ป่วยเป็น"มะเร็ง" บริจาคร่างกายได้หรือไม่ ไขข้อสงสัยที่หลายคนยังไม่รู้?

โดยปกติเกณฑ์การรับร่างผู้บริจาคร่างกาย จะมีขั้นตอนในการตรวจร่างกายและตรวจโรคติดต่อต่าง ๆ เช่น โรค HIV โรคตับอักเสบ และโรควัณโรค เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของโรคสู่อาจารย์ผู้สอนและผู้เรียน
เกณฑ์ต่อมา คือเรื่องของคดีความอันเกิดจากการเสียชีวิต เช่น เสียชีวิตจากอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้เสื่อมเสียอวัยวะของร่างกายไป และเสียชีวิตอันมีคดีความตามมาในภายหลัง หากเข้าเกณฑ์นี้จะทำการปฏิเสธการรับร่างบริจาคในทันที ฉะนั้น หากมีการสูญเสียร่างกายไปหรือมีคดีความติดตัวมา จะไม่สามารถบริจาคร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่ได้
ส่วนกรณีที่ผู้บริจาคร่างกายเป็นโรคมะเร็ง สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์สามารถรับร่างฯ ที่เป็นโรคมะเร็งได้ แต่จะพิจารณาว่าไม่ใช่มะเร็งในระยะลุกลามที่ทำให้สูญเสียอวัยวะต่าง ๆ มากเกินไป มีการลุกลามอวัยวะบางส่วนได้ เนื่องจากอวัยวะส่วนอื่น ๆ ยังสามารถใช้เพื่อการเรียนการสอนได้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้กายวิภาคศาสตร์
ส่วนกรณีที่ผู้บริจาคร่างกายเคยบริจาคดวงตาไว้ จะสามารถบริจาคร่างกายได้หรือไม่ อันนี้สามารถทำได้ โดยทั่วไปแล้วจะให้ทางหน่วยงานที่ผู้บริจาคร่างกายได้บริจาคดวงตาไว้ มารับดวงตาไปก่อน แล้วจึงนำร่างมาไว้ใช้ในการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ต่อไป แม้ว่าดวงตาไม่อยู่แล้ว แต่ก็ยังสามารถใช้งานส่วนอื่น ๆ ของร่างกายเพื่อการเรียนการสอนได้
หากมีความประสงค์ที่จะบริจาคร่างกาย สามารถติดต่อมาได้ที่ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ อาคารกายวิภาคทางคลินิก หรือติดตามข่าวสารได้ทาง Facebook Fanpage กายวิภาคศาสตร์คลินิก สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ หรือโทร 0-2839-6572, 0-2839-6673 (ในเวลาราชการ)