เปิดความรุนแรง "โควิดสายพันธุ์อินเดีย" กระจายลงหลอดลม ติดเร็ว แพร่ง่าย
จากข้อมูล "โควิดสายพันธุ์อินเดีย" B.1.617 (Double mutant) ได้แยกเป็นหลายสายพันธุ์ย่อย โดยพบสายพันธุ์ B.1.617.2 ได้ระบาดหนักในอังกฤษสูงกว่าโควิดสายพันธุ์อังกฤษ หรือ B.1.1.7 มากถึง 50% และระบาดมากกว่าสายพันธุ์ G (อู่ฮั่น) มากถึง 60%
สาเหตุเนื่องจากโควิดสายพันธุ์ B.1.617.2 มีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง ตลอดทั้งจีโนมของไวรัส ซึ่งนายแมตต์ แฮนค็อก รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร ได้ประกาศเตือนว่า โควิดสายพันธุ์ B.1.617.2 "แพร่กระจายรวดเร็วราวไฟป่า" เพิ่มมากขึ้นกว่า 2 เท่าภายในสัปดาห์เดียว ข้อมูลจาก Public Health England แสดงจำนวนผู้ป่วยพุ่งขึ้นถึง 7.5 เท่าในสองสัปดาห์ หรือจาก 521 ราย พุ่งถึง 3,424 ราย
ด้าน องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ยืนยัน วัคซีนที่องค์การอนามัยโลกอนุมัติใช้งานทั้ง 6 ตัวได้แก่ ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค โมเดอร์นา จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน แอสตร้าเซนเนก้า โควิชิลด์ รวมทั้งวัคซีนซิโนฟาร์มของจีน มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดที่กลายพันธุ์สายพันธุ์อินเดียและสายพันธุ์อื่นๆ ทั้งอังกฤษและแอฟริกาใต้ได้
ล่าสุด ผู้บริหาร BioNTech เผยผลทดลองพบ วัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์อินเดียได้ 70-75%
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยเกี่ยวกับความกังวลต่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์อินเดีย มักแพร่กระจายลงสู่หลอดลมส่วนลึก และถุงลม ซึ่งแตกต่างจากสายพันธุ์เดิมที่แพร่กระจายในโพรงจมูก และลำคอ สามารถติดเชื้อได้เร็วขึ้น และแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น
เชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์อินเดีย สามารถหลีกหนีภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ ไม่สามารถยับยั้งเชื้อไวรัสสายพันธุ์อินเดียได้ และต้องติดตามกลับว่า ทำให้เกิดการอักเสบที่อันตรายต่อเนื้อเยื่อ และทุกระบบของร่างกายมากขึ้น
ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้แนะนำว่า ต้องเร่งคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเร็วที่สุดด้วยการตรวจเลือดว่าติดเชื้อหริอไม่ ถ้าตรวจเลือดเป็นบวกโดยยังไม่ได้ฉีดวัคซีน แยกตัวทันที จากนั้น ตรวจซ้ำด้วยวิธี แยงจมูก PCR
ขณะที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันความพร้อมทางห้องปฏิบัติการ ในการตรวจเชื้อและเฝ้าระวังเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ ทั้ง 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ B.1.351 สายพันธุ์บราซิล P.1 สายพันธุ์อินเดีย B.1.617 ซึ่งเชื้อเหล่านี้สามารถตรวจได้ 3 วิธีด้วยกัน ได้แก่
1. การตรวจแล็บ Real-time RT-PCR ที่มีความจำเพาะต่อสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง โดยขยายศักยภาพสู่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ให้สามารถดำเนินการได้ในพื้นที่ส่วนภูมิภาค
2. การตรวจแบบ Target sequencing สามารถตรวจการกลายพันธุ์ในตำแหน่งต่างๆ ทั้งที่ทราบข้อมูลตำแหน่งกลายพันธุ์อยู่แล้ว หรือ ค้นพบตำแหน่งใหม่ๆ
3. การตรวจแบบ Whole genome sequencing ซึ่งสามารถตรวจได้ข้อมูลจีโนมทั้งตัวของเชื้อไวรัส ช่วยสนับสนุนให้การเฝ้าระวังสายพันธุ์ใหม่ๆ เป็นไปอย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม การตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีความเร็วในการตรวจโดยเฉลี่ยต่อรอบ 92 ตัวอย่าง ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง รายงานผลภายใน 24 ชั่วโมง
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เตรียมความพร้อมด้านน้ำยาโดยจัดเตรียมน้ำยาตรวจวิเคราะห์รูปแบบ inhouse ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผ่านการทดสอบความใช้ได้ มีประสิทธิภาพเหมาะสมสำหรับการตรวจหาเชื้อโควิด 19 เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเอง
โดยเฉพาะกรณีขาดแคลนน้ำยาไม่สามารถนำเข้าจากต่างประเทศและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีความร่วมมือกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการทั้งภาครัฐและเอกชนโดยร่วมกับเครือข่ายภาครัฐที่มีศักยภาพในการดำเนินงานเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์