รีเซต

มองหน้าก็รู้จังหวะหัวใจ ! สตาร์ตอัปญี่ปุ่นทำระบบจดจำใบหน้า อ่านค่าชีพจรได้ด้วย

มองหน้าก็รู้จังหวะหัวใจ ! สตาร์ตอัปญี่ปุ่นทำระบบจดจำใบหน้า อ่านค่าชีพจรได้ด้วย
TNN ช่อง16
12 มกราคม 2567 ( 10:26 )
89

สตาร์ตอัปญี่ปุ่นพัฒนาระบบจดจำใบหน้าขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ ที่เคลมว่าสามารถอ่านค่าสัญญาณชีพจรได้ เพียงแค่เปิดกล้องส่องใบหน้าเท่านั้น หวังต่อยอดเป็นตัวช่วยในการตรวจสุขภาพให้ผู้สูงอายุ


โดยในงานแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับโลก CES 2024 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ฮิโตชิ อิมาโอกะ (Hitoshi Imaoka) จากบริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์ชื่อดัง เอ็นอีซี (NEC) ในประเทศญี่ปุ่นได้นำผลงานนนี้มาจัดแสดงในงาน


ภาพจาก รอยเตอร์

อิมาโอกะกล่าวว่า เขาเองคร่ำหวอดในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการจดจำใบหน้ามากว่า 20 ปี แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบัน เขาจึงมองเห็นโอกาสในการพัฒนาระบบให้อัจฉริยะยิ่งขึ้น อีกทั้งแรงบันดาลใจส่วนหนึ่ง ยังมาจากพ่อแม่ของเขาเอง ที่มีอายุ 80 ปีแล้ว รวมถึงที่ญี่ปุ่น ก็กำลังเผชิญกับสังคมสูงวัย เขาจึงพยายามรวมเทคโนโลยีเอไอเข้ากับระบบจดจำใบหน้า ทำเป็นระบบตรวจจับสัญญาณชีพขึ้นมานั่นเอง


ระบบที่บริษัทพัฒนาขึ้นนี้ทำงานผ่านสมาร์ตโฟน ผู้ใช้งานเพียงแค่เปิดระบบและมองเข้าไปในกล้องของสมาร์ตโฟน จากนั้นระบบก็จะใช้เวลาประมาณ 10-60 วินาที เพื่อให้เอไอทำการจดจำภาพและวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของรูม่านตารวมถึงรูปแบบของใบหน้า เพื่อทำการวัดค่าต่าง ๆ 


บริษัทเคลมว่าระบบที่พัฒนาขึ้นนี้ สามารถวัดอัตราการเต้นของชีพจร จากข้อมูลหลอดเลือด ที่รวบรวมตามลักษณะการไหลเวียนของเลือดบนใบหน้า และวัดอัตราการหายใจของผู้ใช้งาน ด้วยการอ่านการเคลื่อนไหวของหน้าอก 


ภาพจาก รอยเตอร์

 


ทั้งนี้บริษัทมองว่า ผลงานนี้จะช่วยให้การดูแลและรายงานข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ใช้งาน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ทำได้ง่ายขึ้น เพราะถึงแม้ปัจจุบันจะมีอุปกรณ์เช่นนาฬิกาอัจฉริยะ มาช่วยตรวจจับสัญญาณชีพ แต่กลุ่มคนเหล่านี้ก็อาจจะไม่สะดวกใช้งาน ดังนั้นบริษัทจึงต้องการสร้างระบบ ที่สามารถตรวจสอบสถานะสุขภาพของผู้คนจากการสังเกตใบหน้า เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว


โดยปัจจุบันระบบตรวจสอบใบหน้าของบริษัทได้รับรางวัลจากเวที CES 2024 Innovation Award สาขาปัญญาประดิษฐ์ และบริษัทผู้พัฒนาหวังว่าจะสามารถพัฒนาระบบให้วัดค่าอื่น ๆ ได้มากขึ้น  เช่น การวัดระดับความเครียด โดยวางแผนที่จะเปิดตัวระบบในปลายปีนี้


ข้อมูลจาก reutersconnectnews.yahoo

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง