รีเซต

พุทธิพงษ์ สร้างแพลตฟอร์มทำกินผ่านศูนย์ดิจิทัล หนุนประชาชนปรับตัวสู้โควิด

พุทธิพงษ์ สร้างแพลตฟอร์มทำกินผ่านศูนย์ดิจิทัล หนุนประชาชนปรับตัวสู้โควิด
มติชน
29 มกราคม 2564 ( 16:22 )
63

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยระรอกใหม่ ส่งผลให้การซื้อขายออนไลน์ (อี คอมเมิร์ซ) เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ทำให้หลายธุรกิจจะต้องปรับตัวและเกิดการเลิกจ้างงานเพื่อลดจำนวนคน หรือกระทั่งจะต้องปิดกิจการ ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากจะต้องตกงานและบางกลุ่มกลับไปภูมิลำเนาเดิม ดังนั้น ศูนย์ดิจิทัลชุมชน จะมาช่วยสร้างโอกาสให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี สามารถสร้างรายได้ในทุกพื้นที่ โดยใช้ดิจิทัลมาประยุกต์ใช้งานเพื่อการค้าขายสินค้าและบริการ ส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าชุมชน เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายหลังโควิด-19 ด้วย

 

“ปัจจุบันศูนย์ดิจิทัลชุมชมดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลฯ ซึ่งปี 2563 ดำเนินการไปแล้ว 250 ศูนย์ ซึ่งปี 2564 อยู่ระหว่างดำเนินการเพิ่มอีก 250 ศูนย์ และอยู่ระหว่างหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อพัฒนาเพิ่มเพื่อให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ท่านก็อยากให้ทำทุกตำบล ซึ่งก็ต้องใช้งบประมาณอีกไม่ใช่น้อย เพราะหากครอบคลุมทั่วประเทศ จะทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

 

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ศูนย์ดิจิทัลชุมชน นอกจากจะมีเครื่องมือเพื่อช่วยในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล มีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำในการใช้งานแล้ว ขณะนี้ได้ให้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ประสานไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อศึกษาสภาวะภูมิอากาศและสภาพพื้นดินของแต่ละชุมชนในการทำการเกษตร การปลูกผัก หรือการเลี้ยงสัตว์ของแต่ละชุมชนเพื่อจัดทำคลิปวีดีโอสอนประชาชนในชุมชนได้รู้วิธีการสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชนนั้นๆ ด้วย เช่น คลิปสอนการปลูกผัก การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การขายของออนไลน์ เป็นต้น เพราะลักษณะพื้นที่เพื่อทำการเกษตรของแต่ละภาคแตกต่างกัน ประเทศไทยเป็นพื้นที่เพื่อการเกษตร การใช้เทคโนโลยีมาช่วยบวกกับการแนะนำที่ถูกต้องจะช่วยเพิ่มช่องทางในการทำมาหากินให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี

 

ทั้งนี้ เมื่อในแต่ละชุมชน มีผลิตผลทางการเกษตรก็สามารถนำสินค้ามาจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ Thailandpostmart ของ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ได้ เพราะที่ผ่านมาโอกาสของสินค้าชุมชนในแพลตฟอร์มออนไลน์มีข้อจำกัดทั้งด้านการแข่งขัน และการขนส่ง ดังนั้น ศูนย์ดิจิทัลชุมชน จะช่วยขับเคลื่อนองค์ความรู้ด้านดิจิทัลให้กับผู้ประกอบการ ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต ถ่ายภาพ ตั้งราคา บรรจุสินค้า เพื่อสร้างมิติการแข่งขันให้กับสินค้าชุมชน อีกทั้งเว็บไซต์ thailandpostmart ยังเป็นแพลตฟอร์ม e-Marketplace ที่รวบรวมสินค้า ชุมชน สินค้าเกษตร ที่มีคุณภาพใหญ่ที่สุดในประเทศ จะช่วยเพิ่มช่องทางการขายให้กับผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนได้ซื้อ ขาย จ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความปลอดภัย เป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และผู้ประกอบการรายย่อยโดยตรง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง