ทำไมมนุษย์เลือกดาวอังคารเป็นเป้าหมายต่อไปในการสำรวจของนักบินอวกาศ ?
ดาวอังคารเป้าหมายต่อไปของการสำรวจของนักบินอวกาศ ปัจจุบันหลายประเทศกำลังมุ่งศึกษาดาวอังคารอย่างเนื่องด้วยการส่งยานอวกาศแบบไร้นักบินอวกาศไปสำรวจดาวอังคาร ดาวอังคารถูกเลือกเป็นเป้าหมายการสำรวจ เนื่องจากเหตุผลทางด้านวิทยาศาสตร์ สภาพภูมิประเทศและชั้นบรรยากาศของดาวอังคารแม้จะยังเป็นอันตรายกับมนุษย์อยู่แต่ข้อมูลหลักฐานหลายอย่างจากยานสำรวจมีความเป็นไปได้ที่ดาวอังคารจะเคยมีสิ่งชีวิตอาศัยอยู่ในอดีต
ลักษณะคล้ายโลก
ดาวอังคารมีลักษณะคล้ายโลก ดาวอังคารอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 4 มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ในระบบสุริยะจักรวาล ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6,794 กิโลเมตร ใหญ่กว่าครึ่งของขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของโลกเล็กน้อย
โดยดาวอังคารมีมวลประมาณ 1 ใน 9 ของมวลของโลก แรงโน้มถ่วง 38 เปอร์เซ็นต์ของโลก หากมนุษย์น้ำหนัก 100 กิโลกรัม ไปเดินบนดาวอังคารจะเหลือน้ำหนักเพียง 38 กิโลกรัม โดยประมาณ ดาวอังคารมีอุณหภูมิเฉลี่ย -65 องศาเซลเซียส ในบางช่วงอุณหภูมิจะอยู่ระหว่าง -140 ถึง +20 องศาเซลเซียส แม้จะเป็นอุณหภูมิที่สุดโต่งแต่ก็มีความใกล้เคียงกับโลกมากที่สุดเมื่อเทียบกับดาวดวงอื่น ๆ
ชั้นบรรยากาศที่น่าสนใจ
ชั้นบรรยากาศของดาวอังคารประกอบด้วย คาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide) 95.3 เปอร์เซ็นต์, ไนโตรเจน (Nitrogen) 2.7 เปอร์เซ็นต์, อาร์กอน (Argon) 1.6 เปอร์เซ็นต์, ออกซิเจน (Oxygen) 0.15 เปอร์เซ็นต์ ไอน้ำ 0.03 เปอร์เซ็นต์ และอื่น ๆ ส่วนเหตุผลที่พื้นผิวดาวอังคารมองเห็นเป็นสีแดงเนื่องจากการออกซิไดของเหล็ก (กระบวนการที่เหล็กกระกำกับออกซิเจน ทำให้เกิดสนิม) นอกจากนี้ บริเวณขั้วเหนือและใต้ของดาวอังคารยังมีน้ำแข็งปกคลุมคล้ายโลกด้วย
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมสภาพแวดล้อมของดาวอังคารยังไม่เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยของมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีชั้นบรรยากาศที่เบาบางจะไม่สามารถป้องกันรังสีจากดวงอาทิตย์ได้ดีพอ ดังนั้นการส่งมนุษย์ไปสำรวจดาวอังคารยังคงต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันรังสีและอุปกรณ์ดำรงชีพอื่น ๆ ที่จำเป็น ซึ่งนับว่าท้าทายเทคโนโลยีของมนุษย์เป็นอย่างมาก
ปัจจุบันยังไม่มีมนุษย์อวกาศเดินทางไปยังดาวอังคารได้สำเร็จ อย่างไรก็ตามองค์การนาซา (NASA) ของประเทศสหรัฐอเมริกากำลังมีแผนการส่งมนุษย์อวกาศไปดาวอังคารเป็นครั้งแรกในช่วงปี 2030-2033 เป็นอย่างน้อย เพื่อการสำรวจและเก็บข้อมูลพื้นฐานสำหรับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอนาคต
ข้อมูลจาก ESA
ภาพจาก NASA