รีเซต

มาช้าแต่มาแล้ว! Tesla เริ่มจัดส่งระบบ 'Full Self-Driving' รุ่นเบต้า 9 หลังจากล่าช้าไปนาน

มาช้าแต่มาแล้ว! Tesla เริ่มจัดส่งระบบ 'Full Self-Driving' รุ่นเบต้า 9 หลังจากล่าช้าไปนาน
TNN ช่อง16
11 กรกฎาคม 2564 ( 12:16 )
130
มาช้าแต่มาแล้ว! Tesla เริ่มจัดส่งระบบ 'Full Self-Driving' รุ่นเบต้า 9 หลังจากล่าช้าไปนาน

ข่าววันนี้คงถูกใจแฟน ๆ Tesla เพราะล่าสุด Tesla ได้เริ่มส่งระบบซอฟต์แวร์ด้วยวิธีการแบบ Over-the-air สำหรับระบบ "Full Self-Driving" รุ่นเบต้า 9 ที่ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ 100% แต่ก็เป็นระบบขับเคลื่อนขั้นสูงที่แฟน ๆ ต่างก็รอคอยกันมานานอย่างแน่นอน

 

 

ในที่สุดก็มาตามที่ Elon Musk ได้สัญญาไว้ โดยการอัปเดตซอฟต์แวร์ใหม่รุ่น (2021.4.18.12) ได้เริ่มอัปโหลดหลังเที่ยงคืนของวันศุกร์ ซึ่งทำให้เจ้าของ Tesla หลายพันคนที่ซื้อตัวเลือกแบบ FSD (Full Self-Driving) สามารถเข้าถึงฟีเจอร์นี้ได้ โดยระบบจะช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถใช้ฟีเจอร์ช่วยเหลือการขับขี่ขั้นสูงได้ทั้งบนถนนทางหลวงและบนถนนในท้องถิ่น

 

 

สำหรับระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติรุ่นเบต้า 9 นี้เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่รอคอยกันมานานจริง ๆ เพราะ Elon Musk เคยได้ออกมาให้สัญญาเรื่องระบบนี้มาสักระยะหนึ่งแล้ว โดยย้อนไปเมื่อปี 2018 เขากล่าวว่า FSD เวอร์ชันที่ทุกคนต่างก็ "รอคอยมานาน" จะเริ่มเปิดตัวในเดือนสิงหาคม พอปี 2019 เขาก็กล่าวถึงมันอีกครั้ง โดยประกาศว่าหนึ่งปีจากนี้เราจะมี “รถยนต์กว่าล้านคันที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ซอฟต์แวร์ และทุกอย่าง” จากนั้นไม่นานเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เขาก็อ้างว่าระบบ FSD 9 beta “กำลังจะจัดส่งในเร็วๆ นี้" ดังนั้นจะเรียกว่าแฟน ๆ ต่างก็รอคอยมานานจึงไม่ใช่คำพูดที่ผิดเลย

 

แต่คำถามที่แท้จริงคือ แล้วการออกมาอัปเดตระบบตอนนี้ พร้อมแล้วและเหมาะสมกับช่วงเวลาจริงหรือไม่? ซึ่งตัวของ Elon Musk เองก็ไม่ได้ให้คำตอบที่แน่ชัดแต่อย่างใด โดยเขาทวิตเกี่ยวกับระบบ FD Beta 9 ว่ามันสามารถจัดการกับปัญหาส่วนมากที่ทราบได้ แต่ก็อาจจะมีบางปัญหาที่ยังไม่ทราบสาเหตุ ขอให้ทุกคนไม่ต้องวิตกกังวล และยังเสริมอีกว่า "เรื่องของความปลอดภัย สำคัญสูงสุดเสมอสำหรับ Tesla" อย่างไรก็ตามในบันทึกที่มาพร้อมกับการอัปเดต ก็ได้มีข้อความเตือนว่า ระบบอาจจะทำสิ่งที่ผิดพลาดในเวลาที่แย่ที่สุด (It may do the wrong thing at the worst time) นอกจากนี้พวกเขายังกล่าวถึงการปรับปรุงการตรวจสอบคนขับของกล้องในห้องโดยสาร เพื่อตรวจสอบความใส่ใจ พร้อมกับการแสดงภาพที่ใหญ่ขึ้นและอัปเดตบนจอแสดงผลในรถยนต์ 

 

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า Tesla กระตือรือร้นกว่าคู่แข่งคนอื่น ๆ ในการที่จะทดสอบฟีเจอร์การช่วยเหลือคนขับรุ่น Beta กับลูกค้า เพื่อรวบรวมข้อมูลและหาจุดบกพร่องในระบบ และที่สำคัญลูกค้าของ Tesla ส่วนใหญ่ก็ยินดีกับสิ่งนี้ โดยพวกเขามักจะตามมาทวิตร้องขอในทวิตเตอร์ของ Elon เพื่อขอเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรม Early Access ของบริษัท ที่มีไว้เพื่อผู้ทดสอบระบบรุ่นเบต้า และจากโปรแกรมนี้เองก็ช่วยให้ชื่อเสียงของ Telsa ในฐานะผู้นำด้านการขับขี่แบบอัตโนมัติดีขึ้นมาก แม้ว่ายานพาหนะของ Tesla จะไม่ตรงกับที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าจะสามารถเรียกมันว่ารถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตนเองได้

 

 

และถึงแม้ว่าจะเป็นระบบที่เกือบจะช่วยให้เราขับขี่อัตโนมัติได้จริง ๆ แต่ก็ไม่ 100% โดย Tesla เตือนว่าผู้ขับขี่จะต้องมองถนนและจับพวงมาลัยตลอดเวลา แม้ว่า Tesla จะปฏิเสธที่จะรวมระบบตรวจสอบคนขับที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น (เช่น การติดตามดวงตาด้วยอินฟราเรด) เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าจะปฏิบัติตามเกณฑ์ความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ระบบ Autopilot ถือเป็นระบบ "อัตโนมัติบางส่วน" ระดับ 2 ตามมาตรฐานของ Society of Automotive Engineers (และโดยทนายความของ Tesla) ซึ่งกำหนดให้ผู้ขับขี่ต้องจับมือกับพวงมาลัยและไม่ละสายตาจากถนน แต่ถึงอย่างนั้น แฟน ๆ ที่ได้ทดลองขับก็เคยพิสูจน์ให้เห็นกันมาแล้วว่าระบบของ Tesla สามารถหลอกได้ โดยเราสามารถหลอกให้มันตรวจจับได้ว่ามีคนนั่งอยู่ในที่คนขับ ซึ่งแน่นอนว่านำไปสู่อุบัติเหตุในเท็กซัส ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะมีการระบุว่าไม่มีใครนั่งอยู่หลังพวงมาลัยเมื่อเกิดเหตุ

 

 

แน่นอนว่าเรื่องนี้ก็ไม่ได้ทำให้เจ้าของ Tesla บางคนรู้สึกกลัวแต่อย่างใด แต่กลับทำให้พวกเขาสรรหาวิธีการต่าง ๆ ที่จะแหกกฎของระบบ Autopilot บางคนถึงขั้นลงทุนถ่ายทำและเผยแพร่ไว้ด้วยซ้ำ ในขณะที่หลาย ๆ เคสก็มาจากการที่คนขับไม่ยอมปฏิบัติตามกฎ เช่น ชายคนหนึ่งที่ถูกจับได้ว่าหลับในที่นั่งผู้โดยสารหรือเบาะหลังของรถเทสลา ขณะที่รถแล่นไปตามทางหลวงที่มีผู้คนพลุกพล่าน กับอีกกรณีของชายชาวแคนาดาที่ถูกตั้งข้อหาขับรถโดยประมาทเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเพราะเขาแอบงีบหลับไปด้วยในขณะที่รถทำความเร็วอยู่ที่ 93 ไมล์ต่อชั่วโมง (149.67 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) โดยมีสถิตินับตั้งแต่ Tesla เปิดตัวระบบ Autopilot ในปี 2015 ก็มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 11 รายจากอุบัติเหตุ 9 ครั้งในสหรัฐอเมริกาที่เกี่ยวข้องกับระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ตัวนี้

 

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ต้องการให้บริษัทรถยนต์รายงานการชนที่เกี่ยวข้องกับยานพาหนะที่ขับขี่แบบอัตโนมัติ หรือระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูง ภายในหนึ่งวันหลังจากเกิดเหตุการณ์ ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ส่งสัญญาณถึงจุดยืนที่เข้มงวดยิ่งขึ้นเกี่ยวกับระบบอัตโนมัติเหล่านี้ ก็คงต้องจับตากันต่อไปว่า การอัปเดตระบบครั้งนี้จะนำไปสู่ความสามารถในการขับขี่ที่สะดวกสบายมากขึ้น หรือเราจะได้เห็นกรณีศึกษาใหม่ ๆ ของการใช้ระบบจากกลุ่มลูกค้ากันแน่

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

theverge

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง