รีเซต

เรือบรรทุกเครื่องบินฝูเจี้ยนพร้อมใช้ที่ดีดเครื่องบินแบบเดียวกับสหรัฐฯ เป็นชาติที่ 2 ของโลก

เรือบรรทุกเครื่องบินฝูเจี้ยนพร้อมใช้ที่ดีดเครื่องบินแบบเดียวกับสหรัฐฯ เป็นชาติที่ 2 ของโลก
TNN ช่อง16
13 กรกฎาคม 2566 ( 09:58 )
68
เรือบรรทุกเครื่องบินฝูเจี้ยนพร้อมใช้ที่ดีดเครื่องบินแบบเดียวกับสหรัฐฯ เป็นชาติที่ 2 ของโลก

สำนักข่าวเซาธ์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์ (South China Morning Post: SCMP) รายงานความคืบหน้าการทดสอบเรือบรรทุกเครื่องบินฝูเจี้ยน (Fujian) ที่เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินที่ทันสมัยที่สุดของกองทัพจีน อยู่ในสถานะพร้อมทดสอบเครื่องดีดเครื่องบินแบบแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Aircraft Launch System: EMALS หรือ EM Catapult) แล้ว ซึ่งนับเป็นชาติที่ 2 ของโลกที่สามารถใช้งานระบบดังกล่าวได้ต่อจากสหรัฐอเมริกา


ข้อมูลเรือบรรทุกเครื่องบินฝูเจี้ยน

เรือบรรทุกเครื่องบินฝูเจี้ยน เป็นชื่อที่ได้รับการตั้งจากฝั่งตะวันตก โดยมีอีกชื่อว่า Type 003 หรือเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 3 ของจีน และเป็นลำแรกในกองทัพเรือที่ใช้ดาดฟ้าเรียบ ไม่ใช่แบบทางลาดเอียงหรือสกีจัมพ์ (Ski jump) มีระวางขับน้ำสูงสุดประมาณ 85,000 ตัน ความยาว 316 เมตร กว้าง 40 เมตร ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์กังหันไอน้ำ (Steam turbine)  แบบ 8 หม้อต้ม 4 เพลา ให้กำลังขับ 220,000 แรงม้า 


จุดเด่นสำคัญคือระบบดีดตัวเครื่องบิน โดยฝูเจี้ยนติดตั้งระบบคาโทบาร์ (CATOBAR: Catapult Assisted Take-Off But Arrested Recovery) ที่เป็นการใช้สายสลิงและไอน้ำในการช่วยดีดเครื่องบิน และรั้งกลับเมื่อเครื่องบินลงจอด และระบบแม่เหล็กไฟฟ้าที่เป็นข่าว ซึ่งก่อนหน้านี้มีเพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่มีระบบนี้

ภาพระบบดีดตัวแบบแม่เหล็กไฟฟ้า (EMALS) - ที่มารูปภาพ Wikipedia

ทดสอบที่ดีดตัวแบบใหม่ในเรือบรรทุกเครื่องบินฝูเจี้ยน

ถึงแม้ว่าตัวเรือฝูเจี้ยนได้เข้าประจำการในกองทัพเรือไปเมื่อ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่ก็ยังอยู่ระหว่างการปรับแต่ง, ทดสอบ, และติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้กับตัวเรือ โดยผู้เชี่ยวชาญได้ให้สัมภาษณ์กับ SCMP ว่าการทดสอบจะใช้ J-15T เครื่องบินขับไล่ยุคที่ 4 ที่รองรับระบบคาโทบาร์มาทดสอบกับระบบแม่เหล็กไฟฟ้า และจากภาพถ่ายในเว่ยปั๋ว (Weibo) รวมถึงภาพดาวเทียมจากกูเกิล แมปส์ (Google Maps) แสดงว่าเรือฝูเจี้ยนนั้นสามารถทดสอบระบบดีดตัวใหม่ได้ทุกเมื่อ


 

ภาพเรือบรรทุกเครื่องบินฝูเจี้ยนจาก Google Maps โดยบริเวณวงกลมสีแดงคือส่วนที่ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลสื่อต่างประเทศว่าเป็นตำแหน่งของระบบดีดตัวแม่เหล็กไฟฟ้า

 



ระบบดีดตัวแบบแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นการใช้การดีดตัวจากพลังงานของมอเตอร์แบบเหนี่ยวนำ (Induction Motor) แทนการใช้สายสลิงหรือคาโทบาร์ ซึ่งมีข้อดีสำคัญคือลดแรงกระแทกที่มีต่อพื้นผิวอากาศยาน ลดภาระการซ่อมบำรุงและยังรองรับอากาศยานได้หลากหลายประเภทกว่าแบบเดิม เพียงแต่การพัฒนาระบบนั้นยุ่งยากและซับซ้อนกว่าเดิมมาก ในปัจจุบันจึงมีเพียงสหรัฐอเมริกาที่พัฒนาและใช้งานกับเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์เจอรัลด์ อาร์ ฟอร์ด (Gerald R. Ford-Class) เท่านั้น


 


ทั้งนี้ การพัฒนาเรือระบบดีดตัวใหม่ที่เปิดตัวในปีก่อนหน้าของจีน รวมถึงการสร้างเรือฝูเจี้ยน เป็นส่วนหนึ่งของการยกเครื่องกองทัพประชาชนจีนสู่ยุคใหม่ภายในปี 2050 ที่ต้องการเป็นกองทัพระดับโลกให้ทัดเทียมกับกองทัพสหรัฐอเมริกา


ที่มาข้อมูล Interesting Engineering, Wikipedia

ที่มารูปภาพ Wikicommons 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง