ดาวเทียมตงฟังหง 1 (Dong Fang Hong 1) ดาวเทียมดวงแรกของประเทศจีน
ปัจจุบันประเทศจีนมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ความสำเร็จในวันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วข้ามคืนแต่เป็นความพยายามและทุ่มเทของวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์จีนตลอดระยะหลายสิบปี ดาวเทียมตงฟังหง 1 (Dong Fang Hong 1) หนึ่งในความสำเร็จครั้งแรกของวงการอวกาศจีนที่สามารถส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จและกลายเป็นประเทศลำดับที่ 5 ที่สามารถส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ ต่อจากญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต
ดาวเทียมตงฟังหง 1 (Dong Fang Hong 1) ของจีนถูกพัฒนาขึ้นโดยสถาบันเทคโนโลยีอวกาศแห่งประเทศจีน (CAST) ดาวเทียมตงฟังหง 1 ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 24 เมษายน 1970 โดยใช้จรวด Chang Zheng 1 อยู่ในกลุ่มตระกูลจรวดลองมาร์ชของจีน จีนพัฒนาขึ้นมาด้วยตัวเองโดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากสหภาพโซเวียต จรวดถูกดัดแปลงมาจากขีปนาวุธติดหัวรบ
ดาวเทียมมีลักษณะทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร น้ำหนัก 173 กิโลกรัม โครงสร้างผลิตจากอะลูมิเนียมอัลลอยด์ ติดตั้งเสาอากาศสัญญาณคลื่นอัลตราซอฟท์เวฟ 4 เสา ความยาว 2 เมตร หลังจากเดินทางขึ้นสู่อวกาศดาวเทียมโคจรรอบโลกประมาณ 20 วัน โดยส่งคลื่นวิทยุออกมาเป็นเสียงเพลงชาติจีน นอกจากนี้ดาวเทียมยังติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบชั้นบรรยากาศบนอวกาศ ดาวเทียมสามารถส่งสัญญาณกลับโลกจนถึงวันที่ 14 พฤษภาคม สัญญาณจึงขาดหายไป
ความสำเร็จของดาวเทียมตงฟังหง 1 นับเป็นก้าวสำคัญของจีนที่ประกาศความพร้อมในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศในยุคนั้นตามนโยบายของเหมา เจ๋อตง ผู้นำคนสำคัญของประเทศจีนในยุคนั้น ในช่วงปี 2005 รัฐบาลประเทศจีนได้รวบรวมทีมงานวิศวกรที่เคยมีส่วนร่วมในการสร้างดาวเทียมตงฟังหง 1 เพื่อสร้างดาวเทียมขนาดเท่าของจริงขึ้นมาใหม่และนำไปจัดแสดงเอาไว้ในท้องฟ้าจำลองกรุงปักกิ่ง
สำหรับความก้าวหน้าของวงการอวกาศจีนประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา เช่น
ในปี 2003 จีนส่งนักบินอวกาศหยางลี่เหว่ย นักบินอวกาศคนแรกของจีนขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จโดยใช้ยานอวกาศเสินโจว 5 (Shenzhou 5)
ในปี 2008 จีนส่งนักบินอวกาศ 3 คน ได้แก่ นักบินอวกาศไจ๋ จื้อกัง, นักบินอวกาศหลิว ป๋อหมิง, นักบินอวกาศจิ่ง ไห่เผิง ขึ้นสู่อวกาศโดยนักบินอวกาศไจ๋ จื้อกังทำการเดินบนอวกาศ (Spacewalk) 20 นาที โดยมีนักบินอวกาศหลิว ป๋อหมิงสวมชุดอวกาศทำหน้าที่ให้การสนับสนุนภารกิจ โดยใช้ยานอวกาศเสินโจว 7 (Shenzhou 7)
ปัจจุบันจีนมีสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong space station) โคจรอยู่ในวงโคจรของโลก รองรับนักบินอวกาศได้ 3 คน และเพิ่งประสบความสำเร็จในภารกิจประจำการนักบินอวกาศ 3 คน ได้แก่นักบินอวกาศหวัง ยาผิง, นักบินอวกาศยี่ กวงฟู และนักบินอวกาศจี จือกัง (Zhai Zhigang) เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยใช้ยานเสินโจว 12 (Shenzhou 12) ทำภารกิจเดินทางของนักบินอวกาศ
สำหรับโครงการในอนาคตจีนมีเป้าหมายส่งมนุษย์อวกาศคนแรกลงไปเหยียบดวงจันทร์และตั้งสถานีสำรวจบนดวงจันทร์ในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับโครงการอาร์ทิมิส (Artemis) ของนาซา ประเทศสหรัฐอเมริกา
ที่มาของข้อมูล : nssdc.gsfc.nasa.gov
ที่มาของรูปภาพ : scmp.com