รีเซต

วิธีสังเกตอาการ นี่เราเป็นไข้เลือดออก หรือ ติดโควิด-19 ?

วิธีสังเกตอาการ นี่เราเป็นไข้เลือดออก หรือ ติดโควิด-19 ?
Ingonn
28 พฤษภาคม 2564 ( 18:11 )
365

ในช่วงที่เข้าหน้าฝน มีฝนตกเป็นประจำแบบนี้ อีกโรคหนึ่งต้องระวัง คือ “ไข้เลือดออก” ที่มีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากไม่ป้องกันอาการตั้งแต่แรก แต่โรคไข้เลือดออกจะมีอาการไข้ คล้ายกับ อาการติดเชื้อโควิด-19 แล้วทีนี้ถ้าเป็นไข้เลือดออกช่วงโควิดระบาดจะสังเกตอาการตัวเองอย่างไรดี

 


วันนี้ TrueID จะพาทุกคนมาสำรวจอาการให้ชัดว่าเราเข้าข่ายป่วยเป็นไข้เลือดออก หรือติดเชื้อโควิด-19 กันแน่ เพราะเป็นใครก็คงสังเกตยาก เพราะอาการก็ใกล้เคียงกัน

 

 

 

สาเหตุการติดเชื้อโควิด-19 และโรคไข้เลือดออก


โรคไข้เลือดออก : เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 ) มียุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค เชื้อไวรัสเดงกีมีระยะฟักตัวในยุงประมาณ 8-12 วัน เมื่อยุงตัวนี้ไปกัดคนอื่นอีกก็จะปล่อยเชื้อไวรัสไปยังผู้ที่ถูกกัด เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายคนและผ่านระยะฟักตัวนาน 5-8 วัน หรือสั้นที่สุด 3 วัน ยาวนานที่สุด 15 วัน ก็จะทำให้เกิดอาการของโรคได้

 

 

โควิด-19 : สามารถแพร่จากคนสู่คนผ่านทางละอองน้ำมูก น้ำลายจากจมูกหรือปากซึ่งออกมาเมื่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 ไอ จามหรือพูด ละอองเหล่านี้ค่อนข้างหนัก ไปไม่ได้ไกล และจะตกลงสู่พื้นอย่างรวดเร็ว

 

 

 

อาการของโควิด-19 และโรคไข้เลือดออก


โรคไข้เลือดออก : ไข้มักสูงลอยนานประมาณ 2-7วัน (อุณหภูมิมากกว่า38.5 oc) หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องโดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา บางรายอาจมีถ่ายดำหรือถ่ายเป็นเลือดถ้ารุนแรง อาจเห็นจุดเลือดออกสีแดงเล็กๆ ตามผิวหนัง มักไม่พบอาการไอน้ำมูก หายใจลำบากหรือปอดอักเสบ อาการป่วยไข้เลือดออกครั้งแรกจะไม่ค่อยรุนแรงมาก แต่หากเป็นครั้งที่ 2 จะเกิดความรุนแรงมากขึ้น ทำให้เลือดออก และช็อกได้

 

 

โควิด-19 : อาการทั่วไปของโรคโควิด 19 พี่พบมากที่สุดคือ ไข้ ไอ ลิ้นไม่รับรส จมูกไม่ได้กลิ่น และอ่อนเพลีย อาการที่พบน้อยกว่าแต่อาจมีผลต่อผู้ป่วยบางรายคือ ปวดเมื่อย ปวดหัว คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ ท้องเสีย ตาแดง หรือผื่นตามผิวหนัง หรือสีผิวเปลี่ยนตามนิ้วมือนิ้วเท้า อาการเหล่านี้มักจะไม่รุนแรงนักและค่อยๆเริ่มทีละน้อย บางรายติดเชื้อแต่มีอาการไม่รุนแรง 

 

 


วิธีการตรวจโควิด-19 และโรคไข้เลือดออก


โรคไข้เลือดออก : จะมีการตรวจเพิ่ม เช่น ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) เพื่อหาความผิดปกติเม็ดเลือดขาว ความเข้มข้นเลือดและจำนวนเกล็ดเลือด นอกจากนี้ยังมีการตรวจหาไวรัสเดงกี่ด้วยวิธี PCR, การตรวจหา NS1 แอนติเจนของไวรัสซึ่งควรตรวจ ในช่วงวันแรกๆของไข้ การตรวจดูภูมิคุ้มกัน(แอนตีบอดีย์)ต่อเชื้อไวรัสเดงกี่ มักจะขึ้นหลังมีไข้ 4-5 วัน ปัจจุบันมีRapid test ซึ่ง อ่านผลเร็วใน 10-15 นาที

 

 

โควิด-19 : วิธีการตรวจโควิด มี 2 แบบ คือ
1.วิธีการเจาะเลือด เพื่อตรวจค้นหาภูมิคุ้มกันในร่างกาย ที่เรียกกันว่า “แอนติบอดี้” หรือ IgG และ IgM Covid-19 เพื่อรู้ผลการพบเชื้อโควิด-19 เบื้องต้น เมื่อต้องการยืนยันผล ต้องตรวจด้วยวิธี RT-PCR ต่อไป


2. ตรวจด้วยวิธี Real-time RT PCR เพื่อตรวจยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 โดยเก็บตัวอย่างด้วยวิธีแยงจมูกด้วยสำลีพันไม้ (SWAB) นักวิจัยจะเก็บตัวอย่างจากเสมหะมาตรวจสอบด้วยวิธีเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมของไวรัส จึงเป็นวิธีที่เราสามารถยืนยันผลการพบไวรัสได้โดยตรง

 

 


การรักษาโควิด-19 และโรคไข้เลือดออก


โรคไข้เลือดออก : ในปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี่ จึงให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ คือ 


1.เช็ดตัวลดไข้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการชัก 


2.ให้ยาลดไข้จำพวกพาราเซตามอล “ห้ามใช้ยาจำพวกแอสไพริน” เพราะจะทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารและทำให้เลือดออกง่าย


3.ให้ผู้ป่วยได้รับสารน้ำชดเชย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีไข้สูง เบื่ออาหาร อาเจียนและอ่อนเพลีย ควรให้ดื่มน้ำผลไม้ น้ำเกลือแร่ โดยดื่มทีละน้อยๆ แต่ดื่มบ่อยๆ


4.ควรให้รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย


5.เมื่อสงสัยว่าคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก โดยมีไข้สูงลอย เกิน 38.5 องศาเซลเซียส นานเกิน 2 วัน หรือหน้าแดง คอแดง ปวดศีรษะ หรือปวดกระบอกตา ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว จะช่วยให้ลดโอกาสการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกได้

 

 

โควิด-19 : ผู้ป่วยโควิด-19 จะรักษาตามอาการ หากกลุ่มผู้ป่วยสามารถหายได้เอง จะรักษาและแยกตัวจนครบ 14 วันหลังจากวันเริ่มมีอาการ แต่กลุ่มที่มีโรคประจำตัว หรืออาการรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ จะได้รับยาต้านไวรัสเป็นระยะเวลา 5-10 วัน แยกตัวจนครบ 14 วัน และไม่มีอาการแล้ว 1-2 วัน ปัจจุบันยังไม่มียาป้องกันหรือรักษาโควิด 19 โดยเฉพาะ องค์การอนามัยโลกไม่แนะนำให้ทานยาเองซึ่งรวมถึงยาปฏิชีวนะต่างๆไม่ว่าจะกินเพื่อป้องกันหรือเพื่อรักษา สิ่งที่ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 

ทำความเข้าใจ เส้นทางการรักษาโควิด-19

 

 


จะป้องกันโควิด-19 และโรคไข้เลือดออกได้อย่างไร ?

 

โรคไข้เลือดออก :  แนวทางป้องกันโรคไข้เลือดออก มีดังนี้


1.ป้องกันยุงกัด  โดยเฉพาะเวลากลางวัน  โดยใส่เสื้อแขนยาว,  กางเกงขายาวเมื่อออกนอกบ้าน,  เมื่ออยู่ในบ้าน  ให้อยู่ในห้องมุ้งลวด  หรือห้องปรับอากาศ  อาจจะใช้ยาทากันยุงทาตัวร่วมด้วยได้


2.พยายามขจัดภาชนะ  หรือแหล่งน้ำขัง  เช่น  สวนน้ำ  ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง


3.ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก

 

 

โควิด-19 : แนวทางป้องกันโรคโควิด-19  มีดังนี้


1.ล้างมือบ่อยๆ และเลี่ยงการเอามือมาสัมผัสตา จมูกและปาก 


2.ปิดปากและจมูกด้วยกระดาษทิชชูหรือข้อศอกเมื่อไอหรือจาม ทิ้งกระดาษทิชชูทันทีและล้างมือให้สะอาด


3.รักษาระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตรจากผู้อื่น


4.สวมหน้ากากเมื่อไม่สามารถรักษาระยะห่างได้


5.หากมีอาการไข้ และ/หรือไอร่วมกับอาการหายใจลำบาก/ติดขัด ควรปรึกษาแพทย์ทันที

 

 


ข้อมูลจาก WHO , โรงพยาบาลนครธน , โรงพยาบาลเปาโล

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง