อังกฤษดึงคาร์บอนจากทะเล ทางเลือกใหม่ลดโลกร้อน

ในขณะที่โลกกำลังมุ่งเน้นไปที่การดักจับคาร์บอนเพื่อชะลอภาวะโลกร้อน โครงการนำร่องในสหราชอาณาจักรกำลังทดลองวิธีใหม่ในการดึงคาร์บอนออกจากน้ำทะเล โดยมีเป้าหมายเพื่อพิสูจน์ว่าแนวทางนี้จะมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากกว่าการดักจับคาร์บอนจากอากาศหรือไม่
โครงการนี้มีชื่อว่า SeaCURE ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัย Exeter โดยตั้งโรงงานต้นแบบบริเวณ ศูนย์ชีวิตทางทะเล Weymouth ทางตอนใต้ของอังกฤษ โรงงานนี้สามารถประมวลผลน้ำทะเลได้ถึง 3,000 ลิตรต่อนาที และคาดว่าจะดักจับคาร์บอนได้ประมาณ 100 ตันต่อปี
ศาสตราจารย์ Paul Halloran ผู้เชี่ยวชาญด้านมหาสมุทรและภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัย Exeter อธิบายว่า มหาสมุทรเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนขนาดใหญ่ที่สุดของโลก โดยสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 25% ของทั้งหมดที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมมนุษย์ ที่สำคัญคือ เมื่อ CO₂ เข้าไปในน้ำทะเล จะเปลี่ยนเป็นรูปแบบคาร์บอนละลายที่ไม่สามารถกลับขึ้นสู่อากาศได้โดยตรงถึง 99% ซึ่งหมายความว่า การดึงคาร์บอนกลับออกมาจากน้ำทำได้ค่อนข้างง่าย
น้ำทะเลจะถูกปรับความเป็นกรดเล็กน้อยเพื่อเปลี่ยนคาร์บอนละลายให้กลายเป็น CO₂ จากนั้นจะทำให้น้ำไหลผ่านพื้นผิวกว้างโดยมีอากาศเป่าเพื่อให้ CO₂ ระเหยออกมา ซึ่งสามารถดึงคาร์บอนออกได้มากกว่า 90% จากน้ำทะเลนั้น
คาร์บอนที่ได้จะถูกกรองผ่านถ่านกัมมันต์จากเปลือกมะพร้าวและพร้อมสำหรับการจัดเก็บถาวร เช่น การฉีดเข้าไปในชั้นหินใต้ดิน ก่อนปล่อยน้ำกลับลงทะเล จะมีการปรับความเป็นกรดให้กลับสู่ระดับปกติ ทำให้น้ำสามารถดูดซับคาร์บอนจากอากาศได้อีกครั้ง คล้ายกับการบีบน้ำออกจากฟองน้ำแล้วนำกลับมาใช้ใหม่
แม้จะมีข้อดีเรื่องความเข้มข้นของคาร์บอนในน้ำที่สูงกว่าอากาศ จึงอาจลดต้นทุนการสร้างโรงงานได้ แต่โครงการยังเผชิญความท้าทายหลายด้าน เช่น การกำจัดสิ่งเจือปนในน้ำ และผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล
“กาย ฮูเปอร์” นักวิจัยปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย Exeter ระบุว่า แม้น้ำทะเลที่ปล่อยกลับลงไปจะมีคาร์บอนต่ำมากและเจือจางได้รวดเร็ว แต่การศึกษาพบว่าแพลงก์ตอนและหอยแมลงภู่บางชนิดอาจได้รับผลกระทบ ดังนั้นจึงต้องหลีกเลี่ยงการติดตั้งระบบใกล้แหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตทางทะเลที่เปราะบาง ทางเลือกในการลดผลกระทบคือการเจือจางน้ำก่อนปล่อยลงทะเล ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการวิจัยเพิ่มเติม
แนวทางนี้เรียกว่า Direct Ocean Capture (DOC) หรือการดักจับคาร์บอนโดยตรงจากทะเล กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น มีสตาร์ทอัพหลายราย เช่น Captura จากแคลิฟอร์เนียที่มีโครงการนำร่องในฮาวาย และ Brineworks จากอัมสเตอร์ดัมที่อ้างว่าเทคโนโลยีของตนประหยัดกว่าการดักจับจากอากาศ
ศาสตราจารย์สจ๊วต ฮาร์เซตไดน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดักจับและกักเก็บคาร์บอนจากมหาวิทยาลัย Edinburgh ให้ความเห็นว่า SeaCURE มีศักยภาพสูง โดยเฉพาะเมื่อใช้พลังงานหมุนเวียนและระบบจัดเก็บถาวรที่มีประสิทธิภาพ การขยายขนาดระบบเพื่อให้สามารถดักจับคาร์บอนได้เป็นล้านตันต่อปีคือความท้าทายต่อไป
เขาสรุปว่า “คาร์บอนในน้ำทะเลมีมากกว่าในชั้นบรรยากาศถึง 50 เท่า และสามารถอยู่ในระบบได้เป็นหมื่นปี การกำจัดคาร์บอนจากมหาสมุทรจึงเป็นภารกิจใหญ่แต่สำคัญอย่างยิ่ง หากเราต้องการควบคุมผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ได้ผลอย่างแท้จริง”