รีเซต

Metthier เผย "หุ่นยนต์ทำความสะอาด" จะเข้ายุค IoT เต็มตัวแล้ว ชี้ภาครัฐต้องปรับตัวออกกฎหมายตามเทคโนโลยีให้ทัน

Metthier เผย "หุ่นยนต์ทำความสะอาด" จะเข้ายุค IoT เต็มตัวแล้ว ชี้ภาครัฐต้องปรับตัวออกกฎหมายตามเทคโนโลยีให้ทัน
TNN ช่อง16
30 เมษายน 2567 ( 12:08 )
44

เมทเธียร์ (Metthier) หนึ่งในผู้ดำเนินธุรกิจการให้บริการการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์อัจฉริยะแบบครบวงจร (Smart Facility Management: SFM) ชั้นนำของไทย เปิดมุมมองพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจหุ่นยนต์ทำความสะอาดว่าได้เข้าสู่ยุคที่ 3 ซึ่งเป็นยุคของหุ่นยนต์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อการทำงาน หรือเป็นยุคของ IoT (Internet of Thing) อย่างเต็มรูปแบบแล้ว พร้อมแนะนำภาครัฐให้เตรียมความพร้อมด้านกฎหมายเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาหุ่นยนต์เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาต่อยอดหุ่นยนต์บริการอย่างต่อเนื่องและดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติอย่างมหาศาลในอนาคต


พัฒนาการของหุ่นยนต์ทำความสะอาด

Metthier มองว่าการพัฒนาหุ่นยนต์ทำความสะอาดสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ยุค โดยอิงจากความสามารถในการทำงานได้เองโดยอัตโนมัติ ได้แก่


  1. 1. ยุคที่ 1 คือยุคที่หุ่นยนต์ทำตามคำสั่งที่ป้อนโดยมนุษย์ โดยอิเล็กโทรลักซ์ (Electrolux) ได้นำหุ่นยนต์ทำความสะอาดเข้าสู่ตลาดครั้งแรกของโลกในปี 2539 ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ทำความสะอาดที่ยังต้องใช้รีโมทคอนโทรล (Remote control) ในการสั่งงาน ยุคนี้ประสิทธิภาพในการทำความสะอาดของหุ่นยนต์ยังไม่ค่อยดีนักและราคาค่อนข้างสูง หุ่นยนต์ทำความสะอาดในยุคนี้จึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร 

  2. 2. ยุคที่ 2 คือยุคปัจจุบันที่หุ่นยนต์ฉลาดมากขึ้น สามารถทำงานได้ด้วยตัวเองโดยอัตโนมัติ มีฟีเชอร์ที่จะตรวจจับวัตถุและคนได้ เนื่องจากได้รับการพัฒนาโดยนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เข้ามาร่วมใช้งานด้วย แต่แม้ว่าหุ่นยนต์สามารถทำความสะอาดเองได้ แต่ยังมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น หุ่นยนต์ยังไม่สามารถประเมินประเภทพื้นผิวในการเลือกการทำความสะอาดที่เหมาะสมได้เอง เป็นต้น หุ่นยนต์ยุคนี้จึงยังจำเป็นต้องทำงานร่วมกับคนอยู่ 

  3. 3. ยุคที่ 3 เป็นยุคที่ Metthier เชื่อว่าจะมาถึงในไม่ช้านี้ โดยหุ่นยนต์พัฒนาเข้ากับเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) รวมถึง AI และการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) สามารถสร้างแผนที่ 3 มิติ (3D Mapping) ทำให้หุ่นยนต์สามารถคิดและตัดสินใจประมวลผลในการทำงานเองได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด เช่น เมื่อหุ่นยนต์เห็นเศษขยะ หรือน้ำหก หุ่นยนต์ก็สามารถตามไปเก็บทำความสะอาดได้เองทันที หรือปรับโหมดการทำความสะอาดให้เข้ากับแต่ละพื้นผิวได้เอง เป็นต้น 


การพัฒนารูปแบบธุรกิจหุ่นยนต์ทำความสะอาดเป็นการเช่าใช้

จากการจำแนกยุคของหุ่นยนต์ทำความสะอาด จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนผ่านแต่ละยุคนั้นมีต้นทุนในการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ในแต่ละครั้งนั้นค่อนข้างสูง ทำให้ราคาขายของหุ่นยนต์ทำความสะอาดจึงสูงตาม ส่งผลให้ตลาดไม่เติบโตเท่าที่ควร จึงเกิดรูปแบบธุรกิจการเช่าใช้หุ่นยนต์บริการ (Robot as a Service) ขึ้นมา เพราะผู้ใช้บริการสามารถเช่าใช้หุ่นยนต์ราคาหลักล้านได้ โดยคิดค่าบริการในรูปแบบรายเดือนหรือรายปี (Subscription Model) ซึ่งส่งผลให้ความต้องการใช้หุ่นยนต์ทำความสะอาดเติบโตอย่างต่อเนื่องใน 1 - 2 ปีที่ผ่านมา จากปัจจัยเรื่องของความทันสมัยที่เสริมภาพลักษณ์ให้กับองค์กรที่นำหุ่นยนต์ทำความสะอาดแบบมืออาชีพ (Professional Cleaning Robots) มาใช้งาน


ในขณะที่อีกปัจจัยเป็นเรื่องของประสิทธิภาพการทำงาน โดย Metthier ยกตัวอย่างว่า พนักงานหนึ่งคนอาจทำความสะอาดครอบคลุมพื้นที่ได้มากที่สุดวันละ 1,500 - 2,000 ตารางเมตร หรือเทียบกับการเดินประมาณ 10 กิโลเมตร แต่หุ่นยนต์ทำความสะอาดแบบมืออาชีพจะใช้เวลาเพียง 1 - 2 ชั่วโมง ในขนาดพื้นที่เท่ากัน นอกจากนี้ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ทำความสะอาดยังพัฒนาไปถึงจุดที่สามารถรีไซเคิลน้ำเสียมาใช้ในการทำความสะอาดได้อีกหลายครั้ง ถือเป็นการลดการสิ้นเปลืองน้ำและดีต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวด้วย


ทั้งนี้ ข้อมูลจาก ResearchAndMarkets.com คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดโลกในธุรกิจการให้บริการหุ่นยนต์ทำความสะอาดแบบมืออาชีพรูปแบบรายเดือน จะมีอัตราการเติบโตในช่วงปี 2023 - 2030 ถึงประมาณร้อยละ 20 ต่อปี  และมูลค่าตลาดอาจจะสูงถึงประมาณ 20,970 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 770,000 ล้านบาท ในปี 2030 โดยมีภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกรวมถึงไทยถือส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณร้อยละ 30 โดยได้รับปัจจัยหนุนมาจากการขาดแคลนแรงงาน และการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย รวมถึงการลดต้นทุนการจ้างแรงงานด้วยเช่นกัน


หุ่นยนต์ทำความสะอาดแห่งอนาคตและกฎหมาย

หุ่นยนต์ทำความสะอาดในยุคที่ 3 จะมาพร้อมกับเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ (Fully-automated) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มาพร้อมการถกเถียงด้านกฎหมายควบคุมทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น การพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไร้คนขับ  อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเทคโนโลยี IoT ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ธุรกิจยานยนต์เท่านั้น ปัจจุบันมีบริษัทในประเทศจีนที่นำเทคโนโลยีของรถยนต์ไร้คนขับ (Autonomous car) มาปรับใช้กับการบังคับหุ่นยนต์ทำความสะอาด และได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้หุ่นยนต์ทำความสะอาดวิ่งบนถนนและพื้นที่สาธารณะได้ด้วย 


ดังนั้น Metthier จึงเชื่อว่า รัฐบาลควรวางแผนเตรียมปรับปรุงกฎหมายให้พร้อมรับกับ เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ  ที่มีโอกาสแพร่หลายในประเทศไทยสูงในอนาคต และเชื่อว่า หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการยกระดับความพร้อมด้านกฎหมายให้เอื้อต่อการพัฒนาหุ่นยนต์เชิงพาณิชย์ ก็จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาต่อยอดหุ่นยนต์บริการอย่างต่อเนื่อง และดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติอย่างมหาศาล แต่หากกฎหมายล้าสมัยจนผู้ประกอบการไม่สามารถที่จะนำเทคโนโลยีมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ อาจส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวได้เช่นกัน


ข้อมูลและภาพจาก Metthier

ข่าวที่เกี่ยวข้อง