รีเซต

หมดยุคตู้สี่เหลี่ยม ! ให้ต้นไม้โซลาร์เซลล์ชาร์จรถไฟฟ้าดีกว่า

หมดยุคตู้สี่เหลี่ยม ! ให้ต้นไม้โซลาร์เซลล์ชาร์จรถไฟฟ้าดีกว่า
TNN ช่อง16
16 มิถุนายน 2566 ( 16:13 )
1K

ผู้ใช้รถไฟฟ้าหลาย ๆ คนคุ้นเคยกับสถานีชาร์จไฟทรงสี่เหลี่ยม รูปร่างคล้ายหัวจ่ายน้ำมันกันเป็นอย่างดี หากใครรู้สึกเบื่อสถานีชาร์จรถไฟฟ้าแบบเดิม ๆ ในตอนนี้บริษัทจากประเทศอังกฤษเริ่มพัฒนาสถานีชาร์จไฟรูปทรงใหม่หรือ “ต้นไม้โซลาร์เซลล์” ที่นอกจากจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้แล้ว ยังบังแดดได้ แถมประหยัดพื้นที่ติดตั้งมากกว่าสถานีชาร์จไฟทรงสี่เหลี่ยมทั่วไปอีกด้วย 


ต้นไม้โซลาร์เซลล์นี้ เป็นผลงานจาก โซลาร์โบทานิก ทรีส์ (SolarBotanic Trees) บริษัทลูกของโซลาร์โบทานิก (SolarBotanic) บริษัทด้านเทคโนโลยีพลังงานสัญชาติอังกฤษ ที่มุ่งเน้นสร้างนวัตกรรมแผงเซลล์แสงอาทิตย์และสถานีชาร์จรถไฟฟ้า ไปจนถึงที่จอดรถ ห้างสรรพสินค้าและโรงพยาบาล ส่วนบริษัทโซลาร์โบทานิก ทรีส์ จะเน้นพัฒนา “ต้นไม้โซลาร์เซลล์” ขนาดเล็กเป็นหลัก


ภาพจาก CNN


ต้นไม้โซลาร์เซลล์คืออะไร ?

อย่างที่ทุกคนทราบดีว่า สถานีชาร์จรถไฟฟ้า และแผงพลังงานแสงอาทิตย์ มีให้เลือกหลากหลายรูปทรง ตั้งแต่ทรงสี่เหลี่ยมคล้าย ๆ หัวจ่ายน้ำมัน ไปจนถึงหัวปลั๊กขนาดเล็กติดผนัง สถานีชาร์จรถไฟฟ้ารูปทรงคล้ายต้นไม้เอง ก็มีการใช้งานอยู่ ไม่ใช่แนวคิดใหม่แต่อย่างใด เช่นที่จัดแสดงภายใน Gardens by the Bay (การ์เด้นส์ บาย เดอะ เบย์) หรือสวนพฤกษศาสตร์ใจกลางประเทศสิงคโปร์ และงานนิทรรศการโลก (World Expo) ซึ่งจัดที่ประเทศดูไบ ในปี ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา


โดย ต้นไม้โซลาร์เซลล์ในประเทศสิงคโปร์ ถือเป็นโครงสร้างขนาดยักษ์ มีความสูงราว 25 - 50 เมตร หรือสูงเกือบเท่าตึก 16 ชั้น ซึ่งส่วนยอดสุดของลำต้นจะมีแผงโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ติดอยู่ และตกแต่งด้วยกิ่งก้านเลียนแบบต้นไม้จริง 


ภาพจาก CNN

 

ส่วนต้นไม้โซลาร์เซลล์ยักษ์ที่เปิดตัวในงานนิทรรศการนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสวนแนวตั้ง (Pavilion) ซึ่งมีพื้นที่มากกว่า 4,000 ตารางเมตร และมีต้นไม้โซลาร์เซลล์เล็ก ๆ ที่มีหน้าตาคล้ายจานรับสัญญาณดาวเทียม เป็นเสาเหล็กที่มีแผ่นวงกลมติดอยู่บนยอด มีความสูงประมาณ 16.3 และ 17.5 เมตร ช่วยผลิตพลังงานให้กับตึกในงาน 


ภาพจาก CNN


ทำไมต้องเป็นทำจุดชาร์จเป็นรูปต้นไม้ ? 

จะเห็นได้ว่าต้นไม้โซลาร์เซลล์ที่มีอยู่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เน้นสร้างกระแสไฟฟ้าปริมาณมากให้กับอาคารเสียมากกว่า ยังไม่เหมาะกับการใช้ในครัวเรือนหรือพื้นที่จำกัดเท่าไหร่ ส่วนสถานีชาร์จรถไฟฟ้าที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน จะเป็นสถานีทรงสี่เหลี่ยม ๆ ทอดตัวเรียงราวกัน แม้จะใช้งานได้จริงและมีประสิทธิภาพ แต่มอง ๆ ไปแล้วดูคล้ายที่จอดรถขนาดใหญ่เสียมากกว่า แถมยังกินพื้นที่โดยใช่เหตุ 

 

ด้วยเหตุนี้ คริส เชลลี (Chris Shelly) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทโซลาร์โบทานิก ทรีส์ จึงเกิดความคิดว่า ถ้ามีสถานีชาร์จไฟที่ประหยัดพื้นที่และดูสวยงาม กลมกลืนกับธรรมชาติรอบตัวคงกว่านี้คงจะดีไม่น้อย เขาจึงคิดต่อยอด “ต้นไม้โซลาร์เซลล์” ซึ่งมีการใช้งานในประเทศสิงคโปร์และดูไบ มาพัฒนาให้มีขนาดเล็กลง เพื่อใช้ในครัวเรือนและบริเวณที่มีพื้นที่จำกัดได้


เล็กกว่า ติดตั้งง่ายกว่า

โดยต้นไม้โซลาร์เซลล์จากบริษัทโซลาร์โบทานิก ทรีส์ ย่อส่วนขนาดลงมา เหลือความสูงประมาณ 4.5 เมตร ทำให้ใช้พื้นที่น้อยกว่า และติดตั้งในพื้นที่สาธารณะได้ง่ายและหลากหลายกว่า ตัวต้นโซลาร์เซลล์มีรูปทรงคล้าย ๆ ร่มชายหาด มีลำต้นและ "ใบไม้" เป็นหลังคาทรงครึ่งวงกลมคว่ำขนาดใหญ่ ช่วยให้ร่มเงาบังแดด นอกจากนี้ เชลลียังอธิบายว่าต้นไม้โซลาร์เซลล์มีขนาดใกล้เคียงกับต้นไม้ทั่วไป เหมาะกับการติดตั้งในโรงแรม ห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่สำนักงานใหญ่บริษัทที่ต้องการสถานีชาร์จรถไฟฟ้าที่ดูกลมกลืนกับธรรมชาติ


ต้นไม้โซลาร์เซลล์ทำงานอย่างไร ? 

ต้นไม้โซลาร์เซลล์มีหลักการทำงานเหมือนแผงพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วไป โดยตัวต้นไม้จะกักเก็บแสงอาทิตย์ด้วย “ใบไม้” หรือแผงพลังงานด้านบน แล้วเปลี่ยนพลังงานแสงเป็นไฟฟ้า และกักเก็บไว้ในแบตเตอรี่ที่อยู่ข้างในบริเวณลำต้น ก่อนจะนำไปใช้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าต่อไป 


ซึ่งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ของต้นไม้โซลาร์เซลล์ ผลิตมาจากแผงพลังงานระบบผลึกนาโน หรือ Nano photovoltaic ซึ่งทำให้ตัวแผงมีความยืดหยุ่น ดัดทรง "ใบไม้" หรือแผงพลังงานด้านบนเป็นหลังคาโค้งได้ตามต้องการ



ผลิตไฟฟ้าได้ 5 กิโลวัตต์

โดยต้นไม้โซลาร์เซลล์มีกำลังผลิตไฟฟ้า 5 กิโลวัตต์ ตามมาตรฐานสถานีชาร์จไฟของเอเนอจี้ เซฟวิง ทรัสต์ (Energy Saving Trust: EST) ซึ่งเป็นองค์กรในสหราชอาณาจักรดูแลเรื่องการลดคาร์บอนเป็นหลัก โดยต้นไม้โซลาร์เซลล์ของโซลาร์โบทานิก ทรีส์ ใช้เวลาประมาณ 7 -10 ชั่วโมง ในการชาร์จรถไฟฟ้าทั่วไปที่มีสเปคแบตเตอรี่ 50 กิโลวัตต์ 


อย่างไรก็ตาม ต้นไม้โซลาร์เซลล์ยังอยู่ในขั้นตอนทดลองประสิทธิภาพการใช้งาน โดยบริษัทสร้างตัวต้นแบบซึ่งขนาดครึ่งหนึ่งของตัวผลิตภัณฑ์จริง สูงประมาณ 2 เมตร สำเร็จเป็นที่เรียบร้อย และจะพัฒนาต้นไม้โซลาร์เซลล์ขนาดปกติ (สูง 4.5 เมตร) ให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ต่อไป เพื่อเพิ่มความเร็วในการชาร์จไฟ และรองรับรถไฟฟ้าหลากประเภทมากขึ้น 


ราคาเท่าไหร่ ?

บริษัทวางแผนว่าต้นไม้โซลาร์เซลล์จะมีราคาตั้งแต่ 18,000 ถึง 25,000 ยูโร หรือราว 670,000 ถึง 930,000 บาท ถือราคาค่อนข้างสูงกว่าแผงโซลาร์เซลล์ทั่วไป แต่เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับองค์กรหรือบริษัทใหญ่ ๆ ที่สนใจสถานีชาร์จพลังไฟฟ้าที่ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย


เตรียมติดตั้ง AI ให้ต้นไม้ด้วย 

นอกจากพัฒนาประสิทธิภาพในการชาร์จไฟ โซลาร์โบทานิก ทรีส์ยังวางแผนนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยจัดการระบบกักเก็บและการจัดการพลังงานภายในต้นไม้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในอนาคต เช่น กักเก็บพลังงานไว้ในแบตเตอรี่เพื่อใช้เวลากลางคืน หรือในวันที่ไม่มีแสงแดด หรือเชื่อมต่อต้นไม้โซลาร์เซลล์กับโครงข่ายไฟฟ้าหลัก เพื่อป้อนพลังงานส่วนเกินที่ผลิตจากต้นไม้โซลาร์เซลล์ ไปยังโครงข่ายไฟฟ้าหลัก


โดยปัจจุบัน โซลาร์โบทานิก ทรีส์ กำลังอยู่ในช่วงระดมทุนเพื่อพัฒนาต้นแบบต้นไม้โซลาร์เซลล์ขนาดปกติ แต่บริษัทวางแผนผลิตต้นไม้โซลาร์เซลล์ออกสู่ตลาดให้ได้อย่างน้อย 1,000 ต้นต่อไป ให้ได้ภายในปีค.ศ. 2025 เพื่อช่วยพลังงานไฟฟ้าสะอาดต่อไป 


ที่มาข้อมูลและภาพ CNNSolarbotanictrees

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง