รู้จักดาวเทียมธีออส 2 เอ (THEOS 2A) ดาวเทียมสำรวจโลกฝีมือคนไทย
ย้อนกลับไปในปี 2008 ประเทศไทยได้ส่งดาวเทียมธีออส (Thailand Earth Observation Systems หรือ THEOS) หรือที่รู้จักกันในชื่อดาวเทียมไทยโชต ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของประเทศไทย ขึ้นสู่วงโคจร และดำเนินการโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจิสด้า (GISTDA) ทำให้ปัจจุบันดาวเทียมดวงดังกล่าวมีอายุการใช้งานมากว่า 14 ปี แล้ว จิสด้าจึงมีแผนพัฒนาและสร้างดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นมาเพื่อทดแทน
โครงการดาวเทียมธีออส 2 (THEOS 2)
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของโครงการดาวเทียมธีออส 2 (THEOS 2) ร่วมกับบริษัท แอร์บัส ดีเฟน แอนด์ สเปซ (Airbus Defence and Space SAS) ในเครือแอร์บัสกรุ๊ป (Airbus Group) ประเทศฝรั่งเศส ที่มีมูลค่าโครงการกว่า 6.9 พันล้านบาท ซึ่งตัวโครงการมีดาวเทียม 2 ดวง คือ ดาวเทียมธีออส 2 (THEOS 2) และดาวเทียมธีออส 2เอ (THEOS 2A)
โดยดาวเทียมธีออส 2 เน้นเรื่องของประสิทธิภาพ คุณภาพของการถ่ายภาพของดาวเทียม ในขณะที่ดาวเทียมธีออส 2เอ เน้นเรื่องการสร้างคน และการสร้างเทคโนโลยีในประเทศไทย
สำหรับดาวเทียมดวงใหญ่ ธีออส 2 มีน้ำหนัก 400 กิโลกรัม จะผลิตที่บริษัท แอร์บัส ในประเทศฝรั่งเศส มีอายุการใช้งานอย่างน้อย 10 ปี ส่วนดาวเทียมดวงเล็ก ธีออส 2เอ มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัม และมีประเทศไทยเป็นผู้พัฒนา ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท แอร์บัส ในประเทศอังกฤษ
ส่วนประกอบสำคัญของดาวเทียม
โดยดาวเทียมธีออส 2เอ ถูกออกแบบมา เพื่อใช้ในการสำรวจทรัพยากรบนพื้นที่โลก ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 6 ส่วน คือ
1.สายอากาศที่ใช้ตรวจจับสัญญาณเรือ
2. สายอากาศแบบแผ่น สำหรับใช้ระบุตำแหน่งดาวเทียม
3. วงแหวนเชื่อมต่อระหว่างดาวเทียมกับจรวดนำส่ง
4. เซนเซอร์วัดมุมแสงอาทิตย์ เพื่อหาค่ามุมที่อ้างอิงกับทิศทางการเคลื่อนที่ของดาวเทียม
5. แผงโซลาร์เซลล์ที่ทำหน้าที่รับพลังงานจากแสงอาทิตย์ และเก็บไว้ชาร์จเข้าระบบแบตเตอรี่ของดาวเทียม
6. กล้องถ่ายภาพสีที่มีรายละเอียดสูง ขนาด 1.18 เมตรต่อพิกเซล ที่ความสูง 550 กิโลเมตรจากพื้นโลก ทำหน้าที่บันทึกภาพถ่ายดาวเทียมซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของภารกิจ
ข้อมูลและภาพจาก www.gistda.or.th