รีเซต

เฉลียงไอเดีย : ณัฐพล วิมลเฉลา ขับเคลื่อน‘สยามราชธานี’ สู่วิถี New Normal

เฉลียงไอเดีย : ณัฐพล วิมลเฉลา ขับเคลื่อน‘สยามราชธานี’ สู่วิถี New Normal
มติชน
26 กรกฎาคม 2563 ( 14:35 )
203
เฉลียงไอเดีย : ณัฐพล วิมลเฉลา ขับเคลื่อน‘สยามราชธานี’ สู่วิถี New Normal

เฉลียงไอเดีย : ณัฐพล วิมลเฉลา ขับเคลื่อน‘สยามราชธานี’ สู่วิถี New Normal

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลสะเทือนไปทั้งโลก ทั้งภาวะสังคมและเศรษฐกิจ ส่งผลหลายธุรกิจประสบปัญหาจนต้องปิดกิจการ ส่วนที่รอดมาได้ก็ต้องปรับตัวสู่วิถีใหม่ หรือนิว นอร์มอล เพราะดูท่าแล้วเราต้องอยู่กับโควิด-19 ไปอีกยาวนาน

โดยเรื่องนี้ ณัฐพล วิมลเฉลา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วัย 33 ปี บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) บอกว่าโควิด-19 จะเป็นตัวผลักดัน เร่งให้หลายๆ องค์กรต้องปรับกลยุทธ์ และลงทุนด้านดิจิทัล เพื่อปรับเปลี่ยนเป็นธุรกิจดิจิทัล หรือ Digital Transformation ให้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถรับมือ ฟื้นฟูธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว เมื่อโควิด-19 ผ่านพ้นไป และยังเป็นการเตรียมพร้อมรับวิกฤตอื่นๆ ที่จะตามมาอีกในอนาคต “ผมมองว่าโควิด-19 เป็นแค่ช่วงเริ่มต้น ยังมีมรสุมอีกหลายรูปแบบที่เราต้องเจอ”

นี่คือการเกริ่นนำของ “ณัฐพล” ทายาทรุ่นที่ 3 ของสยามราชธานี

พื้นฐานเดิมของ “ณัฐพล” เป็นคนสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอยู่แล้ว จบปริญญาตรี สาขา Physics จาก University of Manchester ต่อปริญญาโท สาขา Technology Policy Micro and Nanotechnology Enterprise, Emmanuel College, University of Cambridge

หลังสำเร็จการศึกษา “ณัฐพล” ได้หาประสบการณ์และเรียนรู้เพิ่มเติมจากแหล่งที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งนวัตกรรมใหม่ๆ ของโลก อย่าง ซิลิคอน วัลเลย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมๆ กับเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ อยู่หลายปี

“ณัฐพล” บอกว่า ขณะนี้ได้ผ่านช่วงยุคเริ่มต้นของดิจิทัล (Digitalization) มาแล้ว ตลาดและผู้บริโภคเริ่มคุ้นชินกับพฤติกรรมใหม่ ยุคที่นวัตกรรมเทคโนโลยีตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น มีการพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องคุณภาพ ราคา และความเร็ว หรือ “ถูก ดี และเร็ว” เข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าธุรกิจในลักษณะเดียวกับที่อีเมล์เข้ามาแทนที่การส่งจดหมาย เทรนด์นี้จะเกิดขึ้นกับธุรกิจเอาต์ซอร์ซ เช่นกัน

“การปรับเปลี่ยนเป็นธุรกิจดิจิทัลนั้น ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการลงทุนเทคโนโลยีดิจิทัลแต่เพียงด้านเดียว แต่ต้องทำหลายอย่างประกอบกันโดยยึด “ความเร็ว หรือ Speed” เป็นหลัก ในทุกๆ มิติ ทั้งการแก้ปัญหา ตัดสินใจ การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ต้องคิดเร็ว ทำเร็ว ทันกับความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค และเทคโนโลยี”

โดย “ณัฐพล” ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการต่อยอดธุรกิจเหมือนที่ “ไกร” ผู้เป็นบิดาได้ต่อยอดธุรกิจจากรากฐานเดิมที่จำหน่ายสินค้าเกษตรกรรมและสินค้าอุปโภคบริโภค และธุรกิจอาหารสัตว์ ที่ริเริ่มโดยผู้เป็นปู่ คือ มงคล วิมลเฉลา สู่ธุรกิจเอาต์ซอร์ซ คือ ธุรกิจจ้างเหมาบริการ (Outsourcing Services) ดูแลภูมิทัศน์ในปี 2524 ซึ่ง “ณัฐพล” จะให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้กับธุรกิจเอาต์ซอร์ซ เพื่ออำนวยความสะดวก แก้ปัญหา ลดต้นทุนให้ลูกค้า ต่อยอดธุรกิจบนหลักคิด “ปรับเปลี่ยนเร็ว” ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

“ณัฐพล” มองว่าเทคโนโลยีจะทำให้ราคาสินค้าและบริการถูกลง เช่น สมาร์ทโฟนเมื่อเข้าได้ทั่วถึง ทำให้คนตัวเล็กมีพลังมากขึ้น และสิ่งนี้จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมธุรกิจเอาต์ซอร์ซในอนาคต จะเป็นไปในลักษณะเป็นเจ้าของธุรกิจด้วยตัวคนเดียว หรือ one man company ทุกอาชีพจะเหมือน Grab เป็นแบบ one man company คือทำเมื่อไรก็ได้ที่อยากทำ และไม่มีนายจ้าง

“ยังมีอีก 2 อย่างที่จะเปลี่ยนโลก คือ เทคโนโลยีเอไอ (ปัญญาประดิษฐ์) และบล็อกเชน หรือนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อความปลอดภัยสำหรับข้อมูลที่เปิดเผยได้ ผ่านแนวคิดการสร้างข้อมูลที่ทุกฝ่ายยอมรับซึ่งกันและกัน จากนั้นนำข้อมูลบันทึกลงในกล่องสี่เหลี่ยมโดยมีข้อมูลเหมือนกันทุกกล่อง และเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันในรูปแบบห่วงโซ่ ทำให้บล็อกเชนไม่ต้องผ่านตัวกลางในการส่งข้อมูลอีกต่อไป”

“ณัฐพล” บอกว่า เมื่อเทรนด์ธุรกิจเป็นไปในลักษณะของ one man company ผนวกกับธุรกิจจะนำบล็อกเชนเข้ามาใช้ ในอนาคตบล็อกเชนจะไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่เหมือนครั้งหนึ่งเราเคยตื่นเต้นกับการใช้อินเตอร์เน็ต ทุกวันนี้เราใช้อินเตอร์เน็ตเป็นการทั่วไปในชีวิตประจำวัน สยามราชธานีได้เตรียมความพร้อมรับยุค “Digital disruption” ที่จะเปลี่ยนโฉมธุรกิจเอาต์ซอร์ซในอนาคตอันใกล้ เป็นการชิง disrupt ตัวเอง ก่อนถูกเทคโนโลยี disrupt ขณะเดียวกัน จะให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันกับพันธมิตรทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) หรือการหาพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Alliances) โดยเฉพาะพันธมิตรต่างชาติที่เก่งกว่า เพราะเราต้องเรียนรู้จากพันธมิตร ต้องพัฒนา Product ของตัวเอง หากเรื่องไหนที่ไม่เก่งก็หาพันธมิตรทางธุรกิจ

“ที่ผมคิดไว้อยากให้สยามราชธานี เป็นส่วนหนึ่งในการช่วย Certify หรือการออกใบรับรอง สำหรับบุคลากรในธุรกิจเอาต์ซอร์ซว่ามีคุณภาพ และนำข้อมูลที่ได้เข้ามาจัดเก็บในระบบฐานข้อมูลของเรา ที่จะจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะ นี่คือสิ่งที่จะทำในอนาคต”

พร้อมทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปเรียนรู้เรื่องฟินเทค สตาร์ตอัพ ได้เจอคนเก่งๆ มีความสามารถ ที่ซิลิคอน วัลเลย์ มาเยอะ จากนี้ไปถึงเวลาที่จะนำประสบการณ์และสิ่งที่ได้เรียนรู้เก็บเกี่ยวมาใช้กับธุรกิจของ “สยามราชธานี” แล้ว

น่าจับตาดูมากว่า “ทายาทรุ่น 3” ของสยามราชธานีจะผลักดันธุรกิจเอาต์ซอร์ซของผู้เป็นบิดา ภายใต้สถานการณ์ “นิว นอร์มอล” เป็นไปในทิศทางใด!

เพ็ญทิพย์ อักษรเนียม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง