เพราะอะไร? "น้ำแข็งบนเทือกเขาแอลป์" จะละลายกว่า 80% ภายในปี 2100
วันนี้( 26 ก.ค.65) แอนเดรียส ลินส์เบาเออร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธารน้ำแข็งวัย 45 ปี เดินทางพร้อมด้วยะอุปกรณ์หนัก 10 กิโลกรัม เพื่อไปวัดขนาดธารน้ำแข็งมอร์เทอแรช (Morteratsch) ในสวิตเซอร์แลนด์ที่ลดลงไปมากในปีนี้ โดยตามปกติแล้วจะวัดขนาดธารน้ำแข็งแห่งนี้ทุกสิ้นเดือนกันยายน เมื่อฤดูร้อนสิ้นสุดลง แต่ปีนี้ธารน้ำแข็งละลายมากเป็นพิเศษจึงทำให้ต้องวัดก่อนกำหนด 2 เดือน
ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาแอลป์กำลังเข้าสู่ภาวะสูญเสียพื้นที่ธารน้ำแข็งครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 60 ปี ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จะวัดจากความแตกต่างของปริมาณหิมะที่ตกลงมาในฤดูหนาว และปริมาณน้ำแข็งที่ละลายในฤดูร้อน ก่อนคำนวนว่าธารน้ำแข็งหดเล็กลงเพียงใดในแต่ละปี
เมื่อฤดูหนาวปีที่แล้ว มีหิมะตกค่อนข้างน้อย เทือกเขาแอลป์เผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงถึงสองครั้งก่อนหน้าร้อนจะมาถึง รวมถึงคลื่นความร้อนในเดือนกรกฎาคมที่อุณหภูมิสูงเกือบ 30 องศาเซลเซียส
ช่วงที่เกิดคลื่นความร้อน จุดที่น้ำเริ่มเป็นน้ำแข็งอยู่ที่ความสูง 5,184 เมตร เมื่อเทียบแล้วสูงกว่ายอดเขามงบลองเสียอีก จากระดับปกติที่น้ำเริ่มเป็นนำ้แข็งในขณะที่ช่วงฤดูร้อนที่ความสูง 3,000 - 3,500 เมตร
จากรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จัดทำเมื่อปี 2019 ระบุว่า หากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังสูงขึ้นเช่นนี้ ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาแอลป์จะละลายหายไปมากกว่า 80% จากขนาดปัจจุบัน ภายในปี 2100 ซึ่งในปัจจุบันธารน้ำแข็งแห่งนี้ก็หดลงเกือบ 3 กิโลเมตรแล้ว ขณะที่ความหนาของแผ่นน้ำแข็งลดลงถึง 200 เมตร
ภาพจาก รอยเตอร์