พุทธิพงษ์ โวไม่เกินฝัน หนุน 'เอ็นที' ท็อป 3 บริษัทโทรคมฯไทย
พุทธิพงษ์ โวไม่เกินฝัน หนุน ‘เอ็นที’ ท็อป 3 บริษัทโทรคมฯไทย “ไม่ได้จะแทนที่ใคร” ชิงชัยด้วยประสิทธิภาพ เล็งเปิดดีลแลกคลื่น สู้สมรภูมิ 5G
ตามที่มีการเปิดตัว บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที ที่เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) โดยได้มีการแต่งตั้ง ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ประธานกรรมการเอ็นที, น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่, นายอำนวย ปรีมนวงศ์ กรรมการ, นายจำเริญ โพธิยอด กรรมการ และ พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการและโฆษก
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า มีความพยายามในการดำเนินการควบรวมกิจการนี้กว่า 16 ปี ซึ่งครั้งนี้สำเร็จได้ตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 ที่เห็นชอบให้แคท และทีโอที ควบรวมกิจการเป็นบริษัทเดียวภายใน 6 เดือน เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน และเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนนโยบายของรัฐในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ซึ่งต่อมาวันที่ 1 กันยายน 2563 ครม. ได้อนุมัติขยายเวลาดำเนินการควบรวมอีก 6 เดือน เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดย เอ็นที มีฐานะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงดีอีเอส และมีกระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมด
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ปี 2564-2565 เป็นปีที่สำคัญในการปรับเปลี่ยนองค์กรให้มีความสมบูรณ์ สร้างวัฒนธรรมใหม่ และความเป็นหนึ่งเดียวกัน ขณะที่ แผนการดำเนินการ แบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 3 เดือน, 6 เดือน และ 1 ปี โดยสิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นภายในเดือนมีนาคมนี้ คือ ระบบเครือข่ายของแคท และทีโอที จะรวมเป็นเอ็นที โมบาย มีการเสนอแพ็คเกจแบบเดียวกันให้กับลูกค้า ซึ่งปัจจุบันลูกค้าเดิมของทีโอทีโมบาย มีอยู่ 1.8 แสนราย ขณะที่ มาย บาย แคท อยู่ที่ 2.5 ล้านราย รวม 2.68 ล้านราย ทั้งนี้ จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ร่วมกัน อาทิ เสาสัญญาณ, การให้บริการฟิกซ์บรอดแบนด์ โครงการท่อร้อยสาย การขับเคลื่อนการให้บริการ 5G จากคลื่นความถี่รวม 600 เมกะเฮิรตซ์ หลากหลาย และครอบคลุม ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประชาชน และประเทศ
ทั้งนี้ ตั้งเป้าภายในปี 2564 เอ็นทีจะขึ้นเป็นบริษัทด้านโทรคมนาคมขนาดใหญ่ 1 ใน 3 ของประเทศ ซึ่งไม่ไกลเกินความจริงจากจุดที่เรายืนอยู่วันนี้ อีกทั้ง การทำงานทุกอย่างต้องมีเป้าหมาย หากไม่มีการวางแผนการพัฒนาจะไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า เอ็นทีจะมาแทนที่ใคร เรามีเป้าหมายที่ชัดเจน ท้าทายด้วยประสิทธิภาพ
“ฝากถึงบริษัทด้านโทรคมนาคมรายอื่น ซึ่งเดิมอาจมองว่า เอ็นทีเป็นคู่แข่งขันที่ไม่ได้อยู่ในสายตา แต่วันนี้อยากให้ตระหนักและติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นสิ่งที่ตั้งใจ โดยในฐานะรัฐมนตรีที่กำกับดูแล ยืนยันว่า จะทำให้เอ็นทีเข้มแข็ง มีโอกาสทางธุรกิจ ผลักดันนโยบายด้านดิจิทัลของรัฐ ซึ่งเชื่อว่าจากศักยภาพขององค์กร ทั้งสินทรัพย์ เครือข่าย เทคโนโลยี บุคลากรที่มีอยู่ จะสามารถรองรับและมีบทบาทในการช่วยขับเคลื่อนประเทศ” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ หากเป็นไปตามกำหนด ช่วงปลายปี 2564 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะมีการจัดการประมูลวงโคจรดาวเทียม ซึ่ง เอ็นที จะเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมการประมูลแน่นอน เพราะกิจการดาวเทียมจะเป็นโอกาสในการต่อยอดการดำเนินธุรกิจ
“ปัจจุบันเอ็นที มีคลื่นความถี่ประกอบด้วย ย่าน 700, 850, 900, 2100, 2300 เมกะเฮิรตซ์ และย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ ขาดคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นคลื่นความถี่สำคัญในการให้บริการ 5G ดังนั้น เร็วๆ นี้ จะการแถลงความร่วมมือระหว่างเอ็นที โมบาย กับบริษัทเอกชนด้านโทรคมนาคมรายหนึ่ง เพื่อนำคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีอยู่ แลกกับคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งข้อดีคือ เร็ว และประหยัด” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงาน ความเป็นไปได้ในการแลกเปลี่ยนคลื่นความถี่ เป็นการหารือกันมาล่วงหน้า ตั้งแต่การประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ซึ่ง แคท ที่ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ไปนั้น มีการเจรจากับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อขอใช้คลื่นความถี่ร่วมกันในฐานะคู่สัญญาสัมปทานกันมาในอดีต