รีเซต

เฉลียงไอเดีย : ณชา จึงกานต์กุล หยิบของดีท้องไร่ท้องนา จาก‘คันนา’แตกน้องใหม่‘เอเชียซีรีส์’

เฉลียงไอเดีย : ณชา จึงกานต์กุล หยิบของดีท้องไร่ท้องนา จาก‘คันนา’แตกน้องใหม่‘เอเชียซีรีส์’
มติชน
29 มีนาคม 2563 ( 14:32 )
261
เฉลียงไอเดีย : ณชา จึงกานต์กุล หยิบของดีท้องไร่ท้องนา จาก‘คันนา’แตกน้องใหม่‘เอเชียซีรีส์’

เฉลียงไอเดีย : ณชา จึงกานต์กุล หยิบของดีท้องไร่ท้องนา จาก‘คันนา’แตกน้องใหม่‘เอเชียซีรีส์’

“คันนา ต้องการให้พนักงานทุกคนเป็นหนึ่งในคนดีของสังคม” โบว์-ณชากล่าว

จากความตั้งใจที่อยากทำสินค้าดีๆ ให้คนไทยทาน สู่การเติบโตในธุรกิจผลไม้อบแห้ง ขนมของฝากอันดับ 1 ในใจนักท่องเที่ยว ภายใต้ชื่อแบรนด์ “คันนา” (KUNNA) กับสโลแกนที่ว่า “เราคือขนมทางเลือกใหม่เพื่อสุขภาพ”

โบว์-ณชา จึงกานต์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท คันนา โกรเซอรีส์ จำกัด ทายาทคนเล็กของ ชัยวัฒน์ จึงกานต์กุล เจ้าของธุรกิจผลิตและส่งออกลูกบิดประตู “เบน-เฮอร์” บริษัท เบน-เฮอร์ โปรดักส์ จำกัด ได้บอกว่าจุดเริ่มแรกของธุรกิจ “คันนา” เริ่มมาจากการที่ตนต้องการอยากทำสินค้าที่เป็นของไทยเพื่อให้คนไทยได้ทาน ซึ่งแบรนด์ “คันนา” ก็ให้ความหมายสื่อถึงความเป็นไทย ท้องไร่ท้องนาและสะท้อนถึงอาชีพเกษตรกรไทย ที่เป็นจุดกำเนิดของทุกอย่าง

•ปัจจุบันทำธุรกิจอยู่กี่อย่าง?

ตอนนี้ได้หันมาจับธุรกิจ “คันนา” เป็นธุรกิจหลักเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่ก็ยังมีการแบ่งเวลาผันตัวไปทำในเรื่องของการเป็นกรรมการที่ปรึกษาต่างๆ ไปทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับกิจการในระดับมวลชนมากขึ้น อย่างไปเป็นกรรมการที่ปรึกษาให้กับทางกรุงเทพธนาคม และที่อื่นๆ เพราะคิดว่าเราสามารถนำเอาความรู้ที่มีไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นอีกได้

•ธุรกิจ “คันนา” ตอนนี้เป็นอย่างไร?

ตลอดระยะเวลา 8-9 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่น่าตื่นเต้นในตอนนี้ คือ สิ่งที่เราได้ลงทุนในแง่ของการพัฒนาสินค้า การสร้างความเชื่อมั่น การสร้างฐานลูกค้า มันเริ่มส่งผลจริงแล้ว ซึ่งแบรนด์ “คันนา” ได้เริ่มเป็นที่พูดถึงปากต่อปากตั้งแต่เริ่มในปีที่ 3

ทุกวันนี้เวลาเราไปออกงานที่ต่างประเทศ ไปในตัวแทนประเทศไทย เราจะมีกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เดินเข้ามาซื้อของเรา พวกเขาซื้อโดยที่ไม่ต้องขอชิมสินค้าเลย เพราะเขารู้จักเราแล้ว เขาบอกว่าเคยซื้อเรามาแล้วที่เมืองไทย คือเหมือนกับว่าเขาเคยกินของเราและบอกกันต่อแบบปากต่อปากไปให้กับเพื่อนของเขาจึงทำให้สินค้าของเรากลายเป็นที่รู้จัก

อย่างล่าสุด “คันนา” ได้ไปขายที่งาน Thai Festival ที่กรุงอาบูดาบี ประเทศดูไบ คนที่นั่นก็เดินเข้ามาซื้อโดยไม่ต่อราคาสักคำ มันเลยทำให้เรารู้สึกว่าแบรนด์หนึ่งแบรนด์ควรทำให้ถึงการที่ลูกค้ารู้โดยที่ไม่ต้องพูดเลยว่าเงิน 100 บาท ที่ลูกค้าจ่ายไปเขาซื้ออะไรได้บ้าง เพราะเขารู้ว่าตัวเองกำลังซื้ออะไร ซื้อคุณภาพ ซื้อความเป็นไทย ที่ซื้อแบรนด์ไหนก็ไม่มีเหมือน

และเรายังมีความภูมิใจนำเสนออีกอย่าง คือ ในเดือนตุลาคมปีนี้ “คันนา” ได้มีการไปเปิดขายของที่ประเทศดูไบ ในงาน world expo 2020 ที่เป็นงานใหญ่ที่รวบรวมของจากทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งทาง “คันนา” เป็นหนึ่งในแบรนด์สินค้าของฝากจากประเทศไทย ในหมวดสินค้าของที่เป็นของกิน ที่ได้รับการเสนอสินค้าที่เยอะที่สุดให้เข้าร่วมได้จาก พาวิลเลียนประเทศไทย

•ในอนาคต “คันนา” จะมีอะไรใหม่ไหม?

มีอย่างแน่นอน อีกไม่นาน “คันนา” จะมีการจับมือกับพาร์ตเนอร์ที่เป็นแบรนด์ดังระดับโลกออกสินค้าตัวใหม่ที่ประเทศเกาหลี และในช่วงเดือนเมษายนนี้เราจะมีการออกสินค้าใหม่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “เอเชียซีรีส์” คือ การเอาอาหารคาวมาทำเป็นอาหารอบแห้งแบบขนมทานเล่น โดยจะเปิดตัวเป็น 3 เมนูก่อน ซึ่งวัตถุดิบที่เราใช้จะใช้เป็นของไทยเป็นหลัก เนื่องจากแบรนด์ของเราเกิดจากความเป็นไทยเราจึงอยากใช้ของที่เป็นของไทยมาเป็นวัตถุดิบ และเราอยากช่วยเหลือสังคมด้วยการกระจายรายได้สู่สังคมด้วย

•เทรนด์ของอาหารในปีนี้เป็นอย่างไร?

เทรนด์ในปีนี้ คือ การลดน้ำตาลในอาหาร เพราะตอนนี้ปัญหาที่กลุ่มประเทศทางตะวันออกกลางเจอหนักมากคือ คนป่วยที่เป็นโรคเบาหวานซึ่งปัจจุบันทางออกที่มีคือการใช้หญ้าหวานแทน แต่ก็ต้องยอมรับว่าในเชิงของการบริโภคมันไม่ได้อร่อยเท่าน้ำตาล เพราะฉะนั้นอยากจะบอกว่า ความหวานมันไม่ได้เป็นรสชาติเดียวที่ทำให้เรารู้สึกอร่อยได้ สุดท้ายแล้วความอร่อยคือ ความกลมกล่อมของรสชาติต่างหาก ที่เป็นสิ่งสำคัญของอาหาร ซึ่งมันมาจากการปรุงวัตถุดิบและเครื่องแกงให้เกิดความกลมกล่อมของอาหาร

“ความอร่อยมันเป็นเรื่องของความเคยชิน ถ้าเรากินหวานทุกวันเราก็จะติดรสหวาน แต่ถ้าเราค่อยๆ เริ่มปรับลดรสชาติให้อ่อนลง รสไม่ต้องจัด เค็มไม่ต้องมาก ทานรสชาติเบาๆ กินทุกวันๆ เราก็จะชินกับรสนั้นเอง ซึ่งนี่ถือว่าเป็นความรับผิดชอบอย่างหนึ่งของผู้ผลิตอาหารที่ควรมีต่อผู้บริโภค ที่เราจะสามารถบอกได้ว่าอร่อยแบบไม่ต้องหวานมันมีจริงๆ เพราะความอร่อยเป็นอัตวิสัยของแต่ละคน แต่ในฐานะ
ผู้ผลิตอย่างเราก็ต้องทำให้ได้”

•เป้าหมายของการทำธุรกิจคืออะไร?

ถ้าให้พูดถึงเป้าหมายในการทำธุรกิจ เราไม่เคยตั้งเป้าหมายอะไรที่เป็นตัวเลขเลย แม้ว่าเราจะทำธุรกิจและรักการค้าขายมากขนาดไหนก็ตาม แต่เราจะบอกกับพนักงานทุกคนว่า วันนี้ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ต่อให้เป็นเรื่องเล็กที่สุดในชีวิตก็ตาม เราจะต้องทำทุกอย่างโดยใช้กฎเกณฑ์ 100% คือวันนี้เราจะต้องทำทุกอย่างให้เต็มที่ที่จะไม่เหลือช่องว่างอะไรที่ให้มาเสียใจทีหลังอย่างเด็ดขาด

•จุดเด่นที่แตกต่างจากแบรนด์อื่นของ “คันนา” คืออะไร?

ขอตอบว่า “คุณภาพข้างใน” มันเหมือนจะเป็นสิ่งธรรมดามากที่ทุกแบรนด์สินค้าพูด แต่มันก็ไม่เหมือนกัน คำว่า “คุณภาพ” ของ “คันนา” มันแปลว่าอะไรก็ได้ที่ดีที่สุด วัตถุดิบที่ใช้จะต้องเป็นพันธุ์ที่ดีที่สุด เมื่อทานแล้วจะต้องอร่อยที่สุด หอมที่สุด เราถึงจะเลือกใช้

“เราเอาชนะแบรนด์อื่นได้ด้วย ‘คุณภาพ’ และเราจะทำให้สินค้าของเรามีคุณภาพเสมอไป”

และอีกข้อที่ทำให้เราแตกต่าง คือ ความประทับใจครั้งแรก ที่ไม่ว่าจะเปิดทานสินค้าของเรากี่ถุงก็ตาม ลูกค้าก็จะได้กลิ่นหอมและรสชาติแบบนั้นเสมอ

“เพราะเราไม่เคยมักง่ายกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างสินค้าแบรนด์อื่นอาจจะมองว่าลูกค้าต่างชาติอาจจะเป็นลูกค้าครั้งเดียวแล้วอาจจะไม่ได้กลับมาซื้อซ้ำอีก แต่เรามองว่าลูกค้าทุกคนเปรียบเหมือนกระบอกเสียง ที่บอกต่อสินค้าของประเทศไทยออกไปเสมอ ว่าของไทยมันดียังไง ให้คนต่างประเทศรู้จัก เราอยากให้แบรนด์นี้เป็นเสมือนเพื่อน เสมือนครอบครัวของลูกค้า”

•นิยามความสำเร็จของ โบว์-ณชา

“ความสำเร็จแบบรวดเร็วนั้นมันไม่มี ตราบใดที่คุณไม่เคยล้มเหลว คุณก็อาจจะไม่พบกับความสำเร็จจริงๆ”

เพราะความสำเร็จแบบรวดเร็วฉาบฉวยที่เห็นตามข่าว ตามอะไร มันไม่มีจริง ซึ่งสิ่งที่เราเชื่อว่าอยากรวยเร็วๆ แบบเอา 5 ปีแล้วเกษียณ จากการทำธุรกิจแบบสตาร์ตอัพนั้น บอกเลยว่ามันไม่มีจริง เพราะที่เราเห็นนั้นมันเป็นเพียงภาพหน้าฉาก ที่เขาอาบน้ำเสร็จแล้วแต่งตัวสวยออกมาเท่านั้น แต่ตอนก่อนนั้นที่เขาคลุกดิน หรือตอนเหนื่อยมันไม่มีใครมาบอกให้เห็นหรอก เพราะว่าความสำเร็จนั้นไม่ได้มาจากความคิดที่ว่าจะรวยแล้วพรุ่งนี้รวย คุณต้องถามตัวคุณเองว่าคุณคิดที่จะทำจริงไหม ลงมือเริ่มทำหรือยัง แล้วใส่ความตั้งใจในการลงมือมากเพียงพอไหม

“เปลี่ยนความยากลำบากให้มาเป็นความท้าทาย เพราะว่าปัจจัยภายนอกเราไม่สามารถควบคุมได้ แต่เราสามารถควบคุมปัจจัยภายในของเราได้” โบว์-ณชากล่าว

•ทำไมในปีนี้ถึงเลือกทำกิจกรรมซีเอสอาร์ด้วยการปลูกป่าชายเลน

นอกจากนี้ โบว์-ณชา ยังกล่าวต่ออีกว่า ในปีนี้เลือกทำกิจกรรมซีเอสอาร์ด้วยการปลูกป่าชายเลน เพราะวัตถุดิบหลักของ “คันนา” ได้รับมาจากธรรมชาติ จากชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ในปีนี้ทาง “คันนา” ต้องการที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน “เพราะถ้าไม่มีพื้นที่สีเขียว เราคงไม่มีอะไรที่ดีได้” รวมถึงเราได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าอยากให้พนักงานของเราทุกคนเป็นคนดี มีประโยชน์ต่อสังคม

ซึ่งเราอยากแสดงให้พวกเขาเห็นว่าการทำความดีที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมันเป็นเรื่องง่ายที่ไม่แบ่งแยกฐานะ ทุกคนสามารถเริ่มทำได้จากสิ่งเล็กๆ อย่างการปลูกต้นไม้แค่หนึ่งต้นก็ถือได้ว่าเป็นการสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมแล้ว

จิรายุ วัฒนประภาวิทย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง