รีเซต

รู้หรือไม่ ? “ดาวตก-อุกกาบาต” ตกสู่โลกวันละล้านดวง หนัก 44-48 ตัน

รู้หรือไม่ ? “ดาวตก-อุกกาบาต”  ตกสู่โลกวันละล้านดวง หนัก 44-48 ตัน
TNN ช่อง16
6 มีนาคม 2567 ( 20:47 )
12
รู้หรือไม่ ? “ดาวตก-อุกกาบาต”  ตกสู่โลกวันละล้านดวง หนัก 44-48 ตัน

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. อธิบายว่า ดาวตก (Meteorite) เกิดจากการที่วัตถุท้องฟ้าขนาดเล็กผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลก เสียดสีกับชั้นบรรยากาศที่ระดับความสูงประมาณ 80-120 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นแสงสว่างวาบพาดผ่านท้องฟ้ายิ่งวัตถุมีขนาดใหญ่ ความร้อนและแสงสว่างก็มากตามไปด้วย ซึ่งลูกไฟสีเขียวที่ถูกบันทึกในคลิปวิดีโอและภาพถ่ายที่ถูกเผยแพร่ผ่านช่องทางโซเชียล เป็นดาวตกขนาดใหญ่ และสว่างมากใกล้เคียงกับความสว่างของดาวศุกร์ จึงสันนิษฐานว่าเป็น “ดาวตกชนิดลูกไฟ” (Fireball) และแสงสีเขียวของดาวตกที่ว่า ก็บอกได้ถึงส่วนประกอบของ “ธาตุนิกเกิล” ซึ่งเป็นธาตุโลหะ



“ดาวตก” ปรากฏการณ์ปกติ ตกวันละล้านดวง หนัก 44-48 ตัน !!


พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า ในแต่ละวันจะมีวัตถุขนาดเล็กผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกเป็นจำนวนมาก พบเห็นได้ในลักษณะคล้ายดาวตก และยังมีอุกกาบาตตกลงมาถึงพื้นโลกประมาณวันละ 44-48.5 ตัน แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ที่วัตถุเหล่านั้นไปตก มักเป็นจุดที่ห่างไกลผู้คน จึงไม่ได้พบเห็นบ่อย ๆ



เช่นเดียวกับ เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยแพร่ข้อมูล ดร.มติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ จาก สดร. ระบุว่า “ดาวตก” เสียดสีกับชั้นบรรยากาศของโลก และเผาไหม้ไปก่อนถึงพื้นโลก .. “ในแต่ละวันมีดาวตกประมาณหนึ่งล้านดวงตกลงมาในชั้นบรรยากาศของโลก”.. แต่ครึ่งหนึ่งตกในเวลากลางวันที่สังเกตได้ยาก และอีกส่วนมากตกลงในทะเล หรือพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีใครสังเกตเห็น



“ดาวตก-อุกกาบาต” ต่างกันอย่างไร ?


นอกจากนี้ยังจำแนกความแตกต่างระหว่างดาวตกกับอุกกาบาตด้วยว่า แม้จะมีต้นกำเนิดเดียวกันแต่อุกกาบาตเป็นลักษณะแทนตัว "ก้อน" ที่สามารถจับต้องได้ หรือให้เข้าใจง่ายก็คือ ถ้าเห็นเป็นลูกไฟ จะเรียกว่า "ดาวตก" แต่ถ้าหยิบมาเป็นก้อนเรียกว่า "อุกกาบาต" และ "อุกกาบาต" ก็ต่างจาก "ดาวเคราะห์น้อย" ตรงที่อุกกบาตหมายถึงวัตถุที่ตกลงมายังพื้นโลกแล้ว 


ส่วนดาวหาง เป็นก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะ เมื่อเข้ามาใกล้ระบบสุริยะชั้นในแล้วอาจจะระเหยออก ทิ้งเป็นก้อนแก๊สและเศษน้ำแข็งขนาดเล็กไปตามวงโคจร ปรากฏเป็นหางยาวออกมา จึงเรียกว่า "ดาวหาง" แต่ดาวหางไม่ได้เกิดในชั้นบรรยากาศของโลก แต่อยู่ห่างไกลออกไปมาก นอกจากนี้ก็ยังมีขยะอวกาศที่ไม่ใช่ทั้งอุกกาบาตหรือดาวเคราะห์น้อย แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างในวงโคจร ที่บางทีก็ตกลงมาในชั้นบรรยากาศของโลก และเผาไหม้ไป ก็ถือเป็นดาวตกได้เช่นกัน



สี-แสงสว่าง บอกชนิดธาตุองค์ประกอบ “ดาวตก”


ดาวตกปรากฏสีสว่างที่แตกต่างกัน นั่นเป็นเพราะเศษหินและฝุ่นของดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย เสียดสีและเผาไหม้ขณะพุ่งเข้ามาชนกับชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูงมาก ทำให้อะตอมของดาวตกเปล่งแสงออกมาในช่วงคลื่นต่าง ๆ โดยสีของดาวตกขึ้นอยู่กับสองปัจจัยได้แก่ องค์ประกอบทางเคมี และ โมเลกุลของอากาศโดยรอบซึ่งชนกับตัวดาวตกอย่างรุนแรงจนเกิดความร้อนสูง สีของดาวตกมาจากแสงที่เปล่งออกมาจากอะตอมโลหะของดาวตก ซึ่งแตกต่างกันไปตามองค์ประกอบทางเคมี ได้แก่


-อะตอมแคลเซียม ( Ca ) ให้แสงสีออกโทนม่วง

-อะตอมแมกนีเซียม ( Mg ) และนิกเกิล ( Ni ) ให้แสงสีฟ้าเขียว

-อะตอมโซเดียม ( Na ) ให้แสงสีส้มเหลือง 

-ในขณะที่โมเลกุลในชั้นบรรยากาศโลก จะมีอะตอมของออกซิเจน ( O ) และไนโตรเจน ( N ) เป็นองค์ประกอบ ซึ่งจะให้แสงสีแดง


ดังนั้น สีของดาวตกจึงขึ้นอยู่กับการเปล่งแสงขององค์ประกอบแต่ละชนิด และการเปล่งแสงของอากาศโดยรอบตัวดาวตกที่ร้อนจัด ซึ่งมักจะให้แสงสีแดงและสีเขียวเป็นหลัก ขึ้นอยู่กับความสูงจากพื้นโลก



ในขณะที่ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” ถึงรายละเอียดประเภทของอุกกาบาต  (meteorite) หรือ ชิ้นส่วนของสะเก็ดดาวที่สลายตัวไม่หมดจนตกลงมาถึงพื้นโลก แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ

-    หิน (stone)

-    เหล็ก (iron)

-    และเหล็กปนหิน (Stone-Iron)



ส่วนใหญ่อุกกาบาตที่พบมักจะถูกเผาไหม้จนมีขนาดเล็กหรือสลายไปหมดก่อนถึงพื้นโลก แต่บางครั้งเราจะได้ยินข่าวคราวว่าชิ้นส่วนขนาดใหญ่ที่ตกถึงพื้นโลกและทิ้งร่องรอยหลุมขนาดใหญ่ไว้ แต่ขนาดอุกกาบาตที่เป็นอันตรายถึงขั้นล้างโลกได้ ต้องมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 กิโลเมตรขึ้นไป และปัจจุบัน หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงคือ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ องค์การนาซา โดยมียานสำรวจอวกาศ หรือ แผนก NASA Spaceguard Survey คอยเฝ้าระวังและตรวจจับวัตถุขนาดใหญ่ก่อนที่จะเข้าใกล้โลก



เรียบเรียงโดย : จิตฤดี บรรเทาพิษ

ข้อมูล : เฟซบุ๊กสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT), เฟซบุ๊ก “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์”

ภาพ : TNN ข่าวเที่ยง , ทีมกราฟิก TNN , เอกพงศ์ ประดิษฐ์พงษ์ ผู้สื่อข่าว TNN ประจำ จ.เชียงใหม่

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง