รีเซต

เฉลียงไอเดีย : เปิดแนวคิด‘อนุวัต ชัยกิตติวนิช’ ปรับกลยุทธ์ 3 หลักสร้างชื่อ‘เอสวีแอล กรุ๊ป’

เฉลียงไอเดีย : เปิดแนวคิด‘อนุวัต ชัยกิตติวนิช’ ปรับกลยุทธ์ 3 หลักสร้างชื่อ‘เอสวีแอล กรุ๊ป’
มติชน
28 มิถุนายน 2563 ( 14:21 )
132
เฉลียงไอเดีย : เปิดแนวคิด‘อนุวัต ชัยกิตติวนิช’ ปรับกลยุทธ์ 3 หลักสร้างชื่อ‘เอสวีแอล กรุ๊ป’

เปิดแนวคิด‘อนุวัต ชัยกิตติวนิช’
ปรับกลยุทธ์ 3 หลักสร้างชื่อ‘เอสวีแอล กรุ๊ป’
พร้อมรับแรงกระแทกวิกฤตโควิด…ทันการณ์

แม้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มคลี่คลาย ไม่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อจากคนในประเทศมากว่า 1 เดือน แต่สถานการณ์ด้านธุรกิจก็ยังต้องลุ้น หลายบริษัทยังตั้งหลัก ปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้

 

แต่ก็ยังมีบริษัทที่ไม่ได้รับผลกระทบ หรือกระทบน้อยมาก หนึ่งในบริษัทดังกล่าวนี้ มี บริษัท เอสวีแอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ธุรกิจในกลุ่ม SVL Group ของ เครือสหวิริยา รวมอยู่ด้วย อนุวัต ชัยกิตติวนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสวีแอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดบทสนทนาครั้งนี้ว่า เป็นความโชคดีที่มีการวางแผนธุรกิจของปีนี้ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ได้กำหนดกลยุทธ์ 3 ด้านหลักสำหรับปี 2563 คือ 1.Diversify (หลากหลาย) 2.Transformation (เปลี่ยนแปลง) 3.Accelerate (เร่งความเร็ว)

 

ซึ่งไม่รู้มาก่อนว่าจะเกิดวิกฤตโควิด-19 สิ่งที่รู้ ณ ตอนนั้นคือธุรกิจขนส่งก่อนหน้านี้ 3 ปี งานหลักของบริษัทคือขนสินค้าเหล็กให้ในเครือสหวิริยา 90% อีก 10% เป็นงานนอกบริษัท แต่ได้มีการวางแผนปรับสัดส่วนงานขนส่งสินค้า โดยเพิ่มการขนส่งภายนอกมากขึ้น ทำให้สัดส่วนการขนส่งเหล็กในเครือ เหลือเพียง 60% และเป็นการขนส่งให้บริษัทภายนอก 40%

 

“สิ่งที่คิดไว้มารองรับวิกฤตโควิดครั้งนี้พอดี” เอ็มดีเอสวีแอล ขยายความ 3 กลยุทธ์ เริ่มที่ Diversify มีการวาง Positioning ที่ชัดเจนไว้ตั้งแต่ 2 ปีก่อน เพื่อสื่อสารกับลูกค้าว่าเราเป็นผู้ขนส่งภาคใต้ราคาดีที่สุด โดยใช้ความได้เปรียบจากที่มี base (ฐาน) อยู่ที่บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ รับขนสินค้าเหล็กของเครือสหวิริยาไปกรุงเทพฯอยู่แล้ว เมื่อต้องตีรถเปล่าขากลับใต้ จึงรับขนสินค้ามาส่งทางใต้ ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า จึงมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ที่สำคัญมีจำนวนเที่ยวรถวิ่งสม่ำเสมอทุกวัน

เมื่อเห็นเป็นโอกาส จึงขยายฮับจากบางสะพาน ไปสู่ภาคตะวันออก เพิ่มอีกฮับที่บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา และอีกฮับที่นครหลวง ตั้งชื่อว่า Seamless Hub โดย 3 ฐานสามารถเชื่อมกันได้ หากฮับไหนมีงานเยอะก็จะปล่อยรถที่เรามี 170 คัน และของรถพาร์ตเนอร์อีก 300-400 คัน กระจายไปรับงานที่ฮับนั้นๆ

2.Transformation คือการขยายสู่ธุรกิจใหม่ๆ ในปีนี้เรานิยามตัวเองว่า Commercial Logistics คือแทนที่จะขนสินค้าอย่างเดียว เรามองโอกาสทางธุรกิจอย่างอื่นเพื่อ Support ลูกค้าด้วย เช่น เรามีรถขนส่งผ่านด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ เลยไปถึงเมืองมะริด ประเทศพม่า แต่พบปัญหาว่าที่ด่านสิงขรไม่มีคลังสินค้า จึงหาพาร์ตเนอร์ที่แข็งแกร่งของฝั่งพม่ามาร่วมกันทำคลังสินค้า จะช่วยสร้างธุรกิจใหม่ให้กับเราได้ ขณะที่การเข้าไปส่งของที่มะริด ได้เห็นโอกาส Trading จากการที่มะริดเป็นเมืองประมงของพม่า มีเรือประมงมากถึง 25,000 ลำ ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับปรุงเรือในการเปลี่ยนจากเรือไม้ เป็นเรือเหล็ก เพราะไม้ที่พม่าเริ่มมีจำกัด นอกจากได้ออเดอร์เหล็กอย่างต่อเนื่อง ยังได้ช่องทางขายสินค้าอื่นๆด้วย นั่นคืออุปกรณ์ประมง

“เรียกว่าใช้โลจิสติกส์เป็นกุญแจดอกแรก สร้างโอกาสทรานส์ฟอร์มจากโลจิสติกส์ไปสู่เทรดดิ้ง” คุณอนุวัตสรุปและยกตัวอย่างอีกเรื่องของการทรานส์ฟอร์มว่า จากเดิมที่ทำแต่อุตสาหกรรม B2B (Business-to-Business) ขณะที่กลุ่มบริษัทมีพนักงานมากถึง 3,000-4,000 คน หากทำอีคอมเมิร์ซ จาก Base พนักงาน หาของมาขายให้พนักงาน บริษัทก็มี base ลูกค้าจำนวนหนึ่ง และให้พนักงานช่วยขายสินค้าของบริษัทผ่านโซเชียล เช่น เฟซบุ๊ก เท่ากับว่ามี Salesforce หลายพันคน

และ 3.Accelerate คือการจะทำยังไงให้เร่งโปรเจ็กต์เกิดรายได้โดยเร็ว สิ่งที่ทำก่อนคือ Matching ระหว่างซัพพลายเออร์กับลูกค้า เป็นการบริหาร Cash Cycle ของเราให้สามารถขยายงาน แต่ไม่ต้องใช้เงินทุนมากนัก

คุณอนุวัตสรุปอีกครั้งให้เข้าใจง่ายขึ้น คือ 1.การขยายฐานธุรกิจเดียวกันไปใน Area อื่นเพิ่มเติม 2.Transform ไม่ได้หยุดอยู่แค่โลจิสติกส์ มองตัวเองเป็น Commercial โดยใช้โลจิสติกส์คือ กุญแจดอกแรก และ 3.การบริหารสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ โดยพิจารณาจาก cash cycle ในการดำเนินธุรรกิจให้มีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน เงินต้องกลับมาเร็ว นอกจากนั้น แล้วยังมีการใช้ระบบ Key Account Management ในการให้บริการกับลูกค้า โดยตั้งเป็นทีมซึ่งมาจากหน่วยงานต่างๆ ให้คุยกับลูกค้าโดยตรง เช่น ให้ฝ่ายขายของเราคุยกับฝ่ายขายของลูกค้า ฝ่ายบัญชีของเราและของลูกค้าคุยกัน ช่วยทำให้การเจรจาจบเร็ว-ถูกต้อง กลายเป็นจุดแข็งในการทำธุรกิจของเราและเป็นวิธีที่ใช้ได้ดีกับสถานการณ์โควิด

“เราได้เปลี่ยนวิธีคิดของพนักงานที่จะมองเพียงแผนกตัวเอง แต่ตอนนี้เราได้ Grooming แนวคิดขององค์กรให้ทุกคนคิดว่าเป็น Commercial ทุกคนเป็น Entrepreneur หรือเถ้าแก่น้อย ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ และเป็นอีก Key Success ที่ทำให้เราผ่านสถานการณ์ไปได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เราทำขึ้นก่อนเกิดโควิด โดยเฉพาะกลยุทธ์ที่ 3 คือ Accelerate ส่งผลให้ช่วงเกิดโควิด เราสามารถบริหารกระแสเงินสดได้พอสมควร ถือเป็นกลยุทธ์ที่มารับกับสถานการณ์โควิดได้พอดี”

คุณอนุวัต ย้อนกลับมาพูดถึงกลยุทธ์ที่วางไว้ว่า นอกจากมารับสถานการณ์โควิดได้ทันควันแล้ว ยังปรับเปลี่ยนสถานะของบริษัท จากเดิมเปรียบเสมือนเป็นดาวเคราะห์ ต้องโคจรตามคนอื่น เพราะเริ่มต้นรับขนสินค้าภายนอกบริษัทด้วยการซับงานต่อมาอีกที จนเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้จัดทัพใหม่ขอเป็นดวงอาทิตย์ วางจุดยืนเป็นผู้ให้บริการแบบ One stop service เป็นเจ้าของ Contact มีการ Deal เจ้าของสัญญาโดยตรง ทำให้ได้รู้จักพันธมิตรรายใหญ่เพิ่มขึ้น จากเดิมจะรู้แค่ว่าเป็นบริษัทในเครือของสหวิริยา เป็นบริษัทขนสินค้าเหล็ก แต่ตอนนี้ทุกคนรู้จัก “เอสวีแอล กรุ๊ป” ว่าเป็นบริษัทโลจิสติกส์ที่ทำธุรกิจภายนอกเครือสหวิริยา

 

ซึ่งปัจจุบันเราสามารถทำโครงข่ายการขนส่งทางเรือในภาคใต้มีประสิทธิภาพครบสมบูรณ์ตามแนวคิดเรื่อง “Perfect Southern Loop” และแนวคิดมาช่วยตอบโจทย์วิกฤตโควิดเช่นกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นคือสินค้าลดน้อยลง แต่ SVL Group ก็ยังสามารถมีปริมาณการขนส่งที่ไม่กระทบมากนักทั้งขาไปและขากลับ

ปัจจุบันเอสวีแอลไม่ได้หยุดนิ่งเพียงแค่โลจิสติกส์ นอกจากมีกลุ่มธุรกิจหลักคือ โลจิสติกส์ ซึ่งรับขนส่งทั้งทางบกและทางน้ำที่มี 3 ท่าเรือที่เชื่อมต่อกัน ทั้งท่าเรือบางสะพาน ท่าเรือบางปะกง และท่าเรือของพันธมิตรฝั่งนครหลวง โดยสถานที่ตั้งล้วนจุดยุทธศาสตร์สำคัญทั้งสิ้น ยังมีกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยมีที่ดินทำเลเพื่อการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอยู่จำนวนพอสมควรมีกลุ่มมาร์เก็ตเพลส กลุ่มธุรกิจอาหาร

 

ถามคำถามสุดท้ายก่อนจบการสนทนา โควิดสอนอะไร

คุณอนุวัตบอกว่า โควิดเปรียบเหมือนอีเวนต์หนึ่งในชีวิต เหมือนฝนจะตกเราก็ห้ามไม่ได้ แต่ประเด็นคือจะ Handle สถานการณ์ยังไง ซึ่งเอสวีแอล กรุ๊ป ไม่ได้ตกใจเท่าไร เรามีแผน Work from home ทันทีที่เกิดข่าวการแพร่ระบาดที่เมืองอู่ฮั่น ผู้บริหารสูงสุด alert ทันที มีการประชุมประเมินสถานการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการปิดเมือง มีการแบ่งทีมทำงานเป็นทีมเอ ทีมบี และซักซ้อมการทำงานวิถีใหม่

“ถามว่าโควิดให้อะไรเรา ผมมองว่าเป็นโอกาส เรามอง down size 30% คือการป้องกัน แต่เรามอง up size 70% คือโอกาสทางธุรกิจและเร่งลงมือทำตามแผนที่ตั้งใจ เช่น ทำ paperless ทำข้อมูลบนระบบคลาวด์ ทำงาน Work any where เราก็เร่งเร็วขึ้นจากที่เป็นแผนเมื่อปลายปี 2562 และการได้เห็นธุรกิจใหม่ อย่าง Food Business เราคิดโครงการว่า ‘ดีดี ฟรีดรอป’ บริการส่งอาหารตามออเดอร์ให้พนักงานออฟฟิศในละแวกใกล้ๆ บริษัท เอสวีแอล คือแถวสีลมก่อนผ่านแพลตฟอร์มที่สามารถสั่งล่วงหน้าให้จัดส่งเวลาใด จะเป็นมื้อเช้า มื้อกลางวัน เป็นต้น พร้อมเสิร์ฟบนโต๊ะทำงาน”

 

อีกหนึ่งวิธีคิดของผู้บริหารเอสวีแอลต่อสถานการณ์โควิด

เกษมณี นันทรัตนพงศ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง