รีเซต

อังกฤษทำหุ่นยนต์ RCV สำหรับแหก แหวกสิ่งกีดขวาง ในงานกองช่างของกองทัพ

อังกฤษทำหุ่นยนต์ RCV สำหรับแหก แหวกสิ่งกีดขวาง ในงานกองช่างของกองทัพ
TNN ช่อง16
15 กุมภาพันธ์ 2567 ( 11:43 )
69

ยานพาหนะหุ่นยนต์ภาคสนาม (RCV) เป็นหุ่นยนต์ที่ใช้ในการปฏิบัติภารกิจสนับสนุนของกองทัพและหน่วยงานความมั่นคง เช่น หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด แต่การใช้งานยังมีข้อจำกัดทั้งในแง่ต้นทุนและความครอบคลุมภารกิจ ด้วยเหตุนี้ กระทรวงกลาโหมของสหราชณาจักร (UK Ministry of Defense) จึงได้ลงนามในโครงการพัฒนาหุ่นยนต์ RCV แบบใหม่ขึ้นมา


ข้อมูลทางเทคนิคของ RCV-Pioneer

หุ่นยนต์ดังกล่าวมีชื่อว่า อาร์ซีวี ไพโอเนียร์ (RCV-Pioneer) พัฒนาโดยบริษัทเพียร์สัน เอ็นจิเนียร์ริง (Pearson Engineering) บริษัทในเครือของ ราฟาเอล แอดวานซ์ ดีเฟนส์ ซิสเท็มส์ (Rafael Advanced Defense Systems) บริษัทเทคโนโลยีทางการทหารชื่อดังของอิสราเอล 


ตัวหุ่นยนต์ ประกอบไปด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนฐานที่เป็นหุ่นยนต์ตีนตะขาบ ซึ่งเป็นส่วนที่ Pearson Engineering ไม่ได้สร้างขึ้นมาเอง และส่วนอุปกรณ์ที่สามารถติดตั้งเข้ากับฐานหุ่นยนต์ได้ เรียกว่า โมดูลาร์ มิชชัน แพ็ก (Modular Mission Pack) ที่มีอุปกรณ์ต่าง ๆ ในรูปแบบของแพลตฟอร์มที่รองรับการติดตั้งเข้ากับฐานจากผู้พัฒนารายอื่น ๆ ได้


ทั้งนี้ RCV-Pioneer ส่วนที่เป็น Modular Mission Pack รองรับการควบคุมด้วยระบบที่เรียกว่าโอซียู (OCU: Operator Control Unit) ผ่านรีโมตแบบจอยสติ๊ก (Joystick) พร้อมหน้าจอสัมผัสที่สามารถดูข้อมูลต่าง ๆ รอบตัว RCV-Pioneer และดูภาพจากกล้องที่ติดบนตัวหุ่นยนต์ได้ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถสั่งการได้อย่างละเอียดและแม่นยำ


RCV-Pioneer เสริมทัพงานช่างกองทัพอังกฤษ

จุดเด่นของ RCV-Pioneer คือ ความสามารถในการแยกส่วนอุปกรณ์ทำงานกับฐานขับเคลื่อนออกจากกัน ซึ่งการเปลี่ยนตัวอุปกรณ์จะใช้เวลาเพียง 30 นาที ตามภารกิจที่ต้องการใช้งาน โดยอุปกรณ์ที่รองรับมีหลากหลายรูปแบบ เช่น ชุดดันดินหรือโดเซอร์ (Dozer), ชุดขุดหน้าดิน (Excavator) รวมไปถึงแขนกลขุดเจาะ 


ในขณะที่สัญญาจ้างกับกองทัพอังกฤษได้ว่าจ้างเพื่อต่อยอดอุปกรณ์เหล่านี้เป็นระบบการทำงานที่ซับซ้อนมากขึ้น ได้แก่ ระบบทำลายสิ่งกีดขวาง ซึ่งผสานการทำงานที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการชน บดอัด หรือลากสิ่งกีดขวางออกไป ตลอดจนชุดทำลายทุ่นระเบิด (Minefield breaching) ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามภารกิจหน้างาน แต่ไม่ได้เปิดเผยแรงขับเคลื่อนหรือข้อมูลทางเทคนิคอื่น ๆ เพิ่มเติมแก่สาธารณะแต่อย่างใด


เป้าหมายของกองทัพคือการลดความเสี่ยงและลดกำลังพลในการปฏิบัติงาน เพราะการติดตั้งและควบคุมการทำงานของ RCV-Pioneer จะใช้เจ้าหน้าที่เพียง 2 นาย เท่านั้น โดยข้อมูลรายละเอียดสัญญาจ้างทั้งงบประมาณและจำนวน ยังไม่ได้รับการเปิดเผยแต่อย่างใดในตอนนี้




ข้อมูลจาก Defence-blog

ภาพจาก Pearson Engineering



ข่าวที่เกี่ยวข้อง