รีเซต

เมื่อแต่งงาน ต้องเปลี่ยนสกุล : กฎหมายร้อยปีของญี่ปุ่นที่คนในปัจจุบันอยากแก้ไข

เมื่อแต่งงาน ต้องเปลี่ยนสกุล : กฎหมายร้อยปีของญี่ปุ่นที่คนในปัจจุบันอยากแก้ไข
TNN ช่อง16
7 พฤษภาคม 2568 ( 16:29 )
17

ประเทศเดียวในโลก ที่สามีภรรยาต้องใช้นามสกุลเดียวกัน แต่หากไม่เปลี่ยนกฎหมาย อีก 500 ปี คนญี่ปุ่นจะสกุล 'ซาโตะ' ทั้งประเทศ? 

การแต่งงานเป็นเรื่องของคนสองคนที่กลายเป็นครอบครัวเดียวกัน แต่สำหรับประเทศญี่ปุ่น การเป็นครอบครัวเดียวกันนั้น หมายความว่า ทั้งสามีและภรรยาต้องใช้นามสกุลเดียวกันอยู่ โดยถือเป็นประเทศเดียวในโลกที่ภรรยาต้องเปลี่ยนนามสกุลไปเป็นของสามี และเป็นเรื่องผิดกฎหมายหากไม่ทำเช่นนั้น 

แต่ล่าสุด พรรคการเมืองญี่ปุ่นก็ได้มีการเสนอให้เปลี่ยนกฎหมายนี้ รวมถึงภาคประชาชนเองก็เรียกร้องการเปลี่ยนแปลง ไปถึงคู่แต่งงานที่ไม่ยอมจดทะเบียนสมรสเองก็มากขึ้น เพราะไม่ต้องการเปลี่ยนนามสกุล จนทำให้ภายในญี่ปุ่นเองมองว่า ถึงเวลาแล้วที่ควรจะต้องเปลี่ยนกฎหมายที่ล้าหลังนี้ แต่มันจะทำได้จริงๆ หรือไม่ ?


กฎหมายที่อายุมากกว่า 100 ปี ที่บังคับให้คู่สมรสต้องใช้นามสกุลเดียวกัน

กฎหมายที่บังคับให้คู่สมรสต้องใช้นามสกุลเดียวกันนั้น มีขึ้นตั้งแต่ปี 1898 ในยุคเมจิของญี่ปุ่นนั้น เดิมมีพื้นฐานมาจากกฎหมายของยุโรปซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว ก่อนที่ในช่วงปี 1947 ประมวลกฎหมายญี่ปุ่นจะได้รับการแก้ไข โดยลบข้อกำหนดที่สามารถเลือกนามสกุลของผู้ชายได้เท่านั้น 

แต่ถึงแม้ว่าจะเลือกนามสกุลของฝ่ายใดก็ได้ แต่คู่สมรสญี่ปุ่นส่วนใหญ่ มากกว่า 95% ก็ยัง เลือกใช้นามสกุลของสามี ซึ่งหมายความว่าโดยทั่วไปแล้ว ภรรยาจะเปลี่ยนผู้เปลี่ยนนามสกุล 

มีการมองว่ากฎหมายนี้ เกิดจากการสร้างธรรมเนียมทางสังคม และบรรทัดฐานทางเพศ ซึ่งในสมัยนั้นถูกมองว่าจะสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบครอบครัว แต่ถึงอย่างนั้น ในปัจจุบัน มีการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายนี้มากขึ้น โดยอ้างถึงผลกระทบที่ผู้หญิงได้รับ จากการต้องเปลี่ยนนามสกุลว่า เป็นเรื่องซับซ้อนที่ต้องคอยเปลี่ยนชื่อทุกอย่างตั้งแต่หนังสือเดินทาง ไปจนถึงบัญชีธนาคาร ทั้งยังกระทบกับหน้าที่การงานของผู้หญิงที่มีอาชีพมั่นคง

วากา โคโนฮานะ นักข่าวอิสระจากโตเกียวเล่าถึงปัญหานี้ว่า เธอได้ตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทต่างๆ เกิดข้อผิดพลาด และต้องเสียเงินกับเรื่องนี้เป็นประจำ "ตัวอย่างเช่น ฝั่ง HR จองเที่ยวบินต่างประเทศสําหรับพนักงานหญิงที่ใช้นามสกุลเดิมของเธอในที่ทํางาน แต่หนังสือเดินทางกลับมีนามสกุลใหม่หลังจากแต่งงานแล้วอยู่ ดังนั้นเธอจึงมักจะถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองหยุด, ไม่สามารถพักที่โรงแรม หรือไม่สามารถใช้หนังสือเดินทางเป็นบัตรประจําตัวในการเดินทางเพื่อธุรกิจได้" เธอระบุ 

และหากคู่รักตัดสินใจไม่จดทะเบียนสมรส เพื่อรักษาชื่อ หรือนามสกุลเดิม ก็อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิมากมาย รวมถึงสิทธิที่เกี่ยวข้องกับเด็ก มรดก และภาษีด้วย 

ทั้งล่าสุดเอง การสำรวจยังพบว่า เกือบ 30% ขอคู่แต่งงานโดยพฤตินัยในญี่ปุ่นไม่ได้ยื่นขอจดทะเบียนสมรส เพราะไม่ต้องการเปลี่ยนนามสกุล ซึ่งในจำนวนนี้ มากกว่าครึ่งชี้ว่า ยินดีจะยื่นจดทะเบียนสมรสหากกฎหมาย การแยกใช้นามสกุลผ่าน และจำนวนหลายแสนคนที่รอการเปลี่ยนกฎหมายเกิดขึ้นก่อน จึงจะยื่นจดทะเบียนด้วย 



ความพยายามแก้กฎหมาย เพื่อปฏิรูปญี่ปุ่นที่มีมากว่า 30 ปี

การเรียกร้องให้คู่สามีภรรยาแยกใช้นามสกุลได้เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า มันเป็นเรื่องของความเท่าเทียมกันสําหรับพลเมืองทุกคน ขณะที่ด้านกลุ่มธุรกิจก็วิจารณ์ว่ากฎหมายนี้เป็นภาระ และไม่มีประสิทธิภาพในปัจจุบัน

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยังมีคู่รักถึง 6 คู่ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อสิทธิในการใช้นามสกุลที่แตกต่างกันหลังแต่งงาน โดยแย้งว่า ระบบปัจจุบันขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ถึงแม้ว่ากระบวนการการฟ้องร้องจะยาวนาน และยังไม่รู้ผล แต่ก็แสดงให้เห็นทิศทางความต้องการของคนในปัจจุบัน 

ล่าสุดนักร้องชื่อดังของญี่ปุ่น ‘อุทาดะ ฮิคารุ’ ก็ปล่อยเพลงใหม่ออกมาในชื่อ ‘Mine or Yours’ ซึ่งแม้ว่าเพลงจะเกี่ยวกับความรัก แต่ก็มีท่อนที่เนื้อเพลงพูดถึงเรื่องนี้ว่า “ฉันสงสัยว่าปีไหนของยุคเรวะ [ยุคจักรวรรดิปัจจุบัน] การใช้นามสกุลแยกของคู่สมรสจะเป็นเรื่องโอเคในประเทศนี้ ?”「令和何年になったらこの国で 夫婦別姓OKされるんだろう」ซึ่งมีการมองว่าเป็นเรื่องแปลก และไม่บ่อยนักที่จะเห็นคนดังในญี่ปุ่นแสดงจุดยืนทางการเมือง ในประเด็นที่มีความขัดแย้งกันอยู่

นอกจากกระแสทางสังคมแล้ว พรรคการเมืองของญี่ปุ่นก็ได้ขยับในประเด็นนี้เช่นกัน โดยเมื่อปลายเดือนเมษายน พรรคประชาธิปไตยแห่งรัฐธรรมนูญ  (CDP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดในรัฐสภา ได้ยื่นร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้คู่สมรสสามารถแยกใช้นามสกุลได้ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกก่อนจะมีการอภิปรายยาวนานในช่วงอีกสองเดือนข้างหน้า 

โดยรักษาการผู้นำพรรค คิโยมิ สึจิโมโต ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการผลักดันนี้ว่า “นี่เป็นหนึ่งในการปฏิรูปที่ญี่ปุ่นไม่ได้ดําเนินการมาเป็นเวลา 30 ปี” และ “หากไม่มีการแยกนามสกุลของคู่สมรส ประเทศนี้จะไม่เห็นความก้าวหน้า”

ในขณะที่สามี ภรรยา สามารถเลือกนามสกุลเดิมได้ แต่สำหรับบุตร ร่างกฎหมายในครั้งนี้ ระบุว่าคู่แต่งงานต้องตัดสินใจถึงนามสกุลที่บุตรจะใช้ตั้งแต่แต่งงาน ซึ่งนอกจากพรรค CDP พรรคนวัตกรรมญี่ปุ่น (Japan Innovation Party) ก็ได้ กำหนดข้อเสนอร่างกฎหมายของพรรคเช่นกัน 

ขณะที่ด้าน พรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ยังไม่ได้แสดงจุดยืนเป็นทางการในเรื่องนี้ ซึ่งในพรรค มีทั้งคนที่สนับสนุนให้มีการปฏิรูปทบทวนกฎหมาย และผู้ที่สนับสนุนการรักษากรอบกฎหมายปัจจุบัน ซึ่งคัดค้านว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวโดยอ้างว่าจะทำลายโครงสร้างครอบครัวชาวญี่ปุ่น และทำให้เกิดความสับสนในหมู่เด็กๆ ได้ด้วย

แม้กฎหมายนี้จะมีบังคับใช้มาร้อยกว่าปีแล้ว ข้อเสนอในการพยายามแก้ไขก็มีมานานถึงเกือบ 30 ปีแล้วเช่นกัน โดยข้อเสนอนี้เคยถูกส่งไปยังคณะกรรมการที่ปรึกษาไปยังกระทรวงยุติธรรมในปี 1996 เพื่อให้ผู้ที่แต่งงานแล้วรักษานามสกุลเดิมไว้ได้หลังแต่งงานแล้ว  

 หากบังคับคู่สมรสใช้นามสกุลเดียวกัน อีก 500 ปี ทุกคนในญี่ปุ่นจะกลายเป็นคุณซาโตะ ?

กฎหมายนี้ นอกจากจะบังคับให้คู่แต่งงานคนใดคนหนึ่ง ต้องเปลี่ยนนามสกุลแล้ว ยังมีการศึกษาที่ชี้ว่า ภายในปี ค.ศ. 2531 หรืออีกประมาณ 500 ปีข้างหน้า หากกฎหมายยังบังคับใช้อยู่ นามสกุลของชาวญี่ปุ่นทุกคนจะกลายเป็น ‘ซาโตะ’

การศึกษานี้นำโดยฮิโรชิ โยชิดะ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโทโฮคุ ซึ่งเขาชี้ว่า การคาดการณ์ของเขาขึ้นอยู่กับสมมติฐานหลายประการ แต่แนวคิดนี้คือการใช้ตัวเลขเพื่ออธิบายผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นของระบบปัจจุบันต่อสังคมญี่ปุ่น เพื่อดึงความสนใจไปที่ปัญหานี้ “ถ้าทุกคนกลายเป็นซาโตะ เราอาจต้องเรียกด้วยชื่อหรือตัวเลขของเรา” อ.โยชิดะกล่าว ซึ่งเขาคิดว่า มันไม่เป็นสังคมที่ดีที่จะอยู่ 

การคํานวณของโยชิดะแสดงให้เห็นว่าภายใต้ระบบปัจจุบันที่สามีหรือภรรยาเปลี่ยนนามสกุลเดียวกัน สัดส่วนของประชากรญี่ปุ่นที่มีนามสกุลซาโตะเพิ่มขึ้น 1.0083 เท่าจากปี 2022 ถึง 2023 และหากนาย และนางซาโตะเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรจะมีนามสกุลซาโตะภายในปี 2446 และจะกลายเป็นนามสกุลของทุกคนภายในปี 2531

โดยตอนนี้ ซาโตะถือเป็นนามสกุลอันดับต้นๆ ของนามสกุลญี่ปุ่นแล้ว โดยคิดเป็น 1.5% ของประชากรทั้งหมด ตามการสํารวจในเดือนมีนาคม 2023 โดยมีนามสกุลซูซูกิเป็นอันดับสอง

มากิโกะ เทระฮารา หัวหน้าทนายความที่ทำคดีฟ้องร้องเพื่อใช้นามสกุลแยกกันของคู่สมรสเองก็มองว่า การวิจัยนี้จะช่วยแสดงให้เห็นความไม่สมเหตุสมผล ของระบบกฎหมายในปัจจุบันได้ แต่ประเด็นหลักคือ "สิทธิมนุษยชนในด้านชื่อ เสรีภาพในการสมรส และความเท่าเทียมกันกำลังถูกละเมิด" เธอกล่าว

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง