ญี่ปุ่นผุดไอเดียสร้างทางเชื่อมโตเกียว - โอซากะ สำหรับขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ
รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังวางแผนที่จะสร้างเส้นทางเชื่อมโยงระยะยาวเพื่อขนส่งสินค้าอัตโนมัติระหว่างจังหวัดโตเกียว กับจังหวัดโอซาก้า ทางเชื่อมนี้อาจจะอยู่ตรงเกาะกลางถนน (Median Strip) หรืออาจจะเคลื่อนไปตามอุโมงค์ใต้ดินตามทางด่วน โดยสามารถขนส่งสินค้าหลายล้านตันได้อย่างเงียบ ๆ และเป็นการขจัดรถบรรทุกออกจากถนนได้ด้วย
สื่อสัญชาติญี่ปุ่น เดอะ เจแปน นิวส์ (The Japan News) รายงานว่าโปรเจกต์นี้อยู่ระหว่างการหารือตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โดยคณะผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยว แต่โครงร่างของโปรเจกต์เพิ่งเปิดเผยออกมา ทั้งนี้ในโครงร่างรายงานว่ามีเป้าหมายจะสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2034 หรือก็คืออีก 10 ปีข้างหน้านี้
สำหรับโครงการนี้จะเป็นการสร้างทางเชื่อมโยง แม้จะยังไม่ได้สรุปรูปแบบทางดังกล่าว แต่เป้าหมายคือเพื่อขนส่งสินค้าขนาดเล็ก เช่น ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และของใช้ในชีวิตประจำวัน โดยบรรจุอยู่ในพาเลทที่สามารถรับน้ำหนักได้หลายตัน คาดการณ์ว่าหากสร้างเสร็จและถูกนำมาใช้ จะสามารถขนส่งสินค้าได้เทียบเท่ากับการขนส่งโดยรถบรรทุกประมาณ 25,000 คันต่อวัน
สำหรับเหตุผลในการริเริ่มโปรเจกต์นี้ นั่นเพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่วนอัตราการเกิดของทารกก็ลดลงต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากรัฐบาลญี่ปุ่น เปิดเผยว่าในปี 2023 อัตราการเกิดลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยลดลงจากปี 2022 ร้อยละ 5.1 เหลือเพียง 758,631 คนเท่านั้น ซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อปัญหาแรงงานในอนาคต
ในขณะเดียวกัน การขนส่งสินค้าก็เพิ่มมากขึ้น โดยพัสดุขนาดเล็กถูกจัดส่งเพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา สืบเนื่องมาจากการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นทั้งการเพิ่มขึ้นของการจัดส่งสินค้า และปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รัฐบาลจึงคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 แรงงานในการแแพ็คสินค้าอาจไม่เพียงพอ ทำให้การส่งสินค้าประมาณร้อยละ 30 เกิดปัญหาได้
ด้านต้นทุนในการสร้างโปรเจกต์นี้ ตามการสำรวจของบริษัทก่อสร้างคาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายในการสร้างอุโมงค์ใต้ดินอยู่ระหว่าง 7,000 ล้านเยน - 80,000 ล้านเยน หรือประมาณ 1,600 ล้านบาท - 11,800 ล้านบาท ต่อ 10 กิโลเมตร ดังนั้นหากจะสร้างทางที่เชื่อมระหว่างโตเกียวกับโอซากา จะมีราคาการก่อสร้างสูงถึง 3.7 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 840,000 ล้านบาท
สำหรับโครงร่างของโปรเจกต์ มีการเรียกร้องให้มีการอภิปรายในด้านการใช้งานของภาคเอกชน เพื่อเป็นการระดมทุน ควบคู่ไปกับการสร้างองค์กรเพื่อให้บริษัทเอกชนสามารถเข้าร่วมโครงการได้
เท็ตสึโอะ ไซโตะ (Tetsuo Saito) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยว กล่าวว่า “โปรเจกต์นี้ไม่เพียงแต่จะแก้ไขวิกฤติด้านโลจิสติกส์ได้เท่านั้น แต่มันยังจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกด้วย และเราอยากจะดำเนินการเพื่อหารือเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด”
อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำว่าโปรเจกต์นี้ยังเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น ต้องจับตาว่าในอนาคตโปรเจ็กต์นี้จะเดินหน้าไปตามเป้าหมายหรือจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรอีกหรือไม่
ที่มาข้อมูล NewAtlas, JapanNews
ที่มารูปภาพ NewAtlas