รีเซต

เปิดภาพ "ดาวเคราะห์น้อย" ขนาดใหญ่ พุ่งเฉียดโลกที่สุดแห่งปี!

เปิดภาพ "ดาวเคราะห์น้อย" ขนาดใหญ่ พุ่งเฉียดโลกที่สุดแห่งปี!
TNN ช่อง16
23 มีนาคม 2564 ( 19:00 )
259
เปิดภาพ "ดาวเคราะห์น้อย" ขนาดใหญ่ พุ่งเฉียดโลกที่สุดแห่งปี!

วันนี้ (23 มี.ค.64) นักวิทยาศาสตร์ ยังคงเดินหน้าหาเบาะแสเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตโบราณบนดาวเคราะห์นอกโลกรวมถึง บนโลกมนุษย์ ซึ่งปัจจัยสำคัญคือแร่ฟอสฟอรัส ที่มาจากอุกกาบาตพุ่งชนโลกในยุคแรกๆรวมถึงการเกิด ฟ้าผ่าก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดแร่ฟอสฟอรัส ขณะที่ ปรากฎการณ์ล่าสุด ดาวเคราะห์น้อยที่ใหญ่ที่สุดของปีนี้ พุ่งเฉียดโลกเมื่อวันอาทิตย์ ก็ได้พบแร่ธาตุบางอย่างบนพื้นผิว ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อมูลศึกษาเพิ่มเติม

ดาวเคราะห์น้อย ที่ชื่อว่า "2001FO32" ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดของปีนี้ ได้เคลื่อนตัวเฉียดโลกไปแล้วเมื่อคืนวันอาทิตย์ตามเวลาประเทศไทย โดยเคลื่อนห่างจากโลกในระยะใกล้ที่สุด 2 ล้านกิโลเมตร หรือกว่า 5 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ แต่ก็ยังใกล้พอจะจัดให้เป็นดาวเคราะห์น้อยที่อาจเป็นอันตรายได้ โดยเดินทางด้วยความเร็ว 124,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ยังไม่เป็นอันตรายต่อโลก 

นักดาราศาสตร์ หวังว่า การเคลื่อนตัวเฉียดโลกจะช่วยให้ทราบส่วนประกอบของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 900 เมตรได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งองค์การฯนาซา รายงานว่า แสงอาทิตย์ที่กระทบพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยดังกล่าว แร่ธาตุในพื้นผิวจะดูดซับความยาวคลื่นบางอย่าง และสะท้อนความยาวคลื่นบางอย่าง เมื่อศึกษาแถบแสงที่สะท้อนออกมาจะทราบว่าเป็นแร่ธาตุชนิดใด การศึกษาดาวเคราะห์น้อยและดาวหางที่เคลื่อนตัวใกล้โลกช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจประวัติศาสตร์ และพลวัตรของระบบสุริยะได้ดีขึ้น

บรรดานักวิทยาศาสตร์ ยังคงเชื่อว่า ดาวเคราะห์น้อย หรืออุกกาบาตที่พุ่งชนในยุคแรกๆ เป็นการก่อกำเนิดสิ่งมีชีวิต ที่คล้ายแบคทีเรียซึ่งเกิดขึ้นในแหล่งน้ำ อันมาจากแร่ธาตุฟอสฟอรัสที่เรียกว่า ไซรเบอร์ไซต์ (Schreibersite) ซึ่งสามารถละลายได้ในน้ำ และเป็นองค์ประกอบ ส่วนผสมที่ถือว่าจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิต ได้แก่ น้ำ คาร์บอน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน ออกซิเจน กำมะถัน และฟอสฟอรัส

ส่วนอีกข้อสันนิษฐาน ของการกำเนิดสิ่งมีชีวิตโบราณ คือการเกิดสายฟ้าฟาดลงมาที่พื้นดินบนบก ซึ่งสามารถสร้างผลึกสายฟ้าที่เรียกว่าฟูลกูไรต์ (Fulgurite) โดยมีแร่ฟอสฟอรัสขังอยู่ภายใน ทำให้ฟูลกูไรต์เหล่านี้สามารถมีไซรเบอร์ไซต์ เช่นเดียวกับที่พบในหินอุกกาบาต ทีมวิจัยจึงชี้ว่าฟ้าผ่าทำให้ปลดปล่อยแร่ฟอสฟอรัสสำหรับสร้างสารชีวโมเลกุลที่จำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตนั่นเอง

ส่วนอีกเบาะแสเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตโบราณบนดาวเคราะห์ นักวิทยาศาสตร์ของนาซา เผยว่า ได้พบแร่ธาตุและหินที่ทะเลสาบซัลดา ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของตุรกี ซึ่งบ้างก็เรียกว่ามัลดีฟส์แห่งตุรกี เพราะมีน้ำทะเลสีฟ้าและหาดทรายสีขาว ทะเลสาบแห่งนี้ดูจะมีความใกล้เคียงกับบริเวณรอบแอ่งเยเซโร (Jezero Crater) บนดาวอังคารมากที่สุด

ทีมนักวิทยาศาสตร์จึงได้ทำการวิจัยบนชายฝั่งทะเลสาบซัลดาตั้งแต่ปี 2562 พวกเขาเชื่อว่าตะกอนรอบทะเลสาบกร่อนมาจากเนินดินขนาดใหญ่ที่ก่อตัวขึ้นด้วยความช่วยเหลือของจุลินทรีย์คล้ายๆกับตะกอนแอ่งน้ำบนดาวอังคาร  ดังนั้นทะเลสาบซัลดาก็เปรียบเหมือน เป็น “ดาวอังคารบนโลก” ที่อาจเป็นเบาะแสที่ตามหาอยู่.

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง