รีเซต

จับสัญญาณโหวตนายกฯ รอบ 2 8 พรรคยังหนุน “พิธา” หรือไม่?

จับสัญญาณโหวตนายกฯ รอบ 2 8 พรรคยังหนุน “พิธา” หรือไม่?
TNN ช่อง16
15 กรกฎาคม 2566 ( 12:35 )
131


ยังคงมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ภายหลังการประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา  นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์  หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยได้คะแนนเสียงสนับสนุน 324 เสียง ซึ่งไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ส่งผลให้ “พิธา”  ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน แต่ก็ชัดเจนว่า ส.ส.ในซีก 8 พรรคที่จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลไม่แตกแถว โหวตสนับสนุนหัวหน้าพรรคก้าวไกลอย่างพร้อมเพรียง 311 เสียง แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอที่จะส่ง “พิธา” สู่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลได้สำเร็จ ขณะที่เจ้าตัวเองก็ประกาศ “ยอมรับแต่ไม่ยอมแพ้” และจะเดินหน้ารวบรวมเสียงสมาชิกวุฒิสภารอบใหม่ 





 แต่คล้อยหลังเพียงแค่ 1 วัน  ส.ส.พรรคก้าวไกล นำโดย นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ก็เปิดเกมรุกด้วยการยื่นเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ต่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา โดยมีสาระสำคัญคือ การยกเลิกมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้อำนาจ สว. ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หรือที่เข้าใจง่ายๆ ก็คือ “ปิดสวิตช์ สว.” ซึ่งพรรคก้าวไกล ย้ำว่า เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อคืนอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีให้กับประชาชน นำไปสู่การผ่าทางตันทางการเมือง


ส่วนท่าทีของแกนนำเพื่อไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ดูเหมือนจะไม่เห็นด้วยกับการขับเคลื่อนของพรรคก้าวไกล เพราะการแก้ไขมาตรา 272 ต้องอาศัยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา โดยเฉพาะ 84 เสียงจาก สว. ซึ่งเป็นไปได้ยากที่ สว.จะสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจของตัวเอง ที่ผ่านมาเคยมีการยื่นแก้ไขไปแล้วหลายครั้ง แต่ก็ไม่ผ่านการพิจารณา ดังนั้นจึงมองว่าการแก้ไข มาตรา 272 ยากยิ่งกว่าการโหวตนายกฯ

ท่ามกลางการจับตาในเรื่องนี้  ช่วงค่ำวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา แกนนำพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยไม่ว่าจะเป็น นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค, นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์  รองหัวหน้าพรรค และ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล  รองหัวหน้าพรรค ได้หารือกับแกนนำพรรคเพื่อไทย ที่นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค, นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ว่ากันว่า เวลากว่า 1 ชั่วโมง 45 นาที ของการหารือครั้งนี้ได้ประเมินสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในการโหวตนายกฯ ครั้งที่ 2  ในวันที่ 19 ก.ค.นี้ โดยมองว่า ที่ประชุมรัฐสภา อาจจะทักท้วงเกี่ยวกับการเสนอญัตติเดิมซ้ำในสมัยประชุมว่าทำได้หรือไม่ รวมถึงความกังวลที่ว่า พรรคขั้วรัฐบาลเดิมอาจเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ เข้าชิงเก้าอี้นายกฯ  แต่วงประชุม 2 พรรคก็ยังไม่มีข้อสรุปว่า จะเสนอชื่อ “พิธา” ให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตให้เป็นนายกฯ อีกครั้งหรือไม่  เพราะต้องรอความเห็นจากที่ประชุม 8 พรรคร่วม ซึ่งจะหารือกันอีกครั้งในเวลา 10.00 น. วันที่ 18 ก.ค.นี้ ที่อาคารรัฐสภา 




หากจับสัญญาณจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ย้ำชัดว่า เพื่อไทยพร้อมสนับสนุนก้าวไกลอย่างสุดความสามารถ เพราะเคารพสิทธิการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของก้าวไกล ในฐานะพรรคลำดับที่หนึ่ง แม้ทราบดีว่า การโหวตเลือกนายกฯ ในสถานการณ์การเมืองไม่ปกติ เป็นเรื่องยาก และหากฝ่ายรัฐบาลเดิมเสนอชื่อบุคคลชิงเก้าอี้นายกฯ  แล้วได้ นายกฯ ที่ไม่ได้อยู่ใน 8 พรรค อาจขัดเจตนารมณ์ของประชาชนที่ใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง อีกทั้งความคาดหวังและความต้องการของประชาชนจะถูกทำลายทันที…




เส้นทางสู่ทำเนียบฯ ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะนอกจากต้องฝ่าด่าน สว.ทั้ง 250 คนแล้ว ยังเหลืออีกด่านสำคัญ นั่นคือ ด่านศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะพิจารณาคำร้องของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เสนอให้วินิจฉัยว่า ปมถือครองหุ้นสื่อไอทีวี จะเป็นดาบสุดท้ายทำให้ สมาชิกภาพความเป็น “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” หรือ ส.ส. สิ้นสุดลงตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) ประกอบมาตรา 101(6) หรือไม่  ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่า “พิธา” ขาดคุณสมบัติ มีลักษณะต้องห้าม ก็จะหลุดจากตำแหน่ง ส.ส. และหลุดจากการเป็น แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีด้วย....แต่ทั้งหมดนี้ต้องผลการชี้ขาดจาก ศาล รธน. ว่าจะออกมาอย่างไร 




เรียบเรียงโดย

ปุลญดา  บัวคณิศร




ข่าวที่เกี่ยวข้อง