รมช.คมนาคมนำทีมลุย! รถไฟทางคู่บูมทุเรียน-ยางพารา ท่องเที่ยวทะเลคึกคัก
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ลงพื้นที่ตรวจเส้นทางรถไฟทางคู่ กล่าวว่า โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์ - ชุมพร มีการก่อสร้างลานกองเก็บตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ (CY) สองแห่ง คือ สถานีสามร้อยยอด และสถานีนาผักขวง ที่สถานีสะพลี จังหวัดชุมพร มีพื้นที่สำหรับรองรับการขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์อยู่แล้ว โดยมีเอกชนผู้ประกอบการ 2 ราย มาใช้บริการขนส่งยางพาราบรรจุใส่ตู้คอนเทนเนอร์ มีรถยกตู้คอนเทนเนอร์ (reach stacker) จำนวน 1 คัน เพื่อยกขึ้นแคร่บรรทุกสินค้าตู้คอนเนอร์ ในช่วงเดือนมิถุนายน - สิงหาคมของทุกปี เป็นช่วงทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชุมพรมีปริมาณมากเพียงพอที่จะส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยปีที่ผ่านมาได้มีการขนส่งทุเรียนทางรางไปคุนหมิงและกวางโจ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงเดือนเมษายน - กรกฎาคม 2566 รวมประมาณ 150 ตู้ และปีนี้เริ่มขนส่งทุเรียนจากภาคตะวันออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีนทางรถไฟ ประมาณ 300 ตู้แล้ว และได้มีการขนส่งทุเรียนใส่ตู้คอนเทนเนอร์แบบควบคุมความเย็น (reefer container) ทางรถไฟเส้นทางสะพลี - มาบตาพุด ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา จำนวน 15 ตู้ต่อครั้ง วิ่งวันเว้นวัน เพื่อไปรวมกับทุเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออกก่อนขนส่งไปสาธารณรัฐประชาชนจีน
สำหรับในปีนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เปิดใช้ทางคู่ช่วงนครปฐม - ชุมพร ระยะทาง 420 กิโลเมตรเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ประกอบกับได้เปิดใช้ทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ - ขอนแก่น ระยะทาง 187 กิโลเมตรเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา ทำให้ระยะเวลาในการขนส่งสินค้าทางรถไฟรวดเร็วขึ้น ประกอบกับปัจจุบันสถานีสะพลีเป็นจุดขนถ่ายตู้สินค้าที่ใกล้อำเภอหลังสวนที่มีจำนวนล้งทุเรียนอยู่จำนวนมากและมีพื้นที่ลานกองเก็บตู้สินค้า 9,000 ตารางเมตร สามารถพัฒนาเป็นศูนย์กระจายสินค้าทางรถไฟภาคใต้ได้
ทางบริษัท โกลบอล มัลติโมดัล โลจิสติกส์ จำกัด (GML) จึงมีแผนที่จะขนส่งทุเรียนด้วยตู้คอนเทนเนอร์แบบควบคุมความเย็น (reefer container) ทางรถไฟ เส้นทางสะพลี - หนองคาย ผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อส่งต่อไปยังนครคุนหมิง และอีก 4 มณฑลของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางราง รฟท. และบริษัท GML ได้ประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาแนวทางการปรับปรุงลานกองเก็บตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ (CY) ที่สถานีสะพลีเพิ่มเติม เช่น การติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างพร้อมปลั๊กเสียบเพื่อรองรับตู้คอนเทนเนอร์แบบควบคุมความเย็น (reefer container) การติดตั้งระบบโทรทัศน์วงจรปิด และเพิ่มรถยกตู้คอนเทนเนอร์ (reach stacker) เพื่อรองรับการขนส่งทุเรียนที่เพิ่มขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งปรับตารางเวลาเดินรถไฟขบวนขนส่งทุเรียนเพื่อลดระยะเวลาในการขนส่งเส้นทางสะพลี - หนองคาย จากเดิม 4 วัน เหลือ 2 วัน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มการขนส่งสินค้าทางราง ช่วยลดอุบัติเหตุทางถนนและลดต้นทุนโลจิสติกส์ในการขนส่ง
นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการขนส่งสินค้าจากภาคใต้ไปยังภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ต้องผ่านสะพานพระรามหก ซึ่งมีข้อจำกัด คือ ไม่สามารถเดินขบวนรถไฟสวนกันบนสะพานพระรามหกได้ รวมทั้งการขนส่งสินค้าในเขตกรุงเทพมหานคร ที่ส่งผลกระทบต่อการจราจรติดขัด จึงขนส่งสินค้าในเขตกรุงเทพมหานครได้เฉพาะช่วงเวลา 22.00 - 04.00 น. จึงได้มอบหมายให้ รฟท. ศึกษาความเหมาะสมเส้นทางสายใหม่ เชื่อมชุมทางหนองปลาดุกกับชุมทางบ้านภาชี ซึ่งปัจจุบันมีทางรถไฟเลี่ยงเมือง (chord line) ที่เป็นทางคู่เชื่อมต่อไปยังภาคต่าง ๆ ได้สะดวก โดย รฟท. ได้รับจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 แล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการจ้างที่ปรึกษา และขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อออกแบบรายละเอียด เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยให้การขนส่งสินค้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
หลังจากนั้น นายสุรพงษ์ พร้อมคณะได้เดินทางโดยขบวนรถไฟพิเศษท่องเที่ยว SRT ROYAL BLOSSOM ไปยังสถานีทุ่งมะเม่า ซึ่งเป็นบริเวณที่เส้นทางรถไฟอยู่ใกล้ชายทะเล เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางรถไฟในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สอดรับกับนโยบาย IGNITE TOURISM THAILAND ของรัฐบาล และจากการปรับเวลาเดินรถสายใต้ของ รฟท. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้โดยสารใช้เวลาในการเดินทางน้อยลง และถึงจุดหมายปลายทางเร็วขึ้น ประมาณ 1.30 ชั่วโมง เป็นการอำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชน รวมทั้งการขนส่งสินค้าไม่ต้องเสียเวลาในการรอหลีกขบวนรถ เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเดินรถ ทำให้สามารถรองรับขบวนรถได้เพิ่มขึ้น ช่วยลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ รวมทั้งเพิ่มความปลอดภัย ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางเสมอระดับรถไฟ - รถยนต์ โดยยกเลิกทางข้ามเสมอระดับทางรถไฟ และเปิดใช้สะพานกลับรถ (U-Turn)/สะพานข้ามทางรถไฟ (Overpass)