รีเซต

เฉลียงไอเดีย : ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ต่อยอด‘CIVIL’ ขอเติบโตอย่างมั่นคง

เฉลียงไอเดีย : ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ต่อยอด‘CIVIL’ ขอเติบโตอย่างมั่นคง
มติชน
30 สิงหาคม 2563 ( 14:29 )
245

ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข
ต่อยอด‘CIVIL’จากรุ่นปู่-รุ่นพ่อ
ไม่รีบก้าวย่างธุรกิจ..ขอเติบโตอย่างมั่นคง

บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด หรือ CIVIL เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มีแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย น่าจะเป็นหุ้นน้องใหม่อีกตัวที่มีแนวโน้มสดใส เหมือนหุ้นไอพีโอที่เรียงหน้าเข้าเทรดใน SET และ mai ขณะนี้ล้วนได้รับความสนใจจากนักลงทุน ราคาพุ่งขึ้นสูงกว่าราคาไอพีโอทั้งสิ้น

 

คุณชาย หรือ ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด แจ้งว่ามีแผนจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในปีหน้า

 

สำหรับบริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด เป็นบริษัทให้บริการงานก่อสร้างแบบครบวงจร ทั้งในส่วนงานสาธารณูปโภค, อาคาร, วัสดุก่อสร้าง ก่อตั้งบริษัทมาตั้งแต่ปี 2509 หรือราว 54 ปี คุณชายถือเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ต่อจากคุณปู่-อารี และคุณพ่อ-ชัยวัล

 

คุณชายเข้ามารับช่วงกิจการในห้วงเวลาที่ทั้งบริษัทและครอบครัวกำลังเผชิญปัญหาหนักหน่วงจากเหตุการณ์วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 หลายกิจการล้มคลืนเมื่อค่าเงินบาทเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนยวบ จาก 25 บาทต่อดอลลาร์ เป็นกว่า 50 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากรัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ธุรกิจส่วนใหญ่เจอหนี้สินท่วม เช่นเดียวกับ ซีวิล มีหนี้เกือบหมื่นล้านบาท!

 

 

หลังคุณชายเข้ามาบริหาร สามารถล้างหนี้ได้หมดและเดินหน้าบริษัทให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดยั้ง “ช่วงปี 2540 ธุรกิจโดนเต็มๆ บอกตรงๆ เลยว่ากระแสเงินสดหายไปเลย จากที่ทรัสต์ปิด ธนาคารวางนโยบายชัดเจนเรื่องการลงทุน เจอบาทอ่อน มูลหนี้ที่มีอยู่เบิ้ลขึ้นมาอีก ที่ดินที่ซื้อไว้กลายเป็นภาระที่บริษัทต้องแบกรับ แต่ที่สำคัญสุดคือการลงทุนหยุดชะงัก เป็นช่วงที่ผมไปเรียนและใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ แต่ยังติดต่อกับทางบ้านตลอด สัมผัสได้ถึงความเครียด ได้คุยกับพ่อ ผมรู้สึกว่ามีหลายอย่างที่ต้องสู้”

 

คุณชายจบปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์ ก่อนจะไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด Master of Science (ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต) ด้าน Construction engineering และ management และอยู่ทำงานต่อที่แอลเออีก 4 ปี ก่อนกลับมาบริหาร CIVIL

 

“วิศวะ ไม่ใช่คณะที่ผมตั้งใจเลือก ส่วนตัวชอบเลขและภาษาอังกฤษ อยากเรียนเศรษฐศาสตร์ แต่ที่เรียนสายนี้เพราะที่บ้านอยากให้มีสักคนเรียนวิศวกรรมโยธา เพราะธุรกิจมาสายนี้ จึงตัดสินใจเรียน” คุณชายเปิดความในใจและให้เหตุผลต่อถึงสาเหตุที่ไม่กลับไทยทันทีที่เรียนจบ แต่อยู่ทำงานในสหรัฐอีกระยะ ทั้งที่รับรู้ตลอดว่าที่บ้านมีวิกฤต เพราะคิดว่าถ้ามาช่วยโดยที่ยังไม่พร้อมก็จะช่วยไม่ได้มาก จึงตัดสินใจทำงานเป็นลูกจ้างฝรั่ง ซึ่งได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ทั้งเรื่องระเบียบวินัย วิธีคิด การประพฤติตัว และการได้ประสบการณ์ทำงานโครงการใหญ่ๆ

 

แต่หลังกลับมาเมืองไทย ก็ยังไม่ได้เข้ามาทำงานทันที เลือกไปบวชก่อน คุณชายบอกว่าเป็นเรื่องที่พ่อเซอร์ไพรส์มาก “ผมตั้งใจจะบวช 1 เดือน รู้สึกว่าเป็นจุดรีสตาร์ตที่ดีก่อนเริ่มทำงาน แต่กว่าจะสึก ล่วงเลยไป 5 เดือน เพราะรู้สึกว่ายังมีเรื่องที่อยากรู้ สึกออกมาแล้วก็ยังรู้ไม่หมดและยังไม่รู้สึกอิ่มตัว แค่รู้สึกว่าถึงเวลาที่เหมาะสมแล้ว” คุณชายบอกว่า ทุกวันนี้ยังหาโอกาสศึกษาธรรม แต่อย่างน้อยทำให้เข้าใจหลักศีลธรรมที่นำมาใช้ได้กับชีวิตและงาน อย่างคำว่า Integrity ที่กลายเป็น Core Value ของบริษัท คือหลักศีลธรรมจรรยา เป็นเรื่อง Simple มาก

คุณชายบอกว่า ความจริงเริ่มสนใจตั้งแต่ช่วงที่เรียนอยู่สหรัฐ “เริ่มอ่าน พุทธทาสภิกขุ (พระธรรมโกศาจารย์) เพราะเคยมีคำถามอยู่ในหัวตั้งแต่เด็กวนไปวนมา ในเวลาที่เราอาจจะงงๆ จะเริ่มเกิดคำถามกับตัวเองว่า ทำไมต้องมีเรา เราเกิดมาทำไม การอ่านพุทธทาสฯ ช่วยได้มาก พอกลับมาเมืองไทยกับภารกิจที่รออยู่ สารภาพเลยว่าเครียดมาก แต่โชคดีที่ทุกคนในบ้านให้กำลังใจ และโชคดีที่คุณพ่อสร้างอะไรไว้เยอะ ทั้งพนักงาน คอนเน็กชั่น สิ่งที่คิดไว้เลยคือ Commitment ผมไปเคาะประตูบ้านเจ้าหนี้ บอกตรงๆ ว่า ไม่หนี แต่อยากให้เจ้าหนี้ช่วยก่อน ผ่อนผันให้ ซึ่งเราต้องทำได้จริงตามที่พูด รวมถึงพนักงานของเรา บอกกันตรงๆ พนักงานให้ใจ ยอมทำงานให้โดยไม่ได้รับเงินเดือนนานถึง 3 เดือน เรื่อง Commitment ถือเป็น Core Value ของ CIVIL ที่ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก รวมถึง Integrity ทำให้เราเดินก้าวผ่านมาได้”

คุณชายย้ำหลักการทำงานหลังผ่านวิกฤตครั้งนั้น ในวันที่ลำบาก บริษัทต้องก้าวผ่านความท้าทายเยอะมาก และไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง แต่มีความเชื่อบางอย่าง โดยเฉพาะคน “เราให้ความสำคัญกับคน ผมมองว่าเป็น Core เช่นกัน ถามว่า CIVIL คืออะไร คือ C : Commitment, I : Integrity, V : Value People และ I : Innovation และเพิ่มคำว่า Lifelong Learning ไม่หยุดที่จะเรียนรู้

“อย่างพนักงานรุ่นคุณป้าที่ทำงานมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่-คุณพ่อ จากเดิมต้องแกะทุกกล่องเอกสารและลอกข้อมูลสำหรับการคิดบัญชี ทุกวันนี้ใช้ระบบเอกซ์เซล เป็นการ Up Skill ให้พนักงาน ซึ่งไม่ใช่แค่เจเนอเรชั่นผม แต่คุณพ่อ คุณปู่ ทำมาแล้ว เราไม่ได้ใช้หลักฮาวาร์ด, สแตนฟอร์ด ในการบริหารคน อาจจะดูเป็นเรื่องบ้านๆ แต่สุดท้ายแล้วอยู่แค่ตรงนี้ คือ ให้ใจ เหมือนที่ผมอินกับพุทธศาสนา คำว่า “ตถตา” แปลว่า เป็นเช่นนั้นเอง Simple มาก คือแค่นั้นเองจริงๆ”

เหมือนเวลาเครียดจากงาน คุณชายเลือกใช้หลักธรรมบำบัด มากกว่าการเล่นดนตรีหรือการถ่ายภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณชายชอบและทำได้ดี แต่คุณชายให้เหตุผลว่า หลักธรรมช่วยทำให้เข้าใจความจริงบางอย่าง ส่วนดนตรีและการถ่ายภาพคือ Hobby (งานอดิเรก)

ถามถึงอนาคตของ CIVIL หลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ คุณชายบอกว่า วาง Position ตัวเองเป็นผู้ก่อสร้างระดับกลาง เพื่อไม่กดดันตัวเองมากเกินไป และเพื่อให้เพื่อนเข้าใจว่าเราไม่ได้คิดจะแข่งด้วย “ไม่ได้เป็นอึ่งอ่างที่จะไปแข่งกับช้าง และเขาเองก็ถือเป็นลูกค้าของเราที่เราไปซับโครงการของเขามา ส่วนจะโตเทียบเท่า 4 บริษัทใหญ่ของเมืองไทยหรือไม่ ถือเป็นเรื่องอนาคตยาวๆ ไกลๆ”

คุณชายยังให้ความกระจ่างต่อคำถามที่ว่าในวงการรับเหมา ต้องอาศัยคอนเน็กชั่นหรือไม่ว่า ยอมรับว่าการมีคอนเน็กชั่นหรือรู้จักใครอาจจะมีผลบ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด “ผมเชื่อว่าทุกคนในวงการพอจะมีคอนเน็กชั่น มีคนรู้จัก ก็ต้องวัดกันด้วยศักยภาพ ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้ที่เสนอราคาถูกที่สุดคือผู้ชนะ แต่เป็นการสร้างองค์กรให้มีความพร้อม มีความสามารถ การปรับตัว รวมถึงการแก้ปัญหา และนี่คือสิ่งที่ CIVIL คิดและเชื่อว่าจะสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง “เราไม่ได้บอกว่าใหญ่เหมือนรายใหญ่ๆ ในประเทศ แต่เชื่อว่าประเทศนี้ใน 3 เหลี่ยมมีคนที่อยู่ตรงกลางที่เป็นคนคอยขับเคลื่อน เราเชื่อและถือเป็นสิ่งสำคัญสุดคือสามารถดึงศักยภาพของคนออกมาได้ ทำให้เห็น Value ของงานที่ทำ สุดท้ายคนอาจจะไม่ได้มองเรื่องเงินอย่างเดียว”

และอีกเรื่องที่สำคัญคือ ความโปร่งใส ซึ่งคุณชายบอกว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ไม่ใช่ว่าดีดนิ้วแล้วเกิดขึ้นได้ แต่เชื่อว่าคำว่า ธรรมาภิบาล จะเกิดขึ้นได้แน่นอน “ผมนึกถึงพระราชดำรัสของในหลวง ร.9 ที่ว่า สังคมจะเลวเพราะคนดีท้อแท้ คำนี้ผมรู้สึกเลยว่า อย่าหยุดเดิน เดินอย่างเต่าได้ แต่ห้ามหยุด”

เกษมณี นันทรัตนพงศ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง