึกข้อมูลที่ซ้ำซ้อน และสามารถส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ในครั้งเดียว จึงได้มีการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบ Single Submission โดยดำเนินการนำร่องกับ
การนำเข้าสินค้าพืชเกษตรที่มีการควบคุมมากกว่าหนึ่งหน่วยงาน เช่น สินค้าพืชที่เป็นวัตถุดิบ อาหารสัตว์ส้มแมนดาริน มันสำปะหลัง กระเทียม ลิ้นจี่ ทุเรียนแช่แข็ง ลำไย เกี่ยวข้องกับ 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมการค้าต่างประเทศ และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยจะช่วยลดระยะเวลาในการกรอกข้อมูลลงได้มากที่สุดถึง 60% อันเป็นการขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนที่เป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ