รีเซต

เฉลียงไอเดีย : ‘ดีแทค’เปิดแนวคิดธุรกิจหลังยุคโควิด 3 เมกะเทรนด์โลก..มาแน่

เฉลียงไอเดีย : ‘ดีแทค’เปิดแนวคิดธุรกิจหลังยุคโควิด 3 เมกะเทรนด์โลก..มาแน่
มติชน
19 กรกฎาคม 2563 ( 14:34 )
160
1
เฉลียงไอเดีย : ‘ดีแทค’เปิดแนวคิดธุรกิจหลังยุคโควิด 3 เมกะเทรนด์โลก..มาแน่

‘ดีแทค’เปิดแนวคิดธุรกิจหลังยุคโควิด
3 เมกะเทรนด์โลก..มาแน่
ต้องคิดนอกกรอบ-พัฒนาเร็ว

หลังจาก “ดีแทค” หรือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ประกาศเปลี่ยนแม่ทัพกลางศึก แต่งตั้ง นายชารัด เมห์โรทรา ซีอีโอจากเทเลนอร์ เมียนมา ให้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารแทน นางอเล็กซานดรา ไรช์ เจ้าของวลี “เราสัญญาว่าจะไม่หยุด” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็เจอศึกหนักรับน้องอย่างสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งดีแทคเป็นองค์กรหนึ่งที่ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงอย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ เทเลนอร์รีเสิร์ช หน่วยงานด้านการวิจัยของเทเลนอร์ ได้วิเคราะห์และทำนาย 3 เมกะเทรนด์ของโลกอนาคตหลังยุคโควิด-19 ไว้ ประกอบด้วย 1.โครงสร้างพื้นฐานใหม่เพื่อการทำงานวิถีใหม่ จากการทำงานออฟฟิศสู่การทำงานที่บ้าน วิกฤตโควิด-19 จะเร่งให้เกิดเทรนด์การทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ต่อจากนี้ หลายบริษัทจะเริ่มให้พนักงานสามารถทำงานได้จากที่บ้านหรือทำงานระยะไกล ทำให้ความสำคัญของอาคารสำนักงานเริ่มน้อยลง ทั้งนี้ รัฐบาลสามารถสนับสนุนการจัดสรรทรัพยากรและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของเมืองเพื่อรองรับเทรนด์การทำงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่บ้าน และพื้นที่ทำงานร่วมกันหรือโคเวิร์กกิ้งสเปซ ทำให้เกิดการกระจายตัวของพนักงานบริษัทไปทั่วทั้งเมือง คนจะเลือกทำงานใกล้บ้านมากขึ้น เพื่อลดเวลาและทรัพยากรต่างๆ ในการเดินทาง ทำให้การปล่อยไอเสียจากเครื่องยนต์น้อยลง เมืองมีอากาศที่ดีขึ้น ระบบสาธารณสุขที่ดีขึ้น ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานที่ดีขึ้น

2.เอไอจะเปลี่ยนโฉมการจ้างงาน ด้วยมาตรการล็อกดาวน์ที่รัฐบาลทั่วโลกบังคับใช้ในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้คนหลายล้านคนอยู่ในสภาพตกงาน ขณะเดียวกัน ก็มีงานหลากหลายประเภทที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของโควิด-19 และงานที่ต้องอาศัยแรงงานข้ามชาติ หลังยุคโควิด-19 การจ้างงานในตลาดแรงงานไร้ฝีมือจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากเดิมใช้เวลารับสมัครและคัดเลือกเป็นเวลานาน ตลอดจนปัญหาการพัฒนาทักษะที่มีความจำเป็น ส่งผลให้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น “อัลกอริทึม” จะเข้ามาคัดกรองผู้สมัครและตำแหน่งที่ไม่สอดคล้อง และจับคู่ผู้สมัครและเจ้าของกิจการที่มีความต้องการตรงกัน โดยใช้ข้อมูลประวัติภูมิหลังของทั้งผู้จ้างงานและผู้สมัครงาน ความเร็วและความถูกต้องของเอไอ ไม่เพียงลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการหางานเท่านั้น แต่ยังช่วยลดอัตราการลาออก (เทิร์นโอเวอร์) ด้วย ซึ่งต่อไปจะทำให้แรงงานต้องปรับตัวให้เป็นที่น่าสนใจ สร้างความต่างในตลาดแรงงานเพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ในการได้งาน

และ 3.ดาต้าเพื่อชีวิต ซึ่งดาต้าจะเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในการต่อสู้กับโรคระบาดในอนาคต อย่างไรก็ตาม การนำข้อมูลของผู้คนเข้ามาใช้ประโยชน์ดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงด้าน “ความเป็นส่วนตัว” (ไพรเวซี่) ของผู้ใช้งานเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ ทำให้อนาคตของการใช้ดาต้าเพื่อทราบถึงรูปแบบการแพร่ระบาดเชื้อโรคหรือไวรัสจะมาในรูปแบบข้อมูลรวมที่ไม่ระบุตัวตนแทนที่ข้อมูลตำแหน่งของแอพพลิเคชั่น (แอพพ์โลเกชั่น)

นายกอร์ม แอนเดรีย กรอนเนเวต์ รองประธาน เทเลนอร์รีเสิร์ช กล่าวว่า จากบทความของ Harvard Business Review ระบุว่า ข้อมูลทางด้านโทรคมนาคมสามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ต่องานด้านสาธารณสุขได้อย่างมีความรับผิดชอบและไม่ล่วงล้ำต่อประเด็นด้านความเป็นส่วนตัว ล่าสุด มีการใช้ข้อมูลสัญญาณมือถือมาใช้ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในนอร์เวย์และเดนมาร์ก ขณะที่ก่อนหน้านี้ได้มีการใช้ข้อมูลมือถือในการยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อมาลาเรียและไข้เลือดออกในปากีสถานและบังกลาเทศ

พิสูจน์ให้เห็นว่าข้อมูลมือถือสามารถนำมาใช้ทำนายด้านระบาดวิทยาได้อย่างแม่นยำ ทำให้รัฐบาลและหน่วยงานสาธารณสุขนำข้อมูลมาตัดสินใจออกมาตรการทางด้านสาธารณสุขได้อย่างแม่นยำขึ้น ทั้งนี้ ข้อมูลที่นำมาใช้ในการทำนายรูปแบบการเคลื่อนที่จะเป็นในลักษณะข้อมูลรวมและไม่ระบุตัวตน เพื่อทราบถึงรูปแบบการเคลื่อนที่โดยรวม ทำให้ผู้ใช้มือถือมั่นใจได้ถึงความเป็นส่วนตัวจะได้รับการคุ้มครอง

ทั้งนี้ การนำข้อมูลมือถือมาทำนายรูปแบบการเคลื่อนไหวของผู้คนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่าการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ยังเป็นประโยชน์ต่อการวางผังเมืองอัจฉริยะ การวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม และช่วยเหลืออุตสาหกรรมอื่นๆ ให้เข้าสู่สภาวะปกติหลังยุคโควิด-19 เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลกนั้นได้ทำให้พวกเราทุกคนต้องคิดนอกกกรอบและเปลี่ยนวิถีการทำงานของพวกเราในอัตราเร่ง ซึ่งรวมไปถึงวิถีในการให้บริการลูกค้าและบทบาทต่อการพัฒนาสังคม พฤติกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจบางอย่างจะเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น รัฐบาลและผู้นำองค์กรจึงควรพิจารณาว่าอะไรควรหยุด และอะไรควรริเริ่มพัฒนาต่อเพื่อเร่งให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงหลังยุคโควิด-19” นายกอร์มกล่าว

อัมพวัน อยู่กระทุ่ม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง