โดรนขนเลือดขนยาจากเยอรมนี ทำหน้าที่ขนส่งลดภาระงานโรงพยาบาล

แล็บฟลาย (Labfly) บริษัทโดรนจากเยอรมนี เปิดตัวระบบขนส่งตัวอย่างเลือด ยา และเวชภัณฑ์ด้วยโดรน ซึ่งเคลมว่าช่วยลดระยะเวลาขนส่งจากเดิม 1 ชั่วโมง ที่ใช้การขนส่งทางรถยนต์ ให้เหลือเพียง 12 นาทีด้วยการขนส่งทางโดรน พร้อมทั้งช่วยลดภาระการทำงานของเจ้าหน้าที่อีกด้วย
ข้อมูลโดรนขนส่งเลือดและยาจากเยอรมนี
ระบบขนส่งจะใช้โดรนรุ่น แล็บฟลาย หนึ่งพัน (Labfly 1000) มีลักษณะลำตัวเครื่องวางตัวเฉียงขึ้นเทียบกับพื้นราบ ตัวโดรนมี 2 รุ่นย่อย โดยรุ่นหนึ่งจะมีที่เก็บของด้านบนสำหรับใช้งานขนส่งระหว่างหน่วยงาน และอีกรุ่นเป็นที่เก็บของด้านใต้ตัวเครื่องเพื่อใช้หย่อนยาหรือเวชภัณฑ์ตามบ้านเรือน โดยมีระบบล็อกป้องกันด้วยไฟฟ้า ซึ่งควบคุมจากระยะไกล
แล็บฟลาย หนึ่งพัน (Labfly 1000) ติดตั้งใบพัด 8 ใบ บนแกนหมุน 4 แกน ทำความเร็วสูงสุด 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะทางสูงสุด 30 กิโลเมตร ติดตั้งแบตเตอรี่จำนวน 2 ก้อน รองรับการขนส่งยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 1 กิโลกรัม หรือจะขนของเหลว เช่น ตัวอย่างเลือด หรือตัวอย่างทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ ได้อีกไม่เกิน 6 ลิตร
การทำงานของโดรนขนส่งเลือดและยาจากเยอรมนี
โดรนลำนี้สามารถขึ้นบินด้วยการใช้งานใบพัด 4 ใบพัด และใช้แบตเตอรี่ 1 ก้อน รองรับการทำงานแบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้คนบังคับ โดยผู้ดูแลสามารถคอยดูการบินของโดรนได้จากระบบระยะไกล แต่ถ้าเกิดปัญหากับการบิน ระบบจะเปิดใช้มาตรการฉุกเฉินทันที
เช่น หากใบพัดเกิดหยุดทำงานตัวใดตัวหนึ่งหรือทั้ง 4 ตัว ใบพัดที่เหลือก็จะเริ่มทำงานแทน หรือถ้าใบพัดทั้ง 8 ใบ หยุดทำงาน ตัวโดรนมีระบบร่มชูชีพสำหรับลงจอดฉุกเฉิน และถ้าหากเกิดเหตุที่ทำให้โดรนตก ภายในที่เก็บสัมภาระยังมีระบบป้องกันความเสียหายพร้อมล็อกป้องกันการตกหรือกระเด็นออก เพื่อให้มั่นใจว่าเลือด ยา หรือเวชภัณฑ์นั้นปลอดภัย
ทั้งหมดนี้ยังถือเป็นการสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยตามมาตรฐานที่เรียกว่า ยูเอ็น สามสามเจ็ดสาม (UN3373) ซึ่งเป็นมาตรฐานการขนส่งสินค้าปนเปื้อน อย่างเช่นตัวอย่างเลือด ที่ต้องเน้นความปลอดภัยขั้นสูงระหว่างการขนส่งอีกด้วย
การพัฒนาโดรนขนส่งเลือดและยาจากเยอรมนี
ล่าสุด แล็บฟลาย หนึ่งพัน (Labfly 1000) อยู่ระหว่างการทดสอบขนส่งตัวอย่างเลือดในเมือง บาลิงเงิน (Balingen) พื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนี และอยู่ห่างไปเกือบ 600 กิโลเมตร จากกรุงเบอร์ลิน โดยมีคลินิกและโรงพยาบาลท้องถิ่นเข้าร่วมการทดสอบเพื่อส่งตัวอย่างเลือดเพื่อไปยังห้องปฏิบัติการ คาดว่าจะใช้บริการบินโดรนประมาณ 7 เที่ยวบินต่อวัน บรรทุกสัมภาระในระยะทางสูงสุด 25 กิโลเมตร
ในอนาคต หากโดรนลำนี้ สามารถเพิ่มระยะการบินได้ ก็อาจจะเป็นประโยชน์ให้กับคลินิกต่าง ๆ มากขึ้น เช่น การใช้งานขนส่งตัวอย่างเลือดจากคลินิก ไปยังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อม และมีเครื่องมือในการตรวจเลือดที่ทันสมัยกว่า
ส่วนบริการขนส่งตัวอย่างเลือดในเมืองบาลิงเงิน ทางบริษัท แล็บฟลาย (Labfly) คาดว่าจะพร้อมให้บริการภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ลดค่าใช้จ่ายจากการขนส่ง รวมถึงลดภาระงานในส่วนนี้ได้เช่นกัน