รีเซต

เพนกวิน-โคอาลาล้มตาย เหตุเพราะโลกร้อนแผลงฤทธิ์

เพนกวิน-โคอาลาล้มตาย เหตุเพราะโลกร้อนแผลงฤทธิ์
TNN ช่อง16
22 กันยายน 2564 ( 20:53 )
87

หมีโคอาลาจำนวนลดลงเกือบครึ่ง 


มูลนิธิโคอาลา ซึ่งเป็นองค์กรอิสระไม่แสวงหากำไร ประเมินว่า ประชากรหมีโคอาลา ลดเหลือไม่ถึง 58,000 ตัวในปีนี้ จากเดิมก่อนหน้าเมื่อปี 2018 ประชากรหมีโคอาลาในออสเตรเลีย ยังมีมากกว่า 80,000 ตัว โดยเฉพาะรัฐนิวเซาท์เวลส์ ที่เผชิญสถานการณ์ประชากรหมีโคอาลาลดลงอย่างฮวบฮาบ ถึง 41% 

              

ทั้งนี้ การลดลงของประชากรหมีโคอาลาในรัฐนิวเซาท์เวลส์  เป็นไปตามที่คาดหมายเอาไว้  หลังเกิดไฟป่าครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2019 และต้นปี 2020  


อย่างไรก็ตาม เดโบราห์ ทาบาร์ต ประธานมูลนิธิโคอาลา ออสเตรเลีย กำลังเรียกร้องว่าออสเตรเลียจำเป็นต้องมีกฏหมายคุ้มครองโคอาลาอย่างเร่งด่วน หลังจากที่ถูกระบุว่าในรายชื่อบัญชีถูกคุกคามเมื่อปี 2012 และมีจำนวนลดลงต่อเนื่อง


เพนกวินหายากตายกว่าครึ่งร้อย 


ด้านกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติในแอฟริกาใต้ เปิดเผยเมื่อวานนี้ (20 กันยายน) ว่า พบ 'นกเพนกวินพันธุ์แอฟริกาใต้' ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ตายลงมากถึง 63 ตัว ภายในเขตอนุรักษ์นกเพนกวินโบลเดอร์ ในเมืองไซมอนส์ ทาวน์ ของแอฟริกาใต้ สาเหตุจากถูกผึ้งต่อยตาย โดยเหตุเกิดเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว


มีผู้พบซากนกเพนกวินเมื่อวันศุกร์ (17 กันยายน) ผลการตรวจสอบซากนกเบื้องต้น พบเหล็กไนผึ้งฝังอยู่หลายจุดบนผิวของซากนกเพนกวิน เจ้าหน้าที่ยังพบซากผึ้งตายอีกจำนวนมากบนชายหาดโบลเดอร์ใกล้ ๆ กับซากนกด้วย


"แปลกประหลาด และผิดปกติ"


ด้าน ดร. คัตตา ลูดีเนีย ผู้จัดการด้านวิจัย มูลนิธิอนุรักษ์นกชายฝั่งในแอฟริกาใต้ เรียกเหตุการณ์นี้ว่าเป็น “เหตุที่แปลกประหลาดและผิดปกติ” 


ดร. ลูดีเนียกล่าวว่า นี่เป็นเหตุการณ์ที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกิดขึ้น และผิดปกติอย่างมาก และเป็นเรื่องน่าเศร้ามาก ที่โลกต้องสูญเสียนกเพนกวินพันธ์ุที่กำลังใกล้จะสูญพันธุ์ ไปพร้อม ๆ กันถึงกว่า 60 ตัว 


นกเพนกวินพันธุ์นี้ มีเหลืออยู่ในธรรมชาติน้อยมาก น้อยเกินกว่าที่จะสูญเสียไปเป็นจำนวนมากเช่นนี้ได้ จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอย่างแปลกประหลาด และทางมูลนิธิพยายามอนุรักษ์นกเพนกวินทุก ๆ ตัวที่ยังเหลืออยู่ แต่กลับต้องมาสูญเสียพวกมันเป็นจำนวนมากในคราวเดียว


โลกร้อนอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นสัตว์สูญพันธุ์


แม้กรณีของเพนกวิน ยังไม่อาจพิสูจน์สาเหตุการตายได้ แต่โคอาลานั้นกำลังเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาวะโลกร้อน 


จากฐานข้อมูลของสำนักข่าว BBC พบว่า โลกมีวันร้อนจัดทะลุ 50 องศาฯ เพิ่มกว่า 2 เท่าของ 40 ปีก่อน และจะทำให้ทุกชีวิตบนโลกใช้ชีวิตกันยากลำบากมากขึ้น


ช่วงปี 1980-2009 มีวันที่ร้อนเกิน 50 องศาฯ 14 วัน แต่ช่วงปี 2010-2019 เพิ่มเป็นถึง 26 วัน และกระจายไปในหลายพื้นที่ทั่วโลก


"และจำนวนวันที่ร้อนจัดเหล่านี้ จะเพิ่มขึ้น 100% หากยังคงมีการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไป" ดร.เฟรเดริก อ๊อตโต ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกล่าว


อากาศร้อนจัดยังทำให้เกิดภัยแล้ง และไฟป่ามีแนวโน้มสูงขึ้น อีกทั้งหลายพื้นที่อาจกลายสภาพไปเป็นทะเลทราย ที่ไม่สามารถให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตใด ๆ ได้อีกเลย


นักวิทยาศาสตร์เรียกร้องให้เหล่าผู้นำโลกออกมาตราการที่จริงจังเพื่อรับมือโลกร้อน ระหว่างการประชุมว่าด้วยเรื่องสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงที่เมืองกลาสโกลว์ ของสก็อตต์แลนด์ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ และขอให้รัฐบาลทุกชาติให้คำมั่นที่จะตัดลดการปล่อยก๊าซ เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงไปเร็วกว่านี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง