รีเซต

ไทยพบ BQ.9 แล้ว 9 ราย - XBB 13 ราย ไม่มีสัญญาณรุนแรง

ไทยพบ BQ.9 แล้ว 9 ราย - XBB 13 ราย ไม่มีสัญญาณรุนแรง
TNN ช่อง16
23 พฤศจิกายน 2565 ( 09:21 )
75

ไทยพบ BQ.9 แล้ว 9 ราย - XBB 13 ราย ไม่มีสัญญาณรุนแรง


นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากการตรวจเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ในประเทศ และติดตามสายพันธุ์น่ากังวลที่อาจพบจากผู้เดินทางเข้าประเทศ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (12-18 พ.ย. 65) ผลการตรวจเฝ้าระวัง พบว่า ในภาพรวม สัดส่วนของ BA.2.75 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 42.9 จากสัปดาห์ก่อนที่มีสัดส่วนร้อยละ 23.6 


นอกจากนี้ ยังพบสายพันธุ์ BQ.1 ที่ระบาดในอเมริกา และยุโรป จำนวน 9 ราย ส่วนสายพันธุ์ XBB ที่ระบาดมากในสิงคโปร์ พบจำนวน 13 ราย อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบสัญญาณความรุนแรงของเชื้อที่กลายพันธุ์ แต่อาจจะทำให้มีการแพร่และติดเชื้อง่ายขึ้น


นายแพทย์ศุภกิจ ระบุเพิ่มเติมว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังคงเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ร่วมกับเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล (GISAID) อย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามผลกระทบจากสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์น่ากังวลที่อาจมีผลต่อการแพร่เชื้อ ความรุนแรงของโรค ประสิทธิผลของมาตรการทางสาธารณสุข และคุณสมบัติของอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของเชื้อไวรัส เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการออกแบบการรักษา การให้ยาต้านไวรัสหรือแอนติบอดีสังเคราะห์


นอกจากนี้ นายแพทย์ศุภกิจ ได้ย้ำว่า มาตรการทางสาธารณสุข การสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่แออัด การล้างมือ ยังสามารถรับมือกับการระบาดได้ทุกสายพันธุ์ ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถช่วยลดความรุนแรงของเชื้อได้



นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ยืนยันว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ไทยมีอยู่ขณะนี้ ยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกัน ความรุนแรงของโรค จึงอยากเชิญชวนให้คนไทยเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ไม่ต้องรอวัคซีนรุ่นที่ 2 เพราะตอนนี้ยังไม่แน่ชัดว่าจะเข้ามาในช่วงเวลาใด


นายแพทย์นคร ยังระบุอีกว่า เชื้อไวรัสโควิดได้กลายพันธุ์ไปมากและเร็ว มีสายพันธุ์ย่อยใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาวัคซีนให้ทันต่อการกลายพันธุ์ตลอดเวลานั้นเป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจากการพัฒนาวัคซีนในแต่ละครั้งจะต้องเริ่มกระบวนการใหม่ทั้งหมด และมีค่าใช้จ่ายในแต่ละครั้งค่อนข้างสูง ทำให้การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ต่อจากนี้ บริษัทผู้ผลิตส่วนใหญ่จะทำตามคำสั่งซื้อ จะไม่เหมือนในช่วงแรกที่ผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก


ส่วนวัคซีนโควิด-19 รุ่น 2 ซึ่งเป็นการพัฒนาวัคซีนโควิด2สายพันธุ์ คือ เชื้อไวรัสโควิดดั้งเดิม(อู่ฮั่น) กับ เชื้อไวรัสโควิด โอมิครอน สายพันธุ์แรก BA.1 ขณะนี้มีเพียง ไฟเซอร์ และ โมเดอร์น่า ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ได้ ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปบางประเทศ เช่นที่อังกฤษ 


สำหรับประเทศไทยอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีนรุ่น 2 รวมถึงต้อง พิจารณา สถานการณ์การแพร่ระบาด สถานการณ์ของเชื้อกลายพันธุ์ก่อนที่จะมีการพิจารณาจัดซื้อ 



ประเทศไทยขณะนี้ ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหน ก็จะเจอนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างประเทศเต็มพื้นที่ แน่นอนว่า รัฐบาลชุดนี้บริหารจัดการปัญหาได้ประสบผลสำเร็จ จนทำให้ไทยหลุดพ้นจากวิกฤตโควิดเป็นประเทศแรกๆ ของโลก ผลที่ตามมาก็คือ ไทยเปิดประเทศฟื้นเศรษฐกิจได้ก่อนก็เลยทำให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวในไทยเป็นจำนวนมาก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง