รีเซต

นักวิจัยรายงานพบ "ไมโครพลาสติก" ในร่างกายมนุษย์

นักวิจัยรายงานพบ "ไมโครพลาสติก" ในร่างกายมนุษย์
TNN ช่อง16
26 มีนาคม 2565 ( 20:58 )
373

พลาสติก คือ วัสดุที่เข้ามาปฏิวัติชีวิตประจำวันของมนุษย์ไปตลอดกาล ด้วยความทนทานและความสะดวกในการนำมาใช้ พลาสติกจึงเป็นส่วนประกอบสำคัญให้แก่ผลิตภัณฑ์ในทุกวงการตั้งแต่ใช้บรรจุอาหาร ไปจนถึงเครื่องมือทางการแพทย์

ที่มาของภาพ Oregon state university

 


อย่างไรก็ตาม แม้พลาสติกจะช่วยทำให้ชีวิตของเราสะดวกสบายมากขึ้น แต่มันกลับแฝงมาด้วยปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอีกมากมายเช่นกัน เริ่มต้นด้วยพลาสติกเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ยาก ต้องใช้เวลานับร้อยปีจึงจะสลายตัวได้หมดจนกลายเป็นขยะ ส่วนกระบวนการผลิตพลาสติกบางประเภททำให้เกิดสารพิษขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลก และสารพิษบางชนิดทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกได้ หรือกรณีที่สารพิษปล่อยลงสู่แหล่งน้ำก็กลายเป็นมลพิษในน้ำและดินในที่สุด


ทว่า ในช่วงที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับพลาสติกอีกรูปแบบหนึ่ง เรียกว่า ไมโครพลาสติก (Microplastic) ซึ่งเป็นพลาสติกที่มีขนาดเล็กมาก (ตั้งแต่ขนาดเท่าเม็ดฝุ่นไปจนถึงขนาดที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า) หลังจากตรวจพบการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำ, สิ่งมีชีวิตในทะเล ไปจนถึงการปนเปื้อนในอุจจาระเด็กทารก จึงจำเป็นต้องศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายของมนุษย์ได้


ที่มาของภาพ The Source Magazine

 


ไมโครพลาสติกเหล่านี้ปนเปื้อนในร่างกายเราได้อย่างไร? เป็นที่ทราบกันดีว่าผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกมักจะมีน้ำหนักเบา ดังนั้น ไมโครพลาสติกขนาดเล็กจิ๋วเหล่านี้จึงสามารถกระจายสู่สิ่งแวดล้อมได้ในหลากหลายสื่อกลาง ทั้งการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ, ในดิน หรือแม้กระทั่งล่องลอยไปตามอากาศ นั่นหมายความว่าคุณสามารถพบเจอไมโครพลาสติกเหล่านี้ได้ตั้งแต่ภูเขาที่สูงที่สุดในโลกไปจนถึงร่องลึกในมหาสมุทรแปซิฟิกเลยทีเดียว 


มนุษย์อาจได้รับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การดื่มน้ำจากขวดพลาสติก, การรับประทานปลาทะเล หรือการหายใจเอาไมโครพลาสติกเข้าไป (ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง) เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อพิสูจน์สมมุติฐานว่าบัดนี้ร่างกายมนุษย์ล้วนมีไมโครพลาสติกแทรกซึมอยู่ นักวิจัยจึงได้จัดการทดลองขึ้นมาเพื่อรายงานว่าในเลือดมนุษย์นั้นมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่จริง

ที่มาของภาพ Gyres Institute

 



จากการตรวจร่างกายอาสาสมัครผู้ใหญ่จำนวน 22 ราย พบว่าจำนวน 17 ราย ตรวจพบไมโครพลาสติกในเลือด โดยตัวอย่างกว่าครึ่งหนึ่งที่ตรวจพบเป็นพลาสติกชนิด PET ที่ใช้ในการผลิตขวดน้ำดื่ม ในขณะที่ตัวอย่าง 1 ใน 3 พบพลาสติกชนิดพอลีสไตรีน (Polystyrene) ที่ใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์บรรจุอาหาร การทดลองครั้งนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental International ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการยืนยันการตรวจพบไมโครพลาสติกในร่างกายมนุษย์อย่างเป็นทางการ


ไมโครพลาสติกเหล่านี้มีอันตรายต่อร่างกายมนุษย์หรือไม่? จากการศึกษาผลกระทบของไมโครพลาสติกที่เกิดขึ้นกับเซลล์มนุษย์ในห้องทดลอง พบว่าไมโครพลาสติกนั้นเป็นอันตรายแก่เซลล์ ราวกับว่ามันคือสารพิษชนิดหนึ่งที่ทำให้เซลล์ทำงานผิดปกติ และนำพาไปสู่การเกิดโรคร้ายอีกหลายชนิด แม้จะไม่ใช่การทดลองเพื่อศึกษาผลที่เกิดขึ้นในร่างกายมนุษย์ แต่ก็พออนุมานได้ว่าหากไมโครพลาสติกสะสมในร่างกายมากขึ้นอาจส่งผลเสียตามมาในภายหลังได้


ที่มาของภาพ Unsplash

 


ยิ่งไปกว่านั้น ในงานวิจัยก่อนหน้าที่มีการตรวจพบไมโครพลาสติกปนเปื้อนในอุจจาระของทารก รวมถึงพบไมโครพลาสติกปนเปื้อนในนมที่บรรจุในขวดนมพลาสติก แสดงให้เห็นว่าร่างกายของเรานั้นได้รับไมโครพลาสติกตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และเนื่องจากร่างกายของทารกยังอ่อนแอเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ ไมโครพลาสติกเพียงเล็กน้อยอาจทำให้เกิดโรคร้ายแรงในทารกได้ นี่จึงอาจเป็นที่มาของการรณรงค์ให้ทารกกินนมแม่จากเต้า ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการได้รับไมโครพลาสติกจากขวดนมได้อีกทางหนึ่ง


สำหรับผลกระทบจากไมโครพลาสติกนั้น นักวิทยาศาสตร์ยังคงต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมอย่างเป็นวงกว้าง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงยังต้องค้นหาวิธีที่สามารถกำจัดไมโครพลาสติกออกจากสิ่งแวดล้อมและผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้สิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกปลอดภัยจากสารพิษเหล่านี้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Interesting Engineering

ข่าวที่เกี่ยวข้อง