รีเซต

รู้จักประเทศ ‘วานูอาตู’ หมู่เกาะเก่าแก่นับพันปี ที่มีมาก่อนคริสตกาล

รู้จักประเทศ ‘วานูอาตู’ หมู่เกาะเก่าแก่นับพันปี ที่มีมาก่อนคริสตกาล
TNN ช่อง16
13 กรกฎาคม 2567 ( 14:49 )
39

ขณะเดียวกัน ยังมีอีกหลายประเทศบนโลกนี้ ที่เราอาจไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน หรือ คิดไม่ถึงว่า มีชื่อประเทศนี้อยู่บนโลกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ประเทศ ‘วานูอาตู’ ที่ฟังครั้งแรกแล้วอาจไม่คุ้นหู แต่รู้ไหมว่า ประเทศแห่งนี้ มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันปี ไม่แพ้กับชาติอื่น ๆ 


แต่ว่า ‘วานูอาตู’ คือ ประเทศอะไร แล้วตั้งอยู่ตรงไหนของโลกใบนี้ บทความนี้จะพาไปรู้จักประเทศหมู่เกาะแห่งนี้กัน 


---“นิวเฮบริดีส์” ชื่อเดิมของ “วานูอาตู”---


‘วานูอาตู’ มีชื่อเดิมในช่วงยุคล่าอาณานิคมว่า ‘นิวเฮบริดีส์’ เป็นประเทศที่ประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมหาสุมทรแปซิฟิก โดยหมู่เกาะแห่งนี้ อยู่ห่างจากออสเตรเลียไปทางทิศตะวันออกประมาณ 1,750 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือนิวแคลิโดเนีย ดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศส, ทิศตะวันตกของประเทศฟิจิ และทางทิศใต้ของหมู่เกาะโซโลมอนราว 500 กิโลเมตร 


ประเทศหมู่เกาะแห่งนี้ ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ทั้งหมด 83 เกาะ มีพื้นที่ประมาณ 12,819 ตารางกิโลเมตร ในจำนวนนี้ มี 14 เกาะ ที่มีเนื้อที่มากถึง 100 ตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง และเดิมเคยเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟ ปัจจุบัน ประเทศก็ยังมีภูเขาไฟที่ยังคงคุกรุ่นอยู่มากมาย 


นอกจากนี้ ในจำนวน 83 เกาะของประเทศ มี 2 เกาะที่ถูกอ้างสิทธิ์ว่าเป็นดินแดนของนิวแคลิโดเนีย คือ เกาะแมตทิว และเกาะฮันเตอร์


วานูอาตูแบ่งออกเป็นทั้งหมด 6 จังหวัดมาตั้งแต่ปี 1994 ได้แก่ มาลัมปา, เปนามา, ซานมา, เชฟา, ทาเฟีย และตอร์บา เมืองหลวง ชื่อว่า "พอร์ตวิลา" ตั้งอยู่บนเกาะเอฟาเต ในจังหวัดเชฟา  


มีประชากรโดยประมาณราว 307,800 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเมลานีเซียน หรือรู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่า ‘นี-วานูอาตู’ 95% ส่วนอีก 5% เป็นกลุ่มประชากรจากหลากหลายเชื้อชาติ เช่น ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ยุโรป, เอเชีย และชาวแปซิฟิกอื่น ๆ โดย 20% ของประชากรจะอาศัยอยู่ใน 2 เมืองใหญ่ ได้แก่ พอร์ตวิลล่า และ ลูแกนวิลล์


ภาษาที่ใช้อย่างเป็นทางการมีด้วยกัน 3 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาบิสลามา อันเป็นภาษาลูกผสมแบบหนึ่ง ที่มีรากฐานจากภาษาอังกฤษ 


---“วานูอาตู” ประเทศหมู่เกาะพันปี---


เชื่อกันว่า เกาะวานูอาตูมีผู้อยู่อาศัยมานานหลายพันปี ตั้งแต่ก่อนคริสตกาล โดยมีชาวเมลานีเซียนเป็นผู้ตั้งถิ่นฐานกลุ่มแรก หลักฐานทางโบราณคดีที่เก่าแก่สุดที่ถูกค้นพบมีอายุย้อนไปถึง 2,000 ปีก่อนคริสตกาล 


ในปี 1605 เปโดร เฟร์นันเดซ เด กีโรส นักสำรวจชาวโปรตุเกส กลายเป็นชาวยุโรปคนแรกที่เดินทางมาถึงหมู่เกาะแห่งนี้ เขาเชื่อว่า วานูอาตูเป็นส่วนหนึ่งของ ‘Terra Australis’ หรือ ‘ดินแดนทางใต้’ ซึ่งเป็นชื่อทวีปสมมติที่ตั้งขึ้นมาครั้งแรกในสมัยโบราณ ก่อนจะกลายมาเป็นชื่อ ‘ออสเตรเลีย’ ในปัจจุบัน 


ชาวยุโรปเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในหมู่เกาะแห่งนี้ ช่วงปลายศตวรรษที่ 18 หลัง เจมส์ คุก นักสำรวจชาวอังกฤษ เดินทางมาเยือนเกาะนี้ และตั้งชื่อว่า ‘นิวเฮบริดีส์’ 


ต่อมาในปี 1887 เกาะนิวเฮบริดีส์ เริ่มถูกบริหารจัดการโดยคณะกรรมาธิการกองทัพเรือฝรั่งเศส-อังกฤษ และในปี 1906 อังกฤษและฝรั่งเศสตัดสินใจที่จะปกครองเกาะแห่งนี้ร่วมกัน ภายใต้ข้อตกลง Anglo-French


อย่างไรก็ตาม ช่วงศตวรรษที่ 18 เชื่อว่า มีชาวเมลานีเซียนกว่าพันคน ถูกลักพาตัว และบังคับให้ทำงานในไร่ฝ้าย และน้ำตาลที่ประเทศฟิจิ และรัฐควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย ไปจนถึงต้นศตวรรษที่ 20 


นับตั้งแต่อังกฤษและฝรั่งเศสเข้ามาปกครองวานูอาตูเป็นเวลาหลายสิปี ต่อมาใช่ช่วงปี 1960 ประชาชนบนเกาะ เริ่มลุกขึ้นมาเรียกร้องเอกราช ต้องการปกครองประเทศด้วยตนเอง ท้ายสุด 2 ชาติมหาอำนาจจึงคืนอำนาจอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ให้คนบนเกาะนี้ ในวันที่ 30 กรกฎาคม 1980 และเปลี่ยนชื่อเป็น “สาธารณรัฐวานูอาตู” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 


ประเทศนี้ เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหประชาชาติ หรือ UN ในปี 1981 และขบวนการไม่ฝักฝ่ายใด หรือ NAM ในปี 1983 


---ระบบการเมือง-เศรษฐกิจในประเทศ---


รัฐสภาของวานูอาตูเป็นแบบสภานิติบัญญัติสภาเดียว มีสมาชิก 52 คน สมาชิกจะได้รับการเลือกตั้งทุก ๆ 4 ปี หัวหน้าของพรรคที่ได้รับเสียงข้างมากในสภา มักได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้นำรัฐบาล มีประมุขสูงสุดคือ ประธานาธิบดี ซึ่งจะได้รับการเลือกทุก 5 ปี โดยสมาชิกรัฐสภา และประธานาธิบดีของรัฐบาลท้องถิ่นอีก 6 จังหวัด 


อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา วานูอาตูต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางการเมืองอย่างหนัก อันเป็นผลมาจากที่รัฐบาลผสมเกิดความแตกแยกกันหลายชุด และใช้สิทธิโหวตไม่ไว้วางใจ ส่งผลให้มีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีอยู่บ่อยครั้ง 


ด้านเศรษฐกิจประเทศ ส่วนใหญ่จะอิงอยู่บนพื้นฐานเศรษฐกิจแบบเลี้ยงชีพ หรือ ทำเกษตรกรรมขนาดเล็ก ซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตประชากรราว 65% นอกจากนี้ การประมง การธนาคารนอกประเทศ และการท่องเที่ยว ก็ถือเป็นเศรษฐกิจหลักสำคัญของประเทศ 


รายได้จากการเก็บภาษีส่วนใหญ่มาจากภาษีนำเข้า และ 12.5% เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้าและบริการ ขณะที่ แหล่งแร่ในประเทศแห่งนี้มีน้อยมาก และไม่ค่อยมีปริมาณสำรองปิโตรเลียม 


ข้อมูลอ้างอิง:

https://www.gov.vu/index.php/about/about-vanuatu

https://www.bbc.com/news/world-asia-16426193

https://www.vfsc.vu/about-us/history-of-vanuatu/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง