รีเซต

คืบหน้าท่าเรือ “ระนอง–จิตตะกอง” ชี้โอกาสเศรษฐกิจใหม่ เชื่อมขนส่งไทย–บังกลาเทศ

คืบหน้าท่าเรือ “ระนอง–จิตตะกอง” ชี้โอกาสเศรษฐกิจใหม่ เชื่อมขนส่งไทย–บังกลาเทศ
TNN ช่อง16
2 กรกฎาคม 2568 ( 13:56 )
19

ดร.นลินี ทวีสิน ประธานผู้แทนการค้าไทย และนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมกันเป็นประธานการแถลงข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าในการผลักดันเส้นทางเดินเรือสายใหม่ “ระนอง–จิตตะกอง” ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ โดยมีผู้ร่วมแถลงข่าว อาทิ นายฟัยยาซ มูรชิด กาซี (H.E. Mr. Faiyaz Murshid Kazi) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศประจำประเทศไทย นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย และนางสาวพจนา พะเนียงเวทย์ กงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ (ชลบุรี)

 

ดร.นลินี ทวีสิน เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน และได้ต่อยอดอย่างเป็นรูปธรรมในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร โดยได้รับมอบหมายให้นำคณะนักธุรกิจไทยเยือนบังกลาเทศอย่างเป็นทางการ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์ฝั่งอันดามัน ในการเยือนครั้งนั้นได้เข้าหารือกับนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ และ ประธานการท่าเรือจิตตะกอง ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ถึงเวลาแล้วที่ควรมีเส้นทางเดินเรือตรงจากท่าเรือระนองของไทยเชื่อมสู่ท่าเรือจิตตะกองของบังกลาเทศ โดยไม่ต้องอ้อมผ่านช่องแคบมะละกาและท่าเรือสิงคโปร์ ซึ่งจะสามารถลดระยะเวลาการขนส่งจาก 7–15 วัน เหลือเพียง 3–5 วัน และช่วยลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดบังกลาเทศที่มีประชากรกว่า 170 ล้านคน

 

ภายหลังการเยือน ดร.นลินี ได้เชิญ นายฟัยยาซ มูรชิด กาซี (H.E. Mr. Faiyaz Murshid Kazi) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศประจำประเทศไทย และนางสาวพจนา พะเนียงเวทย์ กงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ (ชลบุรี) เข้าหารือพร้อมกับผู้แทนกระทรวงคมนาคม และการท่าเรือแห่งประเทศไทย ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานไทยกับฝ่ายบังกลาเทศ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการยกระดับท่าเรือระนองให้เป็นประตูการค้าด้านตะวันตกของประเทศ

ด้านนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า “ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมที่ต้องการยกระดับการให้บริการท่าเทียบเรือให้ได้มาตรฐานสากล จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Joint Working Group Meeting) ภายใต้ MOU ระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (ท่าเรือระนอง) และท่าเรือจิตตะกอง เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการขนส่งระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เพิ่มศักยภาพท่าเรือระนอง และเตรียมความพร้อมสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในอนาคต”

 

ทั้งนี้ ในปี 2567 ท่าเรือระนองมีปริมาณสินค้าผ่านท่ารวมทั้งสิ้น 324,933 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 251% และยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การท่าเรือแห่งประเทศไทยจึงเร่งเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับคุณภาพการให้บริการของท่าเรือระนองให้สอดรับกับทิศทางเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ฝั่งอันดามันซึ่งมีศักยภาพสูงในการเป็นประตูการค้าสำคัญของประเทศ


ด้าน นายฟัยยาซ มูรชิด กาซี (H.E. Mr. Faiyaz Murshid Kazi) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ กล่าวแสดงความยินดีที่ความร่วมมือระหว่างไทย–บังกลาเทศมีความก้าวหน้าอย่างชัดเจน พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลบังกลาเทศพร้อมสนับสนุนและอำนวยความสะดวกทุกขั้นตอน เพื่อให้เส้นทางเดินเรือสายใหม่นี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

 

นางสาวพจนา พะเนียงเวทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือครั้งนี้ไม่ใช่แค่การเปิดประตูสู่บังกลาเทศ แต่ยังเป็นก้าวแรกสู่การเชื่อมโยงกับกลุ่ม BIMSTEC ซึ่งมีประชากรรวมกว่า 1.8 พันล้านคน หรือกว่า 22% ของประชากรโลก และถือเป็นโอกาสใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยในหลากหลายสาขา


ขณะที่นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือระหว่างท่าเรือระนองและท่าเรือจิตตะกอง กำลังขับเคลื่อนสู่ความเป็นรูปธรรมผ่านการจัดตั้ง “คณะทำงานร่วม (Joint Working Group Committee)” ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันและติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้การท่าเรือฯ ยังมีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือระนองในหลายด้าน เพื่อรองรับปริมาณสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาเครื่องมือทุ่นแรงเพิ่มเติม การปรับปรุงระบบคลังสินค้า และการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ ให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รองรับการเติบโตในระยะยาว

 

ดร.นลินี กล่าวทิ้งท้ายว่า “การเชื่อมโยงระนอง–จิตตะกอง ไม่ใช่แค่เชื่อมท่าเรือกับท่าเรือ แต่คือการเชื่อมเศรษฐกิจกับโอกาส และเชื่อมประเทศไทยเข้ากับอนาคตของภูมิภาค เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนไทย”

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง