รีเซต

ครม.สัญจรระยอง 'พุทธิพงษ์' ฟิต พาเหรดเยี่ยมโครงการเน็ตประชารัฐ 3 พื้นที่

ครม.สัญจรระยอง 'พุทธิพงษ์' ฟิต พาเหรดเยี่ยมโครงการเน็ตประชารัฐ 3 พื้นที่
มติชน
24 สิงหาคม 2563 ( 17:35 )
139

ครม.สัญจรระยอง ‘พุทธิพงษ์’ ฟิต พาเหรดเยี่ยมโครงการเน็ตประชารัฐ 3 พื้นที่ แนะต่อยอดการใช้ประโยชน์ พัฒนาแพลตฟอร์มหลักสูตรการเรียนออนไลน์ เพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่น และสร้างโอกาสค้าขายออนไลน์สู่ลูกค้าทั่วโลก

 

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยระหว่างการลงพื้นที่ตรวจราชการ และเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ จ.ระยอง ระหว่างวันที่ 24-25 สิงหาคม 2563 ว่า ได้ใช้โอกาสนี้นำคณะผู้บริหารของกระทรวงฯ เยี่ยมชมตัวอย่างความสำเร็จของโครงการเน็ตประชารัฐ ซึ่งในส่วนของ จ.ระยอง มีจำนวนจุดติดตั้งเน็ตประชารัฐ ทั้งหมด 114 หมู่บ้าน กระจายอยู่ในทุกอำเภอ โดยให้บริการที่ระดับความเร็วไม่ต่ำกว่า 30 Mbps /10 Mbps (ดาวน์โหลด/อัพโหลด)

 

ทั้งนี้ คณะผู้บริหารของดีอีเอส ได้เข้าเยี่ยมชมพื้นที่ใน 3 จุด ซึ่งรวมถึงจุดที่ได้รับการจัดตั้งเป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชนด้วย แต่ละจุดมีจุดเด่นในการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายเน็ตประชารัฐแตกต่างกันตามบริบทและความต้องการของชุมชน อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมได้มอบข้อเสนอแนะและข้อสั่งการ ให้ขยายจากการอบรมให้ความรู้และการชายสินค้าออนไลน์ ควรเพิ่มในเรื่องของการท่องเที่ยว การสาธารณสุข และความรู้ในท้องถิ่น สนับสนุนการสร้างแพลตฟอร์มการเรียนการสอนออนไลน์ ใช้การพัฒนาเชิงรุกให้ชุมชนเข้าถึงบริการภาครัฐได้สะดวกยิ่งขึ้น และเกิดความรู้ใหม่ๆ ในการเพิ่มมูลค่าสินค้า และขยายโอกาสกระจายสินค้าดีในท้องถิ่นสู่ลูกค้าทั่วโลกผ่านการค้าขายออนไลน์

 

โดยจุดแรกที่เข้าเยี่ยมชมคือ ศูนย์ดิจิทัลชุมชน อบต.กะเฉด อ.เมือง จ.ระยอง กลุ่มผู้ใช้งานเป็นกลุ่มแม่บ้าน ประชาชนในชุมชนและนักเรียน นักศึกษา ที่ผ่านมามีการจัดทำบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่ที่ขาดแคลนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อสนับสนุนสถานที่ อุปกรณ์ และบุคลากรในการให้ความรู้แก่นักเรียนในพื้นที่

 

“ผมได้มีข้อสั่งการให้ดำเนินการต่อยอดการใช้ประโยชน์จากศูนย์ดิจิทัลชุมชน ที่นอกเหนือจากการอบรมให้ความรู้และการชายสินค้าออนไลน์ ควรเพิ่มในเรื่องของการท่องเที่ยว การสาธารณสุข และความรู้ในท้องถิ่น การค้นคว้าหาความรู้ โดยมุ่งเน้นความเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป อีกทั้ง เร่งรัดพัฒนาเชิงรุกให้ชุมชนการเข้าถึงบริการต่างๆ ของภาครัฐ ได้สะดวกและง่ายขึ้น” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

 

 

นอกจากนี้ ได้เดินทางไปเยี่ยมชม วิสาหกิจชุมชนบ้านเนินสว่าง หมู่ที่ 6 ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จังหวัดระยอง ซึ่งชาวบ้านทำสวนยางพาราเป็นอาชีพหลัก และหลุดพ้นจากวงจรปัญหาราคายางตกต่ำ ได้ด้วยการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีความรู้เรื่องการแปรรูปยางเป็นผลิตภัณฑ์จาการยางแห่งประเทศไทย (ด้านวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง) นำมาสู่การออกแบบและผลิตสินค้าจากยางพาราในแบรนด์ตัวเอง Kaika โดยเน้นผลิตเบาะนั่งสมาธิ อาสนะ เบาะรองนั่งทำงาน ที่นอนยางพารา หมอนยางพารา

 

“เมื่อมีการทำสินค้าแบรนด์ตัวเอง จึงต้องเพิ่มการบริหารจัดการหน้าร้านและคลังสินค้าของวิสาหกิจชุมชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น กระทรวงดิจิทัลฯ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ได้เข้าไปสนับสนุนเทคโนโลยีระบบบริหารรจัดการร้านค้าและคลังสินค้าประยุกต์ใช้ อย่างไรก็ตาม การขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์นั้น ผู้ซื้อไม่ได้เห็นสินค้าจริง ดังนั้น การนำเสนอสินค้าบนเว็บไซต์ให้น่าสนใจจึงมีความสำคัญอย่างมาก ทั้งการถ่ายภาพ การเขียนรายละเอียดสินค้าและการเล่าเรื่องราวเทคโนโลยี ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ในการผลิต” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

 

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ได้เสนอแนะว่า ดีป้า ควรเข้าไปช่วยส่งเสริมอบรมในการนำเสนอสินค้าบนช่องทางออนไลน์ ทั้งการถ่ายภาพ การเขียนรายละเอียดสินค้า และการเล่าเรื่องราวเทคโนโลยี ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ในการผลิต ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมถึงเรื่อง การออกแบบผลิตภัณฑ์ และการสร้างมาตรฐานของสินค้า เพื่อสร้างจุดขาย สร้างโอกาสกระจายสินค้าไปทั่วโลกและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า อีกทั้งควรใช้ระบบบาร์โค้ดในการจัดเก็บและขายสินค้า เพื่อให้สะดวกต่อการนับสินค้าคงคลัง และมีการพัฒนาแพลตฟอร์มเกี่ยวกับหลักสูตรการการเรียนออนไลน์ให้กับผู้ที่มีความสนใจ สามารถเรียนย้อนหลังได้

 

 

จากนั้น ได้เดินทางไปเยี่ยมชมจุดติดตั้งเน็ตประชารัฐ ในพื้นที่หมู่ 5 บ้านเกษตรศิริ ต.สำนักทอง อ.เมืองระยอง จ.ระยอง ซึ่งอาชีพหลักของคนในพื้นที่คือ ทำสวนยางพารา และมีสินค้าเกษตรแปรรูปเป็นสินค้าชุมชน กลุ่มผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นกลุ่มคนในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะเยาวชนในหมู่บ้าน ซึ่งใช้อินเทอร์เน็ตในการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม และมีการใช้งานเพื่อเป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้าออนไลน์

 

ดังนั้น ควรเพิ่มการสร้างการรับรู้ให้ใช้ประโยชน์เน็ตประชารัฐประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ให้เกิดเป็นรูปธรรมทั้งด้านการศึกษา การสาธารณสุข การท่องเที่ยว การค้าออนไลน์และการประกอบอาชีพอื่นๆ โดยสั่งการให้ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการศึกษา การสาธารณสุข เกษตรกรรม การท่องเที่ยว เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชุมชน และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดียิ่งขึ้น

 

“เป้าหมายสำคัญของนโยบายรัฐบาล ในการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมหมู่บ้านทั่วประเทศ คือ การลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการของภาครัฐ สร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ดังนั้นต้องสร้างการรับรู้ให้ใช้ประโยชน์เน็ตประชารัฐของประชาชน มีการติดตามและแก้ไขปัญหาเรื่องสัญญาณการใช้งานเน็ตประชารัฐในพื้นที่ให้ไกลยิ่งขึ้นอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนต่อยอดการใช้ประโยชน์ส่งเสริมในการค้าขายออนไลน์ ของดีชุมชนเพื่อขยายโอกาสไปได้ทั่วโลก” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง