รีเซต

UNEP เผยแพร่รายงานประจำปีว่าด้วย “ช่องว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

UNEP เผยแพร่รายงานประจำปีว่าด้วย “ช่องว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”
TNN World
27 ตุลาคม 2564 ( 16:19 )
126
UNEP เผยแพร่รายงานประจำปีว่าด้วย “ช่องว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”
UN: โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสหประชาชาติ หรือ UNEP เผยแพร่รายงานประจำปีว่าด้วย “ช่องว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ในวันอังคาร (26 ตุลาคม) ระบุว่า พันธสัญญาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปัจจุบัน ทำให้โลกอยู่ในสภาวะที่อุณหภูมิสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 2.7 องศาเซลเซียสในศตวรรษนี้
 
นับเป็นคำเตือนที่แข็งกร้าวอีกครั้ง ก่อนการประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ครั้งที่ 26 (26th United Nations Climate Change Conference) หรือที่เรียกว่า COP26 ซึ่งจะเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายนนี้ ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์
 
บรรดาผู้นำโลกมากกว่า 120 ประเทศ ตลอดจนผู้แทนและเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากทั่วโลกรวมกว่า 25,000 คน จะเข้าร่วมการประชุมที่สำคัญครั้งนี้ เพื่อให้ทันเส้นตายที่กำหนดไว้ในปีนี้ ในการรักษาพันธสัญญาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้น ซึ่งอาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะทำให้โลกสามารถควบคุมอุณหภูมิต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม และให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส
 
ทั้งนี้ เกิดสภาพภูมิอากาศวิปริตแปรปรวนหลายอย่าง ไล่ไปตั้งแต่การเกิดไฟป่าจนถึงน้ำท่วมรุนแรงในหลายประเทศทั่วโลก รายงานชิ้นหนึ่งของ UN ในเดือนสิงหาคม เตือนว่า ภาวะโลกร้อนเนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาจทะลุ 1.5 องศาเซลเซียสในอีก 20 ปีข้างหน้า
 
นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ผู้นำสหราชอาณาจักร แถลงในวันจันทร์ (25 ตุลาคม) ที่ผ่านมาว่า “น่าเป็นห่วง” ว่า การเจรจา UN รอบสำคัญที่สุด ตั้งแต่ข้อตกลงปารีสในปี 2015 จะรักษาข้อตกลงที่จำเป็นเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้หรือไม่
 
ขณะที่ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO ของ UN แถลงก่อนการประชุมที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์หน้าว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำสถิติสูงสุดเมื่อปีที่แล้ว และโลก “ออกนอกเส้นทาง” ในการควบคุมอุณหภูมิที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น
 
จากรายงานของโครงการสิ่งแวดล้อม UN ระบุด้วยว่า แผนการระดับชาติในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยังไม่เพียงพอต่อความจำเป็นที่จะหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่อันตราย
 
คำมั่นสัญญาของแต่ละประเทศล้มเหลวในการทำให้อุณหภูมิโลกอยู่ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสในศตวรรษนี้ แต่ในสภาพที่เป็นอยู่ปัจจุบัน อุณหภูมิจะร้อนขึ้นประมาณ 2.7 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง แต่ก็มีความหวังว่า หากทุกประเทศตั้งเป้าปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ในระยะยาวได้ อุณหภูมิของโลกจะสามารถควบคุมได้อย่างมีนัยสำคัญ
 
ขณะที่ กลุ่มประเทศ G20 ซึ่งรับผิดชอบปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 80% ไม่ได้อยู่ในเส้นทางที่จะทำให้คำมั่นสัญญาทั้งก่อนหน้านี้ หรือคำมั่นสัญญาใหม่ปี 2030 ประสบความสำเร็จได้
 
อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการ UN แถลงข่าวว่า หากไม่มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังในทศวรรษหน้า เราจะสูญเสียโอกาสตลอดกาล ในการควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง