รีเซต

เฉลียงไอเดีย : ซีอีโอ ‘เฮลท์ลีด’ ธัชพล ชลวัฒนสกุล ส่งธุรกิจร้านขายยาเข้าตลาดหลักทรัพย์ ดันเป้าที่ใหญ่กว่า..พางานวิจัยไทยสู่ตลาดโลก

เฉลียงไอเดีย : ซีอีโอ ‘เฮลท์ลีด’ ธัชพล ชลวัฒนสกุล ส่งธุรกิจร้านขายยาเข้าตลาดหลักทรัพย์ ดันเป้าที่ใหญ่กว่า..พางานวิจัยไทยสู่ตลาดโลก
มติชน
13 กุมภาพันธ์ 2565 ( 12:30 )
125
เฉลียงไอเดีย : ซีอีโอ ‘เฮลท์ลีด’ ธัชพล ชลวัฒนสกุล ส่งธุรกิจร้านขายยาเข้าตลาดหลักทรัพย์ ดันเป้าที่ใหญ่กว่า..พางานวิจัยไทยสู่ตลาดโลก

“สอบ เคมี ตก งงมาก อารมณ์ตอนนั้น คือ ตกได้ไง” ซีอีโอ “เจ”-ภก.ธัชพล ชลวัฒนสกุล บริษัท เฮลท์ลีด จำกัด (มหาชน) หรือ HL เล่าให้ฟังถึงที่มาของการเป็นเภสัชกร

 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฮลท์ลีด จำกัด (มหาชน) เป็นเด็กเรียนห้องคิง ทั้งชีวิตวัยเรียน ไม่เคยสอบตก ถ้าไม่งง ก็ถือว่าแปลก แต่มาถึงบางอ้อ เมื่ออาจารย์ผู้สอนบอกว่า ข้อสอบห้องคิง ต้องยากกว่าห้องทั่วไป เพราะเรียนหลักสูตรเข้มข้น เร่งรัดใน 2 ปี ดังนั้น ความตั้งใจคือสิ่งสำคัญที่สุด

 

ตั้งแต่วันนั้น ด.ช.เจ ตั้งใจเรียนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะวิชาเคมี กลายเป็นวิชาที่ชอบเรียนที่สุด และเป็นที่มาของการเลือกเรียนคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย..ซีอีโอ HL เล่าถึงชีวิตวัยเรียนด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม

 

HL ถือเป็นเชนร้านขายยาแห่งแรกที่นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งไม่ทำให้นักลงทุนผิดหวัง ราคาวิ่งตั้งแต่วันแรกที่เข้าเทรด

 

“Feedback ดีมาก กองทุนสนใจกันมาก แม้หลังไอพีโอแล้ว นักลงทุนก็ยังสอบถามมาตลอด ดีใจที่ทุกคนสนใจ แต่อีกมุม รู้สึกถึงความคาดหวังจากนักลงทุนค่อนข้างสูงมาก จึงต้องพยายามเต็มที่” เจกล่าวตอบ และว่า “เทรนด์คนเปลี่ยนไปหลังเกิดการระบาดโควิด-19 จากเดิมป่วยค่อยกินยา หาหมอ แต่ตอนนี้ ทุกคนรู้สึกไม่อยากป่วย ข้อดีคือคำนึงถึงเรื่องการป้องกัน การกินอาหารเสริมเพื่อไม่ให้ป่วย เพื่อสุขภาพที่ดี เริ่มศึกษาข้อมูลมากขึ้น จากเดิมไม่ค่อยกังวลเรื่องสุขภาพ เรื่องน้ำตาล ไขมันในเลือด แต่ตอนนี้ให้ความสำคัญเพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้มีโอกาสติดเชื้อโรคง่ายขึ้น”

 

การตระหนักรู้ของคนไทยต่อสุขภาพไม่ได้ส่งผลกระทบด้านลบต่อร้านขายยา เพราะไม่ได้ขายแค่ยารักษา แต่มีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อการบำรุง เป็นเทรนด์คนรุ่นใหม่ที่นิยมบริโภค ผลักดันยอดขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพเติบโตขึ้นมาก

 

 

แม้ธุรกิจมาตามเทรนด์ แต่ซีอีโอ เจ ไม่ได้ปล่อยให้ธุรกิจโตตามเทรนด์ ได้วางแผนธุรกิจให้เติบโตได้ต่อเนื่อง มั่นคง โดยแผนหลักปีนี้คือการขยายสาขา ใช้ Database ช่วยวิเคราะห์ ตามแผนขยายอีก 45 สาขา หรือมากกว่า โดยเปิดสาขาใหม่แล้ว 2 จุด ที่กรุงเทพกรีฑา ซึ่งมีลูกค้าอยู่แล้ว แต่ HL ไม่มีร้านตั้งอยู่ เปิดตัวเมื่อเดือนตุลาคม 2564 ผลตอบรับดีมาก ลูกค้าเดิมมีการซื้อถี่ขึ้น และยังบอกต่อ แนะนำเพื่อนมาซื้อด้วย

 

หมุดที่ 2 คือที่ลาดกระบัง เป็นทำเลที่ยังไม่มีใครมาเปิดร้านขายยา ถือเป็นข้อดีในการสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ โดย Database จะบอกว่าลูกค้ามาจากเขตที่เราปักหมุดไว้หรือมาจากรอบๆ บอกถึงรายละเอียดพฤติกรรมของลูกค้าว่าซื้อสินค้าตัวไหน ซื้อโปรโมชั่นแบบไหน ควรลงสินค้าชนิดไหน อย่างในเมือง อุปกรณ์การแพทย์ รถเข็น จะขายไม่ได้ เพราะลูกค้าเลือกซื้อสาขาใกล้บ้าน สะดวกกว่า

 

อีกสิ่งที่ HL จะทำเพิ่มในปีนี้ คือการเพิ่ม Member จากที่เริ่มทำระบบมาประมาณ 6-7 เดือน มีสมาชิกแล้วไม่ต่ำกว่า 2 แสนราย จะเป็นการต่อยอดจากการทำ Database ในการเพิ่มสิทธิประโยชน์ของ Member ให้ตรงใจลูกค้าแต่ละคน “ผลที่ได้คือสมาชิกจะรักเราและอยู่กับเรา” เจกล่าว และว่า ปัจจุบัน กลุ่มที่ใช้บริการหลักคือกลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไป แต่ HL เตรียมสินค้ารองรับกลุ่มสูงอายุ เพราะ เทรนด์สังคมสูงวัยในไทยมาแล้ว

 

นอกจากนี้ HL ได้ทำตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดของโควิด แต่เป็นจังหวะเข้ากับสถานการณ์พอดี คือการวางระบบสำหรับเทเลเมดิซีน ซึ่งต่างประเทศทำมาก่อนมีระบบรวมสั่งยาทางออนไลน์ เมื่อไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล หมอสั่งจ่ายยาทางออนไลน์ คนไข้สามารถไปรับยาที่ร้านขายยาได้เลย

 

“บริษัทเริ่มทำระบบนี้กับบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่งที่มีโรงงานในไทย เมื่อเกิดการระบาดโควิด มีการดีลกับหมอของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งมาตรวจพนักงานถึงโรงงาน ขณะที่ HL จะเป็นผู้จัดยาตามใบสั่งของหมอ มีการสร้างห้องยาเฉพาะเพื่อจัดยาตามใบสั่งยาผ่านระบบออนไลน์ให้พนักงานแต่ละคน ซึ่งดีลนี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้บริษัทญี่ปุ่น ได้ยามาตรฐานตามใบสั่งแพทย์ในราคาที่ถูกลง พนักงานมีสุขภาพที่ดีในเกณฑ์มาตรฐาน” ปัจจุบัน HL มีการดีลทำเทเลเมดิซีนกับอีกหลายแห่ง เป็นโอกาสที่แนวโน้มจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

 

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ แต่ยังแตกไลน์ธุรกิจ ทำผลิตภัณฑ์ป้องกันเชื้อโรค แบรนด์ BESUTO (เบซูโตะ) เภสัชกรเจบอกว่า สถานการณ์พาไป เมื่อเหตุการณ์ระบาดโควิดในช่วงที่ผ่านมา (สายพันธุ์เดลต้า) ในไทยรุนแรงมาก ถึงขนาดว่าร้านขายยากลายเป็นที่พึ่งพิงของคนไทย “จะปิดร้านก็ไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือพยายามป้องกันคนในร้านไม่ให้ป่วย ติดเชื้อ นอกจากการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้นกันแล้ว ยังต้องดูแลตัวเองให้สะอาด แบรนด์ BESUTO จึงเกิดขึ้น เป็นเจลและสเปรย์ฆ่าเชื้อโรค โดยไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์”

 

แต่ BESUTO ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะจุดประสงค์ที่กล่าวมา แต่เกิดจากความต้องการที่เจต้องการแก้ปัญหาให้ลูกสาวที่เป็นโรคมือเท้าปาก ได้เจองานวิจัยชิ้นหนึ่งของ สวทช.ที่น่าจะตอบโจทย์ จึงนำมาต่อยอด ช่วงทำการทดสอบ ประเทศไทยเจอโควิดพอดี กระทั่งทำสูตรออกมาสำเร็จและนำมาขายเชิงพาณิชย์ มีแผนจะนำสินค้าไปทำตลาดต่างประเทศ โดยจะต่อยอดสินค้ากลุ่มนี้เป็นซีรีส์สินค้าอีกหลายชนิด อาทิ ใช้เป็นสารเคลือบกระเป๋า เสื้อผ้า รองเท้า เพื่อป้องกันเชื้อโรค ซึ่งกำลังเจรจาธุรกิจกับ 3 ตลาดใหญ่ คือ จีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป โดยจุดเด่นคือไม่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ เป็นเหมือนสารเคลือบผิวป้องกันเชื้อโรคได้นานหลายชั่วโมง ที่สำคัญปลอดภัยต่อเด็กๆ การันตีผลงานด้วยเหรียญเงินจากการเข้าประกวดงานนวัตกรรมที่ประเทศแคนาดา ปี 2563

 

รวมถึงการออกแบรนด์ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ “PRIME” จากการไปดูตลาดอาหารเสริมที่สหรัฐ พบว่าตลาดเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มที่เป็นฟังก์ชั่น เรียกว่า Nutraceutical (Nutrients + Pharmaceutics) กินเพื่อช่วยทำให้ร่างกายดีขึ้น เช่น สูตรบำรุงสายตา สูตรบำรุงข้อ สูตรบำรุงสมอง

 

 

ปัจจุบัน PRIME มีเกือบ 30 SKU ผลตอบรับดี ที่สำคัญผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มบำรุงสมอง ได้เหรียญทองจากการส่งประกวดงานนวัตกรรม jedai innovation ที่ประเทศญี่ปุ่น

 

ฟังแล้วทึ่ง เภสัชกรที่มีหัวคิดเป็นผู้บริหาร ซึ่งไม่แปลกใจเลยรู้ถึงความตั้งใจตั้งแต่เป็นนิสิต อยากเปิดร้านขายยา เมื่อเรียนจบต้องใช้ทุนที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ก็ชวนเพื่อนหาทำเลทดลองเปิดร้านขายยา ตั้งชื่อว่า “บีแคร์” เพราะอยากรู้ถึงประสบการณ์จริง ทำให้รู้ว่าต้องเรียนด้านการบริหารเพิ่มเติม จึงลงเรียนหลักสูตร เอ็มบีเอ

 

จบชีวิตวัยลองผิดลองถูก เจได้เข้าไปทำงานที่ Pharmax ก่อนที่บริษัท ไอแคร์ เฮลท์ จำกัด ซึ่งเจ้าของกิจการเป็นรุ่นพี่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่รู้จักกันดี เข้าซื้อกิจการ Pharmax มีบริษัท เฮลท์ลีด จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัท โฮลดิ้ง ถือหุ้น ไอแคร์ เฮลท์ 100% ซึ่งปัจจุบัน มีเชนร้านขายยาทั้งหมด 4 แบรนด์ คือ Super Drug ตั้งอยู่ใกล้โรงพยาบาลศิริราช รองรับลูกค้าที่ต้องการซื้อยาจำนวนมาก แต่มีข้อได้เปรียบคือ มีที่จอดรถ, vitaminclub เป็นร้านขายยาไลฟ์สไตล์ เน้นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม จับกลุ่มลูกค้าอายุน้อย iCare และ Pharmax จะเป็นแบรนด์ที่จำหน่ายสินค้าใกล้เคียงกัน แต่แตกต่างที่ทำเล iCare เน้นย่านชุนชน ตลาด ส่วน Pharmax อยู่ใกล้ย่านธุรกิจ ช้อปปิ้งมอลล์ ซึ่งเชนทั้งหมดมีเภสัชกรประจำร้านตลอดเวลา แต่ iCare และ Pharmax จะเน้นเภสัชกรที่มีประสบการณ์ รองรับความต้องการของลูกค้าเป้าหมายที่ต้องการคำปรึกษา

 

ก่อนจบบทสนทนา ถามถึงอนาคต HL หลังเข้าตลาดหลักทรัพย์

 

เจบอกว่า การมาร่วมอยู่ในบริษัทนี้ ซึ่งเป็นบริษัทของรุ่นพี่จุฬาฯ ที่รู้จักกันมาเป็น 10 ปี เพราะมีแนวคิดเหมือกันคือ นำวิชาชีพที่เรียนมาเข้ามาอยู่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน อยากเห็นร้านยาในชุมชนจ่ายยาโดยคนวิชาชีพจริงๆ เพื่อให้คนในชุมชนได้รับยาที่ถูกต้อง ซึ่งการจะทำธุรกิจยั่งยืนได้ ต้องทำเป็นระบบ แผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จึงเป็นส่วนหนึ่ง ช่วยทำให้บริษัทแข็งแรง ความตั้งใจจะสร้างมาตรฐานบัญชี และโอสถศาลา ก็จะเกิดขึ้นได้ อีกเหตุผลคืออยากนำสินค้านวัตกรรมของคนไทยไปจำหน่ายในต่างประเทศ การที่บริษัท มีคำว่า “มหาชน” ต่อท้าย ช่วยให้การเจรจาทางธุรกิจข้ามชาติง่ายขึ้นมาก เหมือนเป็นสิ่งการันตีว่าบริษัทมีมาตรฐานเดียวกับทั่วโลก ไม่ใช่ร้านขายยาท้องถิ่น

 

“เพราะอยากพางานวิจัยไทยที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ไปเติบโตในต่างประเทศได้ นี่คืออีกเป้าหมายที่อยากทำ อยากนำเงินเข้าประเทศไทยให้ได้”

เกษมณี นันทรัตนพงศ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง