รีเซต

ข่าวนี้จริงไหม?... พบปลาออร์ฟิซ ลางบอกเหตุแผ่นดินไหว ?

ข่าวนี้จริงไหม?...  พบปลาออร์ฟิซ ลางบอกเหตุแผ่นดินไหว ?
TNN ช่อง16
14 มกราคม 2567 ( 09:07 )
93

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับทีมข่าว TNN Exclusive ว่าการพบปลาออร์ฟิซ หรือ ปลาพญานาค ที่ประเทศไทย ไม่ใช่ลางบอกเหตุเกิดแผ่นดินไหว หรือ ภัยพิบัติ แต่เป็นความเชื่อที่มีมานาน โดยเฉพาะในประเทศที่มักจะเกิดแผ่นดินไหว  อย่างเช่นประเทศญี่ปุ่น ประเทศจีน บางครั้งเป็นความบังเอิญที่สอดคล้องกับการพบเจอสัตว์หายาก เช่น พบปลาออร์ฟิซก่อนล่วงหน้า 3 วัน จึงเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ปัจจุบันนี้ทางวิทยาศาสตร์ยังไม่มีการยืนยันว่าการพบเจอสัตว์ต่าง ๆ ที่หายากจะเป็นลางบอกเหตุแผ่นดินไหว หรือ ภัยพิบัติ แต่หากมองว่าการรับรู้ของสัตว์จะรับรู้ถึงความผิดปกติทางธรรมชาติได้มากกว่ามนุษย์เป็นเรื่องจริง แต่จะรับรู้ได้ระยะเวลาไม่นานก่อนเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ ไม่สามารถทำนายล่วงหน้าได้หลายวัน



โดย ปลาออร์ฟิซ มีหลายชื่อที่ใช้เรียก เช่น ปลาพญานาค ปลาริบบิ้น และปลาใบไม้ เป็นต้น ปกติจะอาศัยอยู่ในทะเลน้ำลึกระดับ 200 - 1,000 เมตร นาน ๆ จะได้เห็นปลาชนิดนี้มาเกยตื้นที่ฝั่ง ซึ่งหากมาเกยตื้นเองส่วนใหญ่จะเป็นปลาที่ป่วยหรือใกล้ตาย หากพบเห็นต้องนำมารักษา เพื่อทำการอนุรักษ์ต่อไป เนื่องจากเป็นปลาหายากและไม่มีพิษ 


กรณีที่พบปลาออร์ฟิซที่ไทยเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เป็นการติดอวลจับปลามา ซึ่งคาดว่าเกิดจากปรากฏการณ์มหาสมุทรอินเดียสลับสองขั้ว หรือเรียกว่าปรากฎการณ์ Indian Ocean Dipole (IOD) ทำให้มหาสมุทรอินเดียบริเวณเขตศูนย์สูตร มีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเย็นผิดปกติ เกิดการถ่ายเทของน้ำ ซึ่งอาจดึงดูดให้มีสัตว์น้ำประเภทที่กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร รวมถึงสัตว์น้ำทะเลลึกและอยู่นอกฝั่ง ให้ตามเข้ามาใกล้ฝั่งมากยิ่งขึ้น



ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยมีผู้บริจาค ปลาพญานาค ไว้จัดแสดงที่ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จังหวัดปัตตานี เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้  สามารถไปเข้าชมได้


ทั้งนี้การพบปลาหายาก เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่มี ฝูงปลาซาร์ดีนขนาดเล็ก เกยตื้นที่ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งคนในท้องถิ่นมองว่า เป็นพรของพระเจ้าที่ประทานปลามาให้ พวกเขานำไปขาย แต่คนนอกอาจจะตื่นตกใจว่าอาจจะเกิดเหตุภัยพิบัติ แต่จริง ๆ แล้วเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากหารเปลี่ยนแปลงของน้ำทะเลนั่นเอง 





เรียบเรียงโดย : ธัญญาพร สุวรรณรัตน์

ผู้สื่อข่าว คอลัมน์ ข่าวนี้จริงไหม ?

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง