รีเซต

เฉลียงไอเดีย : ‘แคท’ควบรวมทีโอที ขึ้นชั้น บ.โทรคมนาคมแห่งชาติ

เฉลียงไอเดีย : ‘แคท’ควบรวมทีโอที ขึ้นชั้น บ.โทรคมนาคมแห่งชาติ
มติชน
4 ตุลาคม 2563 ( 14:39 )
643
เฉลียงไอเดีย : ‘แคท’ควบรวมทีโอที ขึ้นชั้น บ.โทรคมนาคมแห่งชาติ

เฉลียงไอเดีย : ‘แคท’ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ลุยภารกิจเพื่อชาติ ควบรวมทีโอที ขึ้นชั้น บ.โทรคมนาคมแห่งชาติ

 

จวนใกล้ควบรวมกิจการเต็มแก่แล้ว สำหรับรัฐวิสาหกิจเต็มขั้น 2 แห่งอย่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) แม้พิษการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะทำให้การดำเนินการล่าช้าออกไป จนต้องร่อนหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขยายระยะเวลาการควบรวมออกไปอีก 6 เดือน จากเดิมต้องสำเร็จเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 เป็นมกราคม 2564

 

ดูเหมือนว่าโควิด-19 มาช่วยทำให้ แคทและทีโอที มีโอกาสได้ซ้อมการทำงานร่วมกันก่อนควบรวมจริง โดยได้นโยบายจากรัฐให้ 2 หน่วยงานลดค่าครองชีพให้ประชาชนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยมาตรการลดค่าใช้จ่ายบริการโทรคมนาคม สนับสนุนงานบริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ เป็นแพคเกจพิเศษเน็ตอยู่บ้านความเร็ว 100/50 เมกะบิต (390 บาทต่อเดือน) ฟรี ให้แก่ประชาชนเป็นเวลา 3 เดือน

 

และในภาวะวิกฤตที่ไม่รู้จะจบลงเมื่อไร การมองเห็นโอกาสในธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญ แคท จึงร่วมกับบริษัท เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทประกันวินาศภัย รับประกันความเสียหายที่เกิดจากการถูกคุกคามทางไซเบอร์ของลูกค้า ทั้งถูกแฮกหรือขโมยข้อมูลเพื่อเรียกค่าไถ่ ที่ปัจจุบันรุนแรงขึ้นสร้างมูลค่าความเสียหายสูง

 

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แคท ระบุว่า ภัยคุกคามทางไซเบอร์เป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะตกเป็นเหยื่อเมื่อไร และผลกระทบจะรุนแรงมากน้อยเพียงใด ประกันภัยไซเบอร์จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างอุ่นใจ

 

ตั้งเป้ารุกตลาดองค์กรขนาดกลาง เนื่องจากเป็นองค์กรที่ไม่สะดวกในการบริหารจัดการระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งลูกค้าที่มาใช้บริการของแคท ส่วนใหญ่เป็นเอกชนกว่า 70% หรือประมาณ 50,000 ราย

 

โดยแคทได้ทำโปรโมชั่นจูงใจลูกค้าเก่าของแคทให้ใช้บริการต่อไป กรณีลูกค้าเก่าตัดสินใจต่อสัญญาในเดือนตุลาคม 2563-มีนาคม 2564 จะฟรีประกันภัย 1 ปี โดยได้รับวงเงินประกันความเสียหายไม่เกิน 15 ล้านบาท

และเป้าหมายของโครงการประกันภัยความเสี่ยงภัยไซเบอร์นี้ คาดว่าจะมีลูกค้าเข้าร่วมโครงการทำประกันภัยมากกว่า 2,000 ราย และมีเบี้ยประกันภัย 100 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 2 ปี

 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 ครม.มีมติให้ปรับแผนและงบประมาณในการดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน ใน 2 กิจกรรมย่อย จากทั้งหมด 3 กิจกรรมย่อย งบประมาณทั้งโครงการ 5,000 ล้านบาท

 

สำหรับ 2 กิจกรรมย่อยที่ ครม.อนุมัติให้ปรับแผนและงบประมาณ ประกอบด้วย 1.การจัดหาอุปกรณ์เพิ่มความจุโครงข่ายเชื่อมโยงไปยังชายแดน ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ทำให้ระบบเคเบิลใต้น้ำระบบเพชรบุรี-ศรีราชา ไม่สามารถใช้งานได้ตามแผนที่ได้ออกแบบไว้ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงโครงข่ายด้วยการสร้างเส้นทางใหม่รองรับ ใช้งบประมาณเพิ่ม 126 ล้านบาท แต่ยังอยู่ในงบประมาณของโครงการเนื่องจากโครงการนี้ใช้งบประมาณไม่ถึงกรอบวงเงินที่กำหนดตั้งแต่แรก คาดว่าจะเสร็จภายใน 3 เดือน

 

“แม้ว่าการปรับกรอบวงเงินของกิจกรรมย่อยที่ 1 ในครั้งนี้จะทำให้วงเงินเพิ่ม แต่เนื่องจากกิจกรรมย่อยที่ 2 ที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ใช้งบประมาณต่ำกว่าวงเงินที่กำหนดไว้ จึงทำให้วงเงินของโครงการในภาพรวมยังคงอยู่ภายใต้กรอบวงเงินจำนวน 5,000 ล้านบาท ที่ ครม. อนุมัติไว้” พ.อ.สรรพชัยกล่าว

 

ส่วนกิจกรรมย่อยที่ 3 คือการร่วมก่อสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำเอดีซี เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิการใช้งานวงจร 200 กิกะบิต มีการลงนามในข้อตกลงเอเชีย ไดเร็ค เคเบิล (เอดีซี) ซึ่งเงื่อนไขการดำเนินงานภายหลังลงนามจะดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 32 เดือน และแคท จำเป็นต้องมีระยะเวลาในการตรวจรับอีกประมาณ 2 เดือน ทำให้จำเป็นต้องขยายระยะเวลาโครงการถึงปีงบประมาณ 2565

 

พ.อ.สรรพชัยให้ข้อมูลอีกว่า ยังมีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน ดำเนินการตามมติ ครม. วันที่ 19 มกราคม 2559 งบประมาณ 5,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 กิจกรรมย่อย ได้แก่ กิจกรรมย่อยที่ 1 งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ในการขยายความจุโครงข่ายภายในประเทศเชื่อมโยงไปยังชายแดน เพื่อเชื่อมต่อประเทศกัมพูชา ลาว และ เมียนมา รวมความจุที่ขยายเพิ่ม 2,300 กิกะบิต

 

กิจกรรมย่อยที่ 2 งบประมาณ 1,000 ล้านบาท ในการขยายความจุระบบโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศที่มีอยู่ในเส้นทางสิงคโปร์ จีน (ฮ่องกง) และสหรัฐอเมริกา จำนวน 3 ระบบ คือ เอเอจี, เอพีจี และเอฟแอลเอจี โดยรวมความจุที่ขยายเพิ่ม 1,770 กิกะบิต

 

และกิจกรรมย่อยที่ 3 การลงทุนก่อสร้างเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศระบบใหม่เพื่อเชื่อมโยงประเทศในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไทย จีน เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ งบประมาณ 2,000 ล้านบาท

แคท เตรียมตัวพร้อมแล้ว หลังจากนี้รอเพียงควบรวมกับ ทีโอที ตามนโยบายรัฐบาล แปลงร่างสู่บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ รองรับ 5จี เกิดในประเทศไทยก้าวสู่ดิจิทัลไทยแลนด์เต็มตัว!

อัมพวัน อยู่กระทุ่ม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง