รีเซต

รู้จัก! ชื่อโควิดกลายพันธุ์ในอักษรกรีก มีอะไรบ้าง

รู้จัก! ชื่อโควิดกลายพันธุ์ในอักษรกรีก มีอะไรบ้าง
Ingonn
4 มิถุนายน 2564 ( 11:46 )
566
รู้จัก! ชื่อโควิดกลายพันธุ์ในอักษรกรีก มีอะไรบ้าง

 

ต้องท่องจำกันใหม่ หลังองค์การอนามัยโลก (WHO)ได้กำหนดชื่อ โควิดกลายพันธุ์ในแต่ละประเทศเป็นอักษรกรีก เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำและไม่ให้ประเทศหรือสถานที่ใดที่เกิดสายพันธุ์ใหม่ ไม่ต้องถูกตราหน้าว่าเป็นต้นตอการระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์นั้นๆ วันนี้ TrueID จึงได้รวบรวมชื่อโควิดกลายพันธุ์จาก WHO มาฝากกัน

 

 


องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศระบบตั้งชื่อใหม่สำหรับไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ โดยนับจากนี้ไปจะใช้อักษรกรีก เมื่อกล่าวถึงไวรัสโควิดกลายพันธุ์ที่พบระบาดครั้งแรกในหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร แอฟริกาใต้และอินดีย

 

 


ชื่อโควิดกลายพันธุ์ในอักษรกรีกมีอะไรบ้าง

 

แบ่งเป็นเป็น 2 หมวด ได้แก่ เชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล และเชื้อกลายพันธุ์ที่น่าสนใจ ดังนี้

 

เชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล ซึ่งมีการกลายพันธุ์ในระดับที่มีนัยสำคัญต่อสาธารณสุขโลก เช่น แพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น หรือทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลง มีชื่อตามอักษรกรีกดังนี้

 


1.โควิดสายพันธุ์อังกฤษ เปลี่ยนเป็น อัลฟา (Alpha) ใช้เรียกสายพันธุ์ B.1.1.7 ที่ตรวจพบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร

 

จุดเด่น แพร่กระจายและเป็นวงกว้างได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม สายพันธุ์นี้เริ่มต้นจากประเทศอังกฤษ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563

 

 

2.โควิดสายพันธุ์อินเดีย เปลี่ยนเป็น เดลตา (Delta) ใช้เรียกสายพันธุ์ B.1.617.2 และแคปปา (Kappa) ใช้เรียกสายพันธุ์ B.1.617.1  ที่ตรวจพบครั้งแรกในอินเดีย

 

จุดเด่น แพร่กระจายได้เทียบเท่าหรือเร็วกว่าสายพันธุ์อังกฤษ

 


3.โควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ เปลี่ยนเป็น เบตา (Beta) ใช้เรียกสายพันธุ์ B.1.351 ที่ตรวจพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้

 

จุดเด่น การแพร่กระจายต่ำกว่า 2 สายพันธุ์ในข้างต้น แต่สายพันธุ์นี้จะหลบหลีกภูมิต้านทาน ทำให้ประสิทธิภาพของวัคชีนลดลง

 

 

4.โควิดสายพันธุ์บราซิล เปลี่ยนเป็น แกมมา (Gamma) ใช้เรียกสายพันธุ์ P.1 และซีตา (Zeta) ใช้เรียกสายพันธุ์ P.2 ที่ตรวจพบครั้งแรกในบราซิล

 

จุดเด่น ในร่างกายผู้ที่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์นี้ จะมีปริมาณเชื้อมากกว่าผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมเกือบ 10 เท่า และพบว่ามีอัตราการแพร่เชื้อสูงกว่าเดิม 1.4–2.2 เท่า สายพันธุ์บราซิลยังแพร่เชื้อไปยังกลุ่มคนที่อายุน้อยทุกเพศได้ง่ายขึ้น ความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น 10–80% และหากเคยติดโควิด-19 มาก่อน จะสามารถหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อก่อนหน้าได้ 25–61% ซึ่งนำไปสู่ความเป็นไปได้ในการติดเชื้อซ้ำ และพบว่าวัคซีนบางชนิดมีประสิทธิผลน้อยลง แต่ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด

 

 

 

เชื้อกลายพันธุ์ที่น่าสนใจ หรือน่าจับตา มีชื่อตามอักษรกรีกดังนี้

 

1.โควิดสายพันธุ์สหรัฐฯ เปลี่ยนเป็น เอปไซลอน (Epsilon) ใช้เรียกสายพันธุ์ B.1.427/B.1.429 และไอโอตา (Iota) ใช้เรียกสายพันธุ์ B.1.526 ที่ตรวจพบครั้งแรกในสหรัฐฯ

 

จุดเด่น สามารถแพร่เชื้อได้มากกว่าปกติถึง 20% ส่งผลให้แนวทางการรักษาบางส่วนอาจมีประสิทธิภาพน้อยลง 

 

 

2.โควิดสายพันธุ์ฟิลิปปินส์ เปลี่ยนเป็น ธีตา (Theta) ใช้เรียกสายพันธุ์ P.3 ที่ตรวจพบครั้งแรกในฟิลิปปินส์

 


3.โควิดกลายพันธุ์ เปลี่ยนเป็น อีตา (Eta) ใช้เรียกสายพันธุ์ B.1.525 ที่ตรวจพบครั้งแรกในหลายประเทศ

 

 


ทำไมต้องเปลี่ยนเป็นอักษรกรีก

 

WHO ระบุว่า การใช้ระบบเรียกชื่อใหม่ของเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ ด้วยอักษรกรีก มีขึ้นเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำและใช้เรียกนอกแวดวงวิทยาศาสตร์ รวมทั้งช่วยไม่ให้ประเทศหรือสถานที่ใดถูกตราหน้าว่าเป็นต้นตอการระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์นั้นๆ

 


ที่ผ่านมา มีการเรียกชื่อเชื้อโรคโควิดกลายพันธุ์ตามสถานที่ตรวจพบครั้งแรก เช่น เชื้อสายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์บราซิล และสายพันธุ์อินเดีย แต่ประเทศที่เกี่ยวข้องได้ออกมาคัดค้านการเรียกชื่อในลักษณะนี้ เช่นเมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลอินเดียได้วิจารณ์เรื่องการตั้งชื่อสายพันธุ์ B.1.617.2 ที่ตรวจพบครั้งแรกในประเทศเมื่อเดือน ต.ค. ปีก่อนว่า “สายพันธุ์อินเดีย” ทั้งที่องค์การอนามัยโลกไม่เคยใช้ชื่อเรียกเช่นนั้น

 

 


การระบาดของโรคอย่างมาก อาจจะทำให้มีโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นได้ ดังนั้นต้องอาศัยความร่วมมือในการป้องกันโรค และการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 รวมทั้งมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่อาจเกิดขึ้น

 

 

 

 

ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข , TNN , ข่าวสด , PPTV

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง