รีเซต

รวมมาตรการ ทวงหนี้ผิดกฎหมาย อย่าหาทำ! สะท้อนคนไทยแบก "หนี้ครัวเรือน" ไม่จบสิ้น

รวมมาตรการ ทวงหนี้ผิดกฎหมาย อย่าหาทำ! สะท้อนคนไทยแบก "หนี้ครัวเรือน" ไม่จบสิ้น
TeaC
1 มิถุนายน 2564 ( 17:40 )
675
รวมมาตรการ ทวงหนี้ผิดกฎหมาย อย่าหาทำ! สะท้อนคนไทยแบก "หนี้ครัวเรือน" ไม่จบสิ้น

 

ทวงหนี้ วันนี้ไม่มีเงินส่งให้เจอดีแน่!!!

เก็บของมันออกมาให้หมด ขนมาให้หมด!!!

ลูกหนี้ทั้งหลายตอนยืมพูดจาดี ตอนนี้จะคืนเงียบเลยนะ__ง

 

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้เห็นรูปแบบวิธีการ "ทวงหนี้นอกระบบ"  ตั้งแต่อดีตที่ตามทวงถึงบ้าน ยึดข้าวยึดของที่มีของลูกหนี้ หากลูกหนี้ไม่มีเงินต้น หรือเงินดอกส่งให้ บ้างก็เห็นเจ้าหนี้ขาโหดใช้กำลังยกพรรคยกพวกทำร้ายร่างกาย จิตใจ ทำลายทรัพย์สินของลูกหนี้จนเป็นข่าวให้เห็นบ่อย ๆ เป็นการกระทำที่มักจบด้วย "ความรุนแรง" เสมอ

 

และมาถึงในยุคดิจิทัล ยุคที่สื่อออนไลน์เฟื่องฟูชนิดที่การทวงหนี้มีให้เห็นบ่อยไม่แพ้กัน ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่างสาดเสีย เสียดสีด้วยคำพูดคำจาที่กลายเป็นชนวนเหตุให้กระพือ "ความรุนแรง" ให้อารมณ์ยิ่งทวีคูณเพิ่มขึ้นไปอีกบนสังคมออนไลน์ไปสู่การทวงหนี้ถึงที่และสุดท้ายก็ต้องจบด้วย "ความรุนแรง" วนเวียนซ้ำซากไม่จบไม่สิ้น

 

กระทั่งมีการออกกฎหมายที่อาจเป็นไปได้ว่าต้องการแก้ปัญหาการ "ทวงหนี้โหด" "แก๊งเงินกู้นอกระบบ" คิดอัตราดอกเบี้ยสูงเกินกฎหมายกำหนด หนำซ้ำสร้างความอับอายให้ลูกหนี้ ไปจนถึงขั้นยาแรงคือ การใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้ สิ่งเหล่านี้ล้วนผิดกฎหมายทั้งสิ้น กลายเป็นเรื่องเป็นราวถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล หรือออกรายการดังต่าง ๆ เช่น ทางช่อง 3 รายการโหนกระแสก็มีการนำเสนอปัญหาระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ด้วยเช่นกัน

 

ซึ่งแม้ว่าตัวบทกฎหมายที่ออกมานั้น จะมีข้อดีแต่ก็มีช่องโหว่ให้คนที่เป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้แทนที่จะไกล่เกลี่ยอย่างมีเหตุมีผล กลับกันเหมือนนั่งดู "คนหัวร้อน" ทะเลาะเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ โดยจากการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับบทกฎหมายการทวงหนี้ที่คนเป็น "เจ้าหนี้" ต้องรู้ไว้  เพราะทวงหนี้โหดเมื่อไหร่ชีวิตเปลี่ยนได้เมื่อนั้น เนื่องจากมีพระราชบัญญัติทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 กำกับเอาไว้ 

 

ตามมาตรา 11 ห้ามกระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งมีถึง 6 ลักษณะ ที่สำคัญและพบบ่อย เช่น

 

  • การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทําอื่นใดที่ทําให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น
  • การใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น
    การแจ้งหรือเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้
  • การติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน

 

ในมาตรา 12 ยังห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทําการทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จ หรือทําให้เกิดความเข้าใจผิด เช่น

 

  • การแสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทําให้เข้าใจว่าเป็นการกระทําของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ
  • การแสดงหรือมีข้อความที่ทําให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้เป็นการกระทําโดยทนายความ สํานักงานทนายความ หรือสํานักงานกฎหมาย
  • การแสดงหรือมีข้อความที่ทําให้เชื่อว่าจะถูกดําเนินคดีหรือจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน

 

ผู้ที่กระทำในลักษณะที่กฎหมายห้าม ถือว่ามีความผิด และมีโทษจำคุก เช่น ทวงหนี้โดยใช้ความรุนแรง ข่มขู่ ทำร้าย หรือปลอมเป็นตำรวจไปทวงหนี้ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท เป็นต้น

 

จะเห็นได้ว่า กฎหมายจะเขียนเอาไว้ชัดเจนให้เจ้าหนี้ที่ชอบใช้วิธีทวงหนี้ผิดกฎหมาย อย่าหาทำ! เพราะบทลงโทษไม่คุ้ม ส่วน "ลูกหนี้" ก็อย่าตกเป็นเหยื่อของหนี้นอกระบบ และเห็นมาปรับพฤติกรรมการใช้เงิน จะได้ไม่ตกเป็นข่าวใหญ่ถูกทวงหนี้ทั้งบนสังคมออนไลน์และถึงที่

 

ทวงหนี้โหด สะท้อนคนไทยแบก "หนี้ครัวเรือน" ไม่จบสิ้น

 

หากวิเคราะห์การมี "หนี้" ของคนไทย พบว่า ประชาชนไทยยังแบกหนี้ครัวเรือนไม่จบไม่สิ้น!! ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า "ปัญหาหนี้ครัวเรือน" ยังเป็นประเด็นที่น่าจับตามอง เพราะการเพิ่มขึ้นของปัญหาหนี้ครัวเรือนเชื่อมโยงถึงการเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบ้าน สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ฯลฯ

 


ขณะที่ การเกิดภาระหนี้มีสาเหตุจากหลายปัจจัย เช่น การเข้าถึงบริการทางการเงินที่ดีขึ้น รวดเร็วขึ้น ภาครัฐผลักดันมาตรการเข้มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เหตุภัยพิบัติ รวมทั้งการใช้จ่ายด้านการศึกษา และสิ่งสำคัญที่เป็นต้นเหตุของการสร้างหนี้เลยก็ว่าได้ นั่นคือ พฤติกรรมการใช้จ่ายของครัวเรือนเองที่ขาดวินัยทางการเงิน

 


โดยข้อมูลที่น่าสนใจจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นนอกเหนือจากหนี้บ้านและหนี้รถที่ผูกพันหลายปี นั่นคือ ในช่วงเปิดภาคเรียนแรก ปี 2562 ผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีการใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลาน (ระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 28,220 ล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังระบุข้อมูลได้น่าสนใจอย่างมากว่า ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการออกแบบหรือกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อกำกับดูแลและควบคุมการปล่อยสินเชื่อของผู้ปล่อยกู้ให้มีความรัดกุม เหมาะสม และเป็นธรรมอย่างทั่วถึง

 


ยกตัวอย่าง การพิจารณาและออกแบบมาตรการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ให้กับกลุ่มที่มีภาระหนี้สูง หรือการออกมาตรการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ เนื่องจากคุณภาพของสินเชื่อรถยนต์ที่มีแนวโน้มลดลง และควรติดตามการดำเนินมาตรการกำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ควรเน้นให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมและเป็นธรรม เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม ยิ่งในสถานการณ์ที่โรคระบาดโควิดทวีความรุนแรงฉุดเศรษฐกิจทั้งประเทศ ฉุดคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาจเป็นไปได้ที่มีตัวเลือกของ "ทางออก" หรือการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงน้อย การขาดความรู้ในการบริหารจัดการเงินที่ตรงจุดจริง ๆ และปัญหา "หนี้ครัวเรือน" ที่ต้องร่วมด้วยช่วยกันแก้ทั้งภาคประชาชนเอง ภาครัฐ ภาคเอกชน ให้เข้าถึงระบบที่ถูกต้องมีจริยธรรมจริง ๆ เพื่อให้ประชาชนปลอดหนี้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี มากกว่าจมกับปัญหาหนี้ซ้ำซากไม่สิ้นสุด 

 

 

เพราะการไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ

และการฝึกวินัยทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง