รีเซต

เฉลียงไอเดีย : ‘สรรค์ สุดเกตุ’ปั้น‘วนัช กูตูร์’ธุรกิจห้องเสื้อ ก้าวอย่างปลอดภัย รับมือได้ทุกรูปแบบ

เฉลียงไอเดีย : ‘สรรค์ สุดเกตุ’ปั้น‘วนัช กูตูร์’ธุรกิจห้องเสื้อ ก้าวอย่างปลอดภัย รับมือได้ทุกรูปแบบ
มติชน
14 กรกฎาคม 2563 ( 14:30 )
157
เฉลียงไอเดีย : ‘สรรค์ สุดเกตุ’ปั้น‘วนัช กูตูร์’ธุรกิจห้องเสื้อ ก้าวอย่างปลอดภัย รับมือได้ทุกรูปแบบ

‘สรรค์ สุดเกตุ’ ปั้น‘วนัช กูตูร์’
ไม่เร่งรีบสร้างชื่อธุรกิจห้องเสื้อ
ก้าวอย่างปลอดภัย รับมือได้ทุกรูปแบบ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มคลี่คลาย ไร้คนติดเชื้อในประเทศมามากกว่า 1 เดือน แต่ดูเหมือนควันหลงจากโควิดเพิ่งจะเริ่มก่อตัว เพราะหลายภาคส่วนประเมินไปในทิศทางเดียวกันว่านับแต่นี้ความเปราะบางด้านเศรษฐกิจจะค่อยๆ ปริมากขึ้น

“เฉลียงไอเดีย” ฉบับวันนี้ขอนำเสนออีกหนึ่งบุคคลถึงแนวคิดก่อนจะเริ่มต้นทำธุรกิจ ต้องพร้อมก่อนตัดสินใจ เป็นแนวคิดการทำธุรกิจแบบไม่ประมาท แม้ว่าจะเกิดวิกฤตโควิดในปัจจุบัน ก็น่าจะนำแนวคิดนี้มาปรับใช้ให้ธุรกิจฝ่าไปได้

คุณสรรค์ สุดเกตุ ผู้บริหารและเจ้าของห้องเสื้อ “วนัช กูตูร์” (Vanus Couture) คือบุคคลที่เอ่ยถึง ซึ่งวันนัดหมายสัมภาษณ์ยังเป็นช่วงโควิดระบาดในไทย แต่ห้องเสื้อ วนัช กูตูร์ วันนั้น ยังเห็นลูกค้าเข้าร้าน พนักงานยังมีงานทำเป็นปกติ

จุดเริ่มต้นธุรกิจ คุณสรรค์บอกว่า ไม่ได้คิดจะทำห้องเสื้อ ภาพในหัวตอนเด็กคือ “นักธุรกิจ” อยากใส่สูทผูกเนกไท เลยเลือกเรียนบริหาร เรียนบัญชี แต่ที่กลายมาเป็นเจ้าของห้องเสื้อเพราะช่วงเป็นนักศึกษาปี 4 มีโอกาสฝึกงานที่เวดดิ้งสตูดิโอดังแห่งหนึ่ง ในยุคสมัยที่ธุรกิจบูมมาก เรียกได้ว่าเป็นตัวจุดประกาย เพราะเริ่มคิดถึงรายได้ จึงเข้ามาเป็นพนักงานพาร์ตไทม์ระหว่างเรียนรอจบปริญญาตรี จากนั้นก็เป็นเซลส์หน้าร้านและไต่เต้าขึ้นมาจนเป็นผู้จัดการร้าน “ช่วงแรกที่ทำงานยังไม่ได้รักหรือชอบ แค่อยากได้เงินเพราะเงินดีมาก พอได้ทำก็เริ่มหลงกับงานเสื้อผ้า เริ่มรู้ว่ามี sense เรื่องชุด ซึมซับมาเกือบ 9 ปี ก็เริ่มมั่นใจว่าน่าจะทำกิจการของตัวเองได้”

แต่คุณสรรค์ไม่ได้ลงมือทำร้านทันที ได้ทดสอบตัวเองก่อนว่ามีความสามารถพอหรือไม่ โดยหาประสบการณ์ที่เริ่มจากศูนย์จริงๆ สมัครเป็นผู้จัดการเวดดิ้งสตูดิโอที่กำลังประสบปัญหารอปิดกิจการ หาประสบการณ์ซ้ำ 2 ร้าน เพื่อให้แน่ใจจริงๆ ว่าที่ช่วยกอบกู้ธุรกิจให้ฟื้นขึ้นมาได้ ไม่ใช่เพราะโชคช่วยหรือฟลุค “หัวเราต้องเป็น outside box คิดนอกกรอบแล้วจะประสบความสำเร็จ ซึ่งการทำธุรกิจของตัวเอง จะค่อยๆ ดำเนินตามประสบการณ์จากการพลิกวิกฤตของที่อื่นมาใช้ ค่อยๆ ก้าวอย่างปลอดภัย”

คุณสรรค์เริ่มร้านแรกเป็นเวดดิ้ง สตูดิโอ “Signature bridal atelier” ให้บริการเกี่ยวกับงานแต่งงานแบบครบวงจร ก่อนจะปรับมาเป็น “วนัช กูตูร์” ในวันที่เริ่มรู้สึกว่าการถ่ายพรีเวดดิ้งเริ่มจะถึงจุดอิ่มตัว ขณะที่งานฝีมือ งานคราฟท์จะยังคงคุณค่าไม่เสื่อม แต่ต้องมีไลเซนส์ของตัวเอง จึง take course ด้านตัดเย็บและดีไซน์เพิ่มเติมให้รู้จริง

จนตอนนี้ชุดไทยได้สร้างไลเซนส์ให้คุณสรรค์ โดยชุดที่สร้างชื่อคือชุดไทยประยุกต์สีชมพูได้รับเลือกให้ขึ้นปกนิตยสาร “WE” “วนัช กูตูร์” แจ้งเกิดชุดไทย เจ้าสาวที่ต้องการใส่ชุดไทยจะนึกถึง “วนัช กูตูร์” ก่อนใคร!

บททดสอบก่อนจะมาเป็น “วนัช กูตูร์” ช่วยให้รับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดอย่าง โควิด-19 ได้หรือไม่ คุณสรรค์ตอบว่า ประสบการณ์การบริหารจัดการคือสิ่งสำคัญสุดในการรับมือ ที่ผ่านมาธุรกิจในไทยปรับเปลี่ยนมาตลอด สมัยหนึ่งเป็นการทำธุรกิจแบบมี deal มีคูปองในการดึงดูดลูกค้ามาใช้บริการ แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว หรือเรื่องสถานที่ตั้งของร้านก็เริ่มสำคัญน้อยลง จากในอดีตต้องอยู่ติดถนน แต่สมัยนี้ไม่ใช่ เป็นยุคดิจิทัล ยุคโซเชียล ดังนั้น การบริหารจัดการคือสิ่งที่จำเป็น สามารถรับมือกับทุกการเปลี่ยนแปลงได้ “กรณีโควิด ผมมองไปถึงปีหน้าเลย เพราะการแต่งงานคือครั้งหนึ่งในชีวิต ยังไงก็ต้องมีจัดงาน ทุกคู่บ่าว-สาวต้องการให้คนที่ร่วมงานได้ชื่นชม เป็นงานที่แสดงออกถึงความภาคภูมิใจ ต้องคิดให้เยอะขึ้น โดยเฉพาะยุคโซเชียล ถือเป็นดาบสองคม ชื่อเสียงของแบรนด์สำคัญมาก ถ้าชื่อเสียงไม่ดีก็พังเลย ดังนั้น ต้องรักษาชื่อเสียงไว้ ความรับผิดชอบต้องมีสูง ต้องรักในธุรกิจ มีความปรารถนาดีกับลูกค้า ให้รู้สึกว่าเมื่อมาใช้บริการแล้วลูกค้าจะไม่เสียดายเงินที่จ่ายไป”

ทำให้ปัจจุบัน วนัช กูตูร์ ได้แตกเป็น วนัช กูตูร์ เฟิร์สท์ อีกแบรนด์ รองรับลูกค้าระดับวีไอพี ที่ต้องการชิ้นงานที่บ่งบอกตัวตนของคู่บ่าว-สาว

อย่างไรก็ตาม คุณสรรค์ยอมรับว่าช่วงเกิดโควิด-19 ใหม่ๆ ดีมานด์หายหมด ลูกค้าที่แพลนจะแต่งงานขอเลื่อนงานไปก่อน แต่ถือเป็นความโชคดีของวนัช กูตูร์ มีฐานลูกค้าที่ติดตามผลงาน อีกทั้งมีสต๊อกผ้าอยู่เยอะมากในโกดัง จึงนำผ้าที่มีอยู่มาดีไซน์สร้างสรรค์ผลงานออกมาเป็นคอลเล็กชั่น แบบว่าแทบไม่มีต้นทุน ให้ลูกค้าสั่งจองได้ในไอจี ช่วยให้พนักงานเกือบ 80 ปีชีวิตอยู่ได้

ถามถึงจุดเด่น “วนัช กูตูร์” คุณสรรค์บอกว่า ธุรกิจเวดดิ้งสตูดิโอที่ผ่านมาจะเป็นชุดเจ้าสาวนำเข้าจากจีนเป็นหลัก แต่ของที่ร้านจะมีแพตเทิร์นของตัวเอง ใช้วัสดุอย่างดี อย่างผ้าไหมจะใช้ของแท้ จนชุดไทยสร้างชื่อให้ ก็ลุยต่อ พยายามสร้างชื่อ “ชุดยกน้ำชา” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเพณีในงานหมั้นงานแต่ง จะเป็น “ไชนีส โมเดิร์น” แบบฉบับวนัช กูตูร์ จนตอนนี้เริ่มเป็นที่กล่าวถึงแล้ว และยังมีชุดของเจ้าบ่าวโดยเฉพาะ ไม่ใช่ชุดแถมของเจ้าสาว แต่เป็นชุดพระเอกของงาน

เป้าต่อไปที่วางไว้คือ “ชุดแต่งงาน สีขาว” ซึ่งต้องสร้างซิกเนเจอร์ให้ได้ก่อน เพื่อให้เวลานึกถึงชุดแต่งงานสีขาว จะนึกถึง วนัช กูตูร์

เป็นอีก step ที่วางไว้ในอนาคต อย่างที่คุณสรรค์บอกตั้งแต่ต้นว่า “ขอทำธุรกิจ ค่อยๆ ก้าวอย่างปลอดภัย”

เกษมณี นันทรัตนพงศ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง