"ล่องเรือสำราญหรู" เติบโตพุ่ง สวนเศรษฐกิจฟุบ l การตลาดเงินล้าน

สื่อบิซิเนส อินไซเดอร์ รายงานว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา แต่อุตสาหกรรมเรือสำราญยังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ต่างจากธุรกิจสายการบินที่กำลังลดเที่ยวบิน เนื่องจากชาวอเมริกันเดินทางกันน้อยลง
เห็นได้จากผลประกอบการ ไตรมาสแรก ของบริษัทเรือสำราญยักษ์ใหญ่ ทั้ง คาร์นิวัล (Carnival) และ รอยัล แคริบเบียน (Royal Caribbean) พบว่า ยังเติบโตดี และ บอกด้วยว่าจะเพิ่มการบริการให้มากขึ้นอีกในปีนี้ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงวันหยุดพักผ่อน
และด้วยธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นมากกว่าสายการบิน จึงทำให้ผู้โดยสาร(นักเดินทาง) สามารถควบคุมค่าใช้จ่าย หรือประหยัดงบประมาณได้อีกด้วย
แต่สายการบิน มีสถานการณ์ที่ต่างกันออกไป เช่น สายการบิน ยูไนเต็ด (United) ที่เผยคาดการณ์ผลประกอบการในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยเตือนว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอย อาจทำให้กำไรของ บริษัทฯ ลดลงไป 1 ส่วนจาก 3 ส่วน รวมถึง สายการบินในสหรัฐฯ โดยรวม ยังมีแผนที่จะลดจำนวนเที่ยวบินด้วย เนื่องจากความต้องการตั๋วโดยสารภายในประเทศลดลง นักท่องเที่ยวต่างชาติหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังสหรัฐฯ และการเดินทางของบุคลากรของรัฐบาลก็ลดลง
ด้าน เฮนรี่ ฮาร์เดอเวลท์ (Henry Hardevelt) นักวิเคราะห์ด้านการเดินทางจาก แอตโมสเฟียร์ รีเสิร์ช กรุ๊ป (Atmosphere Research Group) กล่าวกับ บิซิเนส อินไซเดอร์ บอกว่า ข้อดีของธุรกิจเรือสำราญ ก็คือมีฐานลูกค้าที่หลากหลาย สามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศจำนวนมากได้ และปัจจุบันก็มียอดจองที่สูงขึ้น
และกล่าวอีกว่า ธุรกิจเรือสำราญมีแบรนด์และเส้นทางการเดินทางที่หลากหลาย สามารถรองรับกับความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้าได้ เช่น ในเรือลำเดียว มีห้องโดยสารให้เลือกหลายแบบ จึงสามารถดึงดูดนักเดินทางได้หลากหลายกลุ่ม
การเดินทางโดยเรือสำราญแบบรวมทุกอย่าง จะช่วยให้ผู้โดยสารจัดการงบประมาณได้ดีขึ้น เพราะ สามารถควบคุมงบประมาณได้โดยไม่จำเป็นต้องลดความสนุกสนานในการเดินทางลง เช่น พวกเขาสามารถยกเลิกแพ็กเกจ เครื่องดื่ม หรือแพคเกจทัวร์ และเลือกที่จะอยู่แต่ในเรือ เพื่อชมการแสดง และอาหาร ซึ่งค่าใช้จ่ายจะรวมอยู่ในตั๋วโดยสารอยู่แล้ว วิธีการนี้จะทำให้การล่องเรือ มีราคาถูกกว่า หรือคุ้มค่ากว่าการเดินทางแบบทั่วไป
ขณะเดียวกัน ผู้คนจะสามารถขึ้นเรือได้จากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งไม่ใช่แค่จากสหรัฐฯ เท่านั้น ปัจจุบัน สายการบินกำลังเผชิญกับผู้โดยสารจากแคนาดา และยุโรป ที่จองตั๋วเครื่องบินลดลง จนทำให้สายการบิน ต้องลดเที่ยวบินในปีนี้ลง แต่สำหรับเรือสำราญจะไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้มากนัก เพราะหากผู้โดยสารต้องการใช้บริการเรือสำราญ แต่ไม่ต้องการขึ้นที่ท่าเรือในสหรัฐฯ ก็สามารถไปขึ้นเรือที่ท่าเรือ ที่ประเทศอื่นได้
และการเดินทางโดยเรือสำราญ ยังต่างกับสายการบิน ตรงที่ สายการบินเป็นวิธีการเพื่อให้ไปถึงจุดหมายปลายทางเท่านั้น แต่เรือสำราญ เป็นมากกว่ายานพาหนะ เพราะคือเป็นประสบการณ์ของการท่องเที่ยว และการพักผ่อน
นอกจากนี้ ข้อมูลจาก ทราเวล แอนด์ ทัวร์ เวิลด์ (TRAVEL AND TOUR WORLD) ซึ่งเป็นสื่อเว็บไซต์ด้านการท่องเที่ยว รายงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเรือสำราญสุดหรูไว้ โดยระบุว่า กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว จากปี 2023 ตลาดมีมูลค่า อยู่ที่ 8,110 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าในปี 2030 หรือในอีก 5 ปีข้างหน้า ตลาดจะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 18,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย ที่ร้อยละ 12.32 ต่อปี
การเติบโตอย่างน่าทึ่งนี้ ขับเคลื่อนโดยความมั่งคั่งระดับโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเอเชีย และละตินอเมริกา ที่ความมั่งคั่งของคนชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น และด้วยอำนาจซื้อที่เพิ่มขึ้นทำให้สามารถซื้อทัวร์ล่องเรือสุดหรูได้ ฐานลูกค้าทั่วโลกจึงขยายตัวมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังถูกขับเคลื่อนจากความต้องการเดินทางแบบส่วนตัว ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น รวมไปถึง นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม และความต้องการด้านประสบการณ์
ซึ่งการท่องเที่ยวโดยเรือสำราญหรูในยุคใหม่ กำลังดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ร่ำรวย โดยเฉพาะกลุ่มคน เจน เอ็กซ์ และ เบบี้ บูมเมอร์แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 40-50 ปี ซึ่งคนเหล่านี้จะให้ความสำคัญกับบริการระดับไฮเอนด์ อาหารชั้นเลิศ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และสิ่งอำนวยความสะดวกแบบพิเศษ
ขณะที่ ผู้ประกอบการเรือสำราญชั้นนำ เช่น รอยัล แคริบเบียน (Royal Caribbean), นอร์วีเจียน (Norwegian) และ คาร์นิวัล (Carnival) ก็ได้ขยายธุรกิจเข้าสู่กลุ่มลูกค้าระดับบนมากขึ้น สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทั่วโลกในวงกว้างไปสู่การเดินทางเพื่อสัมผัสกับประสบการณ์อีกรูปแบบหนึ่ง
ส่วนพัฒนาการของตลาดท่องเที่ยวเรือสำราญทั่วโลก สหรัฐอเมริกา ยังเป็นกำลังสำคัญของตลาดนี้ และเป็นที่ตั้งของผู้นำในอุตสาหกรรม เช่น เซเลบริตี้ ครูซเซส (Celebrity Cruises), รอยัล แคริบเบียน (Royal Caribbean) และ ดีสนีย์ ครูซ ไลน์ (Disney Cruise Line) ทั้งยังมีพัฒนาการที่ล้ำไปอีก ด้วยการปรับปรุงเรือสำราญ ให้เป็นที่พักอาศัยสุดหรู คือ จะเป็นเหมือนที่พักอาศัยลอยน้ำ และให้บริการเดินทางทั่วโลกตลอดทั้งปี
สำหรับ ยุโรป ยังคงเป็นเส้นทางที่ได้รับความนิยมสูงสุด ส่วน เอเชียตะวันออก ทั้ง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นจุดหมายปลายทางของการล่องเรือสุดหรูที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์ กำลังลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเดินเรือ เพื่อสร้างตัวเองให้เป็นศูนย์กลางการล่องเรือสุดหรู ขณะเดียวกัน เวียดนาม และ ไทย ก็กำลังดึงดูดความสนใจผ่านการพัฒนาท่าเรือใหม่ และเส้นทางท่องเที่ยวโดยเรือสำราญสุดพิเศษ ที่เน้นไปถึงทรัพยากรทางวัฒนธรรมและธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์
ส่วนที่ประเทศไทยมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเรือสำราญด้วยเช่นกัน โดยชูศักยภาพในการเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของเรือสำราญ อย่างเช่นเมื่อปลายเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จับมือร่วมกับแบรนด์เรือสำราญ สตาร์ดรีม ครูซเซส (StarDream Cruises) นำเรือ สตาร์ วัวยาเชอร์ (Star Voyager) เข้ามาให้บริการขึ้นลงที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก
โดยเปิดเส้นทาง แหลมฉบัง – เกาะสมุย – สิงคโปร์ รวม 6 วัน 5 คืน ซึ่งจะมี 2 ครั้ง คือ ระหว่างวันที่ 22 - 27 เมษายนที่ผ่านมา และอีกครั้งที่กำลังจะมีขึ้นคือวันที่ 7-12 พฤษภาคม 2568 นี้
ด้านคุณ ภัทรอนงค์ ณ เชียงใหม่ รองผู้ว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ บอกว่า ความร่วมมือนี้ เป็นก้าวสำคัญระหว่าง ททท. และผู้ประกอบการท่องเที่ยวเรือสำราญแบรนด์ระดับโลก ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญในประเทศไทย และยังเป็นโอกาสที่จะนำเสนอศักยภาพของไทย ในการเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่สำคัญของนักท่องเที่ยวโดยเรือสำราญในภูมิภาค
ซึ่งนักท่องเที่ยวโดยเรือสำราญ จะมีการใช้จ่ายเงินค่อนข้างสูง การมีเรือสำราญเข้ามาเทียบท่า จะเป็นการเพิ่มช่องทางการเดินทางของต่างชาติเข้าไทยได้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ต้อนรับเรือสำราญมาอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2567 มีจำนวน 162 เที่ยว มีผู้โดยสารทั้งหมด 379,036 คน และลูกเรือ 163,331 คน และสร้างรายได้เข้าไทยถึง 1,890 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2566 คิดเป็นอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 6.9 และยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องอีก
ปัจจุบัน ท่าเรือ ที่รองรับเรือสำราญมากที่สุด อันดับ 1 ได้แก่ อ่าวป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ถัดมาคือ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี, เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี, ท่าเรือน้ำลึก จังหวัดภูเก็ต และ อันดับ 5 คือ ท่าเรือศรีราชา จังหวัดชลบุรี
โดยนักท่องเที่ยวที่มากับเรือสำราญส่วนใหญ่มาจากประเทศสิงคโปร์, สหราชอาณาจักร, มาเลเซีย, สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี ตามลำดับ