รีเซต

HOTAMET หมวกกันน็อคจากเปลือกหอย ไอเดียจากสตาร์ตอัปสัญชาติญี่ปุ่น

HOTAMET หมวกกันน็อคจากเปลือกหอย ไอเดียจากสตาร์ตอัปสัญชาติญี่ปุ่น
TNN ช่อง16
29 ธันวาคม 2565 ( 14:08 )
156
HOTAMET หมวกกันน็อคจากเปลือกหอย ไอเดียจากสตาร์ตอัปสัญชาติญี่ปุ่น

จะดีแค่ไหน ? หากเราสามารถเปลี่ยนขยะที่ไม่มีที่ไปให้กลับมามีมูลค่าอีกครั้ง โดยควอนตัม (Quantum) เป็นชื่อของบริษัทสตาร์ตอัปสัญชาติญี่ปุ่นที่ผุดไอเดียน้ำเปลือกหอยเชลล์ ซึ่งเป็นขยะจากอุตสาหกรรมอาหารทะเล มาทำเป็นหมวกกันน็อคน้ำหนักเบา สำหรับใช้ป้องกันศรีษะ


โฮตาเมท (HOTAMET) หมวกกันน็อคจากเปลือกหอย 

โดยหมวกกันน็อคดังกล่าวมีชื่อว่าโฮตาเมท (HOTAMET) ซึ่งเป็นการนำเปลือกหอยเชลล์ไปต้มในน้ำเดือด และทำการสเตอร์ไรด์ (Sterile) หรือฆ่าเชื้อทีละชิ้น ก่อนจะนำไปบด แล้วอัดเป็นเม็ดเล็ก ๆ เพื่อนำไปขึ้นพิมพ์เป็นหมวกกันน็อคที่เลียนแบบลวดลายของเปลือกหอย ซึ่งมีน้ำหนักโดยประมาณเพียง 400 กรัม เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การใช้เพียงเปลือกหอยอย่างเดียวไม่เหมาะจะนำมาเป็นวัสดุสำหรับขึ้นพิมพ์หมวกกันน็อค เนื่องจากเปลือกหอยโดยทั่วไปมีคุณสมบัติแข็งแต่เปราะ ดังนั้นจึงมีการผสมพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้าไป เพื่อเสริมคุณสมบัติด้านความทนทานแต่ยังคงจุดเด่นเรื่องน้ำหนักเบาเอาไว้


นอกจากนี้ลวดลายและรูปทรงของหมวกยังมีส่วนช่วยในการเพิ่มความทนทานขึ้นอีก 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับรูปทรงปกติ ทำให้ใช้งานได้นานในหลากหลายสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการสวมใส่ในไซต์ก่อสร้าง, สวมใส่เมื่อเกิดภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว ไปจนถึงสวมใส่ขณะปั่นจักรยาน

ขยะจากอุตสาหกรรมอาหารทะเล 

สำหรับเปลือกหอยเชลล์เหล่านี้ เป็นขยะจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลของหมู่บ้านซารุฟุสึ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหมู่บ้านแห่งนี้ผลิตขยะเปลือกหอยได้มากถึง 40,000 ตันต่อปี และมันถูกกองเป็นภูเขาอยู่ในหมู่บ้าน หลังจากรัฐบาลยุติการส่งออกเปลือกหอยไปยังประเทศอื่น ๆ เพื่อรีไซเคิล ตั้งแต่ปี 2021

โดยขยะเปลือกหอยเหล่านี้หากถูกทิ้งทับถมไว้นาน ๆ และไม่ถูกนำไปจัดการอย่างถูกต้อง พวกมันจะทำให้เกิดการปนเปื้อนของดิน และทำให้คุณภาพของดินเสื่อมถอยลง จนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศท้องถิ่นในระยะยาว อีกทั้งยังไม่ทำให้เกิดรายได้กับคนในหมู่บ้าน


ดังนั้นทางบริษัทจึงติดต่อไปยังหมู่บ้านซารุฟสึ และร่วมมือกับบริษัท ทีบีวะ ฮากุโฮโดะ (TBWA HAKUHODO) ในการผลิตหมวกกันน็อคโฮตาเมทออกมา และจะวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในปี 2023 ในราคา 4,800 เยน หรือประมาณ 1,200 บาท

ข้อมูลจาก Designboom

ภาพจาก Makuake

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง