คลังคงเป้าจีดีพีปีนี้ที่ 2.7% เล็งออกมาตรการของขวัญปีใหม่กระตุ้น

คลังคงเป้าจีดีพีปีนี้ที่ 2.7% ปัจจัยหนุนจากท่องเที่ยวและส่งออก รับน้ำท่วมกระทบภาพรวมปีนี้ เล็งออกมาตรการของขวัญปีใหม่กระตุ้น รอนายกฯเคาะสัปดาห์หน้า พร้อมคาดปีหน้าขยายตัวได้ 3% ระบุ ข้อจำกัดการคลังพุ่ง แนะนโยบายการเงินช่วยขับเคลื่อน
#ทันหุ้น นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า สศค.คงเป้าหมายจีดีพีปีนี้ไว้ที่ 2.7% เท่ากับการคาดการณ์เดิมเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา และนับเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2566 ที่ขยายตัวได้ที่ 1.9% โดยการท่องเที่ยวและการส่งออกยังเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยการส่งออกจะขยายตัวที่ 2.9% ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 36ล้านคน
ทั้งนี้ หากไม่นับรวมผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เขตภาคเหนือในช่วงที่ผ่านมา จีดีพีของไทยในปีนี้ จะสามารถขยายตัวได้เกิน 2.7% อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สศค.ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากปัญหาดังกล่าวได้อย่างชัดเจน แต่เบื้องต้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่ในหลักหลายพันล้านบาท
เขากล่าวด้วยว่า กระทรวงการคลังพร้อมที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้มากขึ้น โดยในช่วงปลายปีนี้ คาดว่า รัฐบาลจะมีมาตรการที่เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ซึ่งกระทรวงการคลังจะมีการนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในการประชุมมอบนโยบายต่อผู้บริหารกระทรวงการคลังในวันจันทร์ที่ 4 พ.ย.นี้
“ในวันจันทร์ที่ 4 พ.ย.นี้ นายกรัฐมนตรีจะเดินทางมามอบนโยบายแก่ผู้บริหารกระทรวงการคลัง คงจะมีการนำเสนอต่อที่ประชุม ซึ่งเราได้เรียนเรื่องมาตรการต่อปลัดกระทรวงการคลังไปแล้วว่ามีมาตรการอะไรบ้างที่จะนำมาใช้ แต่ที่แน่นอนในเดือนธ.ค.นี้ เราจะมีมาตรการที่เป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชน”
ทั้งนี้ สำหรับเศรษฐกิจในปีหน้านั้น สศค.ได้คาดการณ์ว่า จีดีพีจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3% ส่วนจะขยายตัวได้มากกว่านี้หรือจะสามารถขยายตัวได้ที่ 3.5%ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคาดหวังหรือไม่ รัฐบาลจะต้องใช้มาตรการทั้งกึ่งการคลังและนโยบายการเงินเข้ามาร่วมด้วย โดยปัจจุบันพื้นที่ทางการคลังในการดำเนินนโยบายนั้น ถือว่า มีข้อจำกัดแล้ว
“ขณะนี้ ขนาดของการคลังถือว่า มีข้อจำกัดแล้ว โดยระดับการขาดดุลต่อจีดีพีอยู่ที่ 4.5% ถ้าเราอยากให้เศรษฐกิจเราขยายตัวได้เหมาะสม นโยบายการเงินจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม มีคนพูดถึงเครื่องมือกึ่งการคลัง แต่เครื่องมือดังกล่าว เมื่อใช้แล้ว จะเป็นภาระทางการคลังในอนาคต ดังนั้น ถ้าจะให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 3.5% เราต้องมีเครื่องมือจากนโยบายกึ่งการคลังระดับหนึ่งบวกกับนโยบายด้านการเงินเข้ามาช่วยซัพพอร์ต”
เขาระบุด้วยว่า เมื่อเราใช้นโยบายดังกล่าวบรรลุวัตถุประสงค์ที่เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ตามเป้าแล้ว ผลที่เกิดขึ้น คือ ประชาชน โดยประชาชนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะมีกำลังซื้อ ทำให้ภาคการผลิตเกิดลงทุนใหม่ เมื่อลงทุนใหม่ ก็มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น